กลับบ้าน-วางไข่-เป็น ’ซอมบี้’ การเดินทางครั้งสุดท้ายของ ‘ปลาแซลมอน’

กลับบ้าน-วางไข่-เป็น ’ซอมบี้’  การเดินทางครั้งสุดท้ายของ ‘ปลาแซลมอน’

หลัง “ปลาแซลมอน” วางไข่เสร็จแล้ว หนังของพวกมันจะเปื่อยยุ่ย อวัยวะในร่างกายจะค่อย ๆ หยุดการทำงานลง ตัวเป็นสีดำ เข้าสู่สภาวะ “ซอมบี้” ก่อนจะตายลงภายในไม่กี่วัน และกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศรวมถึงลูกของพวกมันเอง

KEY

POINTS

  • "ปลาแซลมอน" จะใช้สรรพกำลังทั้งหมดในการว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ เมื่อวางไข่สำเร็จ ปลาแซลมอนก็จะตายลงอย่างช้า ๆ ผิวหนังของพวกมันขาดหลุดลุ่ย ค่อย ๆ เน่าเปื่อย อวัยวะภายในจะปิดตัวลงที่ละอย่าง จนร่างกายกลายเป็นสีดำ อยู่ในสภาวะตายทั้งเป็น เหมือนเป็นซอมบี้
  • ในระหว่างการเดินทางอันยาวไกล ปลาแซลมอนจะลดปริมาณการกินอาหารลงให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งยังมีระบบกดภูมิคุ้มกันของตนเองเพื่อประหยัดพลังงาน เมื่อภูมิคุ้มกันลดลงก็จะทำให้แซลมอนเสี่ยงต่อโรค เชื้อรา และแบคทีเรีย แถมยังทำให้อวัยวะภายในของปลาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
  • นักวิจัยพบว่าซากปลาแซลมอนที่เน่าเปื่อยสามารถเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ แมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้มากถึง 137 ชนิด รวมถึงลูก ๆ ของพวกมันเอง

หลัง “ปลาแซลมอน” วางไข่เสร็จแล้ว หนังของพวกมันจะเปื่อยยุ่ย อวัยวะในร่างกายจะค่อย ๆ หยุดการทำงานลง ตัวเป็นสีดำ เข้าสู่สภาวะ “ซอมบี้” ก่อนจะตายลงภายในไม่กี่วัน และกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศรวมถึงลูกของพวกมันเอง

เราต่างเคยได้ยินว่า “ปลาแซลมอน” จะว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อไปวางไข่ซึ่งเป็นสถานที่เดิมที่ตนเองเกิด แต่น้อยคนจะรู้ว่าหลังจากวางไข่แล้ว ปลาแซลมอนจะมีสภาพเป็นเหมือน “ซอมบี้” และตายลงในที่สุด

ปลาแซลมอนแปซิฟิกเกิดจากแหล่งน้ำจืด เช่น ลำธาร แม่น้ำ และทะเลสาบ แล้วจะเดินทางออกไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทั่วบริเวณสหรัฐและแคนาดา และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ เหล่าบรรดาปลาแซลมอนจะกลับไปวางไข่ในสถานที่ที่พวกมันเกิดมา ซึ่งจะกลายเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิตของพวกมัน หลังจากวางไข่แล้วพวกมันจะตายลงอย่างช้า ๆ 

ปลาแซลมอนจะใช้สรรพกำลังทั้งหมดในการว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ เมื่อวางไข่สำเร็จ ปลาแซลมอนก็จะตายลงอย่างช้า ๆ ผิวหนังของพวกมันขาดหลุดลุ่ย ค่อย ๆ เน่าเปื่อยอวัยวะภายในจะปิดตัวลงที่ละอย่าง จนร่างกายกลายเป็นสีดำ อยู่ในสภาวะตายทั้งเป็น เหมือนเป็นซอมบี้ ในที่สุดพวกมันก็จะตายลง

 

“แซลมอน” กลายเป็น “ซอมบี้”

แคทรินา ลีบิช ผู้ประสานงานการประมงขององค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ หรือ UWF ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Newsweek ว่า ในโลกนี้มีปลาหลากหลายชนิดที่ตายหลังวางไข่ แต่มีเพียงปลาแซลมอนเท่านั้นที่เข้าสู่สภาวะซอมบี้ ซึ่งปลาแซลมอน “ทุกตัว” จะต้องมีสภาพเป็นแบบนี้หลังจากวางไข่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับสายพันธุ์นี้

ขณะที่ปลาแซลมอนเดินทางกลับไปวางไข่นั้น พวกมันจะเริ่มเปลี่ยนสี รงควัตถุสีชมพูจากในเนื้อปลาจะเคลื่อนที่สู่ผิวชั้นนอก ซึ่งแตกต่างจากแซลมอนที่พวกเรากินกัน โดยลีบิชให้เหตุผลว่าเนื้อแซลมอนที่เห็นตามร้านอาหารเป็นปลาที่จับได้ในทะเล ดังนั้นมันจึงยังคงมีผิวมันวาว และเม็ดสีก็ไม่เคลื่อนจากเนื้อปลาไปสู่ผิวหนั

ระหว่างการเดินทางหลายร้อยไมล์ท่ามกลางสายน้ำเชี่ยวกราก ปลาแซลมอนจะใช้พลังงานจำนวนมากในการฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อีกทั้งปลาตัวผู้จะใช้สร้างฟันขนาดใหญ่พิเศษเพื่อหาคู่และป้องกันอันตรายให้กับตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียจะใช้ไขมันที่มีทั้งหมดในการผลิตไข่ 

นอกจากนี้ ในระหว่างการเดินทางอันยาวไกล ปลาแซลมอนจะลดปริมาณการกินอาหารลงให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งยังมีระบบกดภูมิคุ้มกันของตนเองเพื่อประหยัดพลังงาน เมื่อภูมิคุ้มