ดร.สันติธาร เผย 4 เมกะเทรนด์เขย่าโลกปี 2025 คนไทยปรับตัวยังไงดี?

ดร.สันติธาร เสถียรไทย เผย 4 เทรนด์ใหญ่ที่เข้ามาเขย่าทุกวงการธุรกิจ โดยเฉพาะในโลกการทำงาน AI จะเข้ามามีบทบาทเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่วัยทำงานต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสม
KEY
POINTS
- ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง เผย 4 คลื่นยักษ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในงาน Future Trends Ahead Summit 2025
- ที่น่าสนใจคือ การเข้ามาของ AI ที่กำลังเข้ามาเขย่าโลกการทำงานให้พลิกโฉมไปรวดเร็วกว่าเดิม เพราะล่าสุดโมเดล GEN AI ใหม่จากจีนทำได้ในราคาถูกลงมาก สะท้อนว่าต่อไปผู้คนจะเข้าถถึงได้ง่ายขึ้น
- ในยุคนี้การใช้ AI ช่วยงานไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จุดสำคัญคือ ต้อง Redesign วิธีการทำงานใหม่หมด ต้องรู้ว่างานไหนควรเป็นมนุษย์ทำ งานไหนให้ AI ทำ และระวังการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)
ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้าใจทิศทางและแนวโน้มของโลกธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และนักเขียนชื่อดัง ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจในงาน Future Trends Ahead Summit 2025 โดยชี้ให้เห็นถึง 4 คลื่นยักษ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ หนึ่งในเทรนด์สำคัญต่อวัยทำงานทุกคนก็คือ การเข้ามาของ AI ที่เขย่าโลกการทำงานให้พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ
แรกสุด ดร.สันติธาร ได้ตั้งคำถามว่า ตอนนี้เรากำลงเล่นเกมผิดที่ผิดเวลาหรือเปล่า? เนื่องจากในโลกที่กฎกติกากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเป็นผู้ชนะในเกมที่ผิดก็อาจกลายเป็นผู้แพ้ได้ในที่สุด หลายธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตอาจพบว่าตนเองกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ทั้งนี้มีปัจจัยจาก 4 เมกะเทรนด์ใหญ่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจและโลกการทำงาน ซึ่งไม่ใช่เพียงกระแสชั่วคราว แต่เป็นแนวโน้มที่กำลังกำหนดทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก หากองค์กร ผู้ประกอบการธุรกิจ และเหล่าวัยทำงานไม่ยอมปรับตัวให้ทัน พวกเขาอาจกลายเป็นผู้แพ้ในที่สุด
คลื่นลูกที่ 1: AI จะเข้าถึงง่ายขึ้น ราคาถูกลง พลิกโฉมตลาดแรงงาน
ปัจจุบัน AI โดยเฉพาะ Generative AI (Gen AI) กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ChatGPT ที่มีผู้ใช้งาน 100 ล้านคนภายใน 2 เดือน ซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของ Facebook ในอดีตที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ล่าสุด AI จากจีนอย่าง DeepSeek ได้เปิดตัวขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า AI กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนถูกลงมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งผลกระทบสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน (Works & Jobs Redesign):
AI สามารถช่วยสร้างเนื้อหาขั้นต้น นักเขียนอาจเปลี่ยนบทบาทจากผู้เขียนเป็นบรรณาธิการ งานที่ต้องใช้การวิเคราะห์และการตัดสินใจสูงจะต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่ การเรียนรู้แบบดั้งเดิมอาจหายไป หากวัยทำงานพึ่งพา AI มากเกินไป ผู้ใช้งาน AI ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการใช้ AI และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และระวังการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)
"works and jobs จะถูก redesign วิธีการทำงานใหม่ จากการเข้ามาระบบอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นนักเขียน ต้องนั่งคิดไอเดียงานเขียน และร่างเนื้อหาเอง แล้วก็ Edit เอง มันช้ามากครับ ผมก็เลยเปลี่ยนวิธีทำงานใหม่โดยใช้ AI เข้ามาช่วย เริ่มจากคิดงานเอง หาไอเดียเอง แต่ถึงเวลาร่างเนื้อหาก็โยนให้ AI ทำดราฟแรกให้ แล้วเราทําตัวเป็นบรรณาธิการคอยตรวจแทน ซึ่งผมก็นึกว่าวิธีนี้ฉลาดยอดเยี่ยมมาก ตอนแรกภูมิใจมาก
แต่พอทําไปสักพัก ผมค้นพบว่ามันเกิดสิ่งที่เรียกว่า Learning lost เมื่อใช้ AI ร่างเนื้อหาให้ ทำให้ความเข้าใจต่อเรื่องนั้นๆ ของเราหายหมดเลยเราไม่ได้เรียนรู้จากเนื้อหาที่เรากำลังเขียนเลย ผมจึงต้องมาปรับวิธีทำงานใหม่ครับ เป็นวิธีนี้ คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง ผมตั้งเอไอขึ้นมาเป็น RolePlay ผู้ช่วยส่วนตัว โดยให้ช่วยถกเถียงประเด็นนั้นๆ กับผม พอได้ไอเดียแล้วผมก็เขียนออกมาด้วยตัวเอง ร่างเนื้อหาเอง เพื่อให้ตัวเองได้เลิร์นนิ่ง แล้วก็ Edit เช็กทบทวนเนื้อหาโดยรวมเอง พอเสร็จแล้วพบว่า วิธีนี้เวิร์คกว่ามากนะครับ
ตรงนี้อยากจะแชร์ให้เห็นว่า สําหรับทุกคนที่ทํางานในพาร์ทหลังบ้าน มันไม่ใช่สักแต่ว่าเอา AI มาใช้ แต่มันต้องรีดีไซน์วิธีทำงานใหม่หมดเลย เราต้องรู้ว่าตรงไหนที่ควรมนุษย์คิดงาน ตรงไหนควรใช้ปัญญาของเอไอ และตรงไหนที่ควรจะร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย แล้วมันถึงจะออกมาเป็นวิธีทำงานที่เหมาะสมมากขึ้น" ดร.สันติธาร เล่าประสบการณ์การใช้งาน AI ในวิธีการทำงานใหม่ที่ดีกว่าเดิม
2) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior Shift):
การซื้อสินค้าและบริการจะเปลี่ยนไป เนื่องจาก AI สามารถช่วยแนะนำสินค้าที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ทั้งนี้ ธุรกิจที่สามารถใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและปรับสินค้า/บริการให้ตรงกับความต้องการได้ จะเป็นผู้ได้เปรียบในตลาด
คลื่นลูกที่ 2: สังคมสูงวัยและ Care Economy โอกาสทางธุรกิจที่กำลังเติบโต
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อกำลังแรงงานแล้ว ยังส่งผลต่อการบริโภคและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3% ต่อปี หรืออาจต่ำกว่านั้นเล็กน้อย ส่งผลให้ธุรกิจต้องหาโอกาสเติบโตในมุมใหม่ หนึ่งในโอกาสที่สำคัญคือ Care Economy หรือเศรษฐกิจการดูแลสุขภาพ
Care Economy ไม่ได้หมายถึงแค่การแพทย์หรือการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่รวมถึงการดูแลสุขภาพองค์รวม เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ซูเปอร์ฟู้ดส์ การออกกำลังกาย บริการด้านสุขภาพจิต รวมถึงอุตสาหกรรมความงาม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในตลาดโลก การยืดอายุของประชากรทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการที่ช่วยให้ผู้คนมี Health Span (ช่วงเวลาที่มีสุขภาพดี) ยืนยาวขึ้น
นักธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ จะมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจาก Care Economy เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้เร็วกว่าการเติบโตของ GDP ในประเทศด้วยซ้ำ
อย่างที่บอกไปว่าแม้สังคมสูงวัยจะเป็นความท้าทาย แต่ก็สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้าน Care Economy ซึ่งครอบคลุมหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare), ธุรกิจผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและซูเปอร์ฟู้ดส์, บริการด้าน Wellness และการดูแลสุขภาพจิต, บริการ Personal Beauty Care, ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อย่าลืมว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลาง Global Wellness โดยติดอันดับ Top 10 ของโลกในด้าน Wellness Tourism
คลื่นลูกที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจโลก การผงาดขึ้นของเอเชีย
โลกกำลังเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเอเชียกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก ภายในปี 2050 คาดว่า จีน จะขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา อินเดีย อินโดนีเซีย และเยอรมนี โดย 3 ใน 5 อันดับแรกเป็นประเทศในเอเชีย ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศไทย
การเปลี่ยนขั้วอำนาจเช่นนี้มาพร้อมกับผลกระทบสำคัญ ได้แก่ สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจดำเนินต่อไปไม่ว่าผู้นำสหรัฐฯ จะเป็นใครก็ตาม ถัดมาคือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการค้า ไทย และอาเซียนกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและตลาดใหม่ที่สำคัญ
ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้ามาในไทยเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การลงทุนในด้านเทคโนโลยีและ Data Center
รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน ไทยมีความน่าดึงดูดสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ มีโอกาสในการพัฒนาตลาดสำหรับแรงงานต่างชาติกลุ่ม Expat เพราะมีข้อมูลผลสำรวจหลายชิ้นพบว่า คนต่างชาติมีความต้องการเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในไทยมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และบริการต่างๆ
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ข้างต้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาค หากสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
คลื่นลูกที่ 4: ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติเกิดบ่อยขึ้น คนไทยปรับตัวได้แค่ไหน?
ประเด็นด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย ทุกคนคงเห็นเหมือนกันว่าทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งมากขึ้น รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งเสี่ยงจมน้ำ เช่น กรณีวัดขุนสมุทรจีน ที่ปัจจุบันพบว่าปริมาณน้ำไหล่เข้ามาท่วมสูงขึ้น ภัยพิบัติเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย
แล้วแบบนี้ผู้ประกอบการ องค์กรธุรกิจ และคนทำงานในไทยควรจะทำอย่างไร? สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจ ควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และหาวิธีปรับโมเดลธุรกิจให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ โดยอาจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นสูง
ท้ายที่สุด ดร.สันติธาร สรุปว่าวันนี้ประเทศไทยเรายังมีโอกาสท่ามกลางความท้าทาย เพราะ 4 คลื่นยักษ์แห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ มันถาโถมเข้ามาพร้อมทั้งความเสี่ยงและโอกาส ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และความสามารถในการปรับตัวของแต่ละองค์กรว่าจะตั้งรับแล้วฉวยโอกาสนั้นมาได้หรือไม่ ในปี 2025 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ธุรกิจต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน จะสร้างกำแพงป้องกันตัวเอง หรือจะคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
ความสำเร็จในอนาคตจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเดิมอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองเห็นและปรับตัวเข้ากับเกมใหม่ที่กำลังจะมาถึง ผู้ประกอบการและองค์กรต้องพร้อมที่จะคิดนอกกรอบ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต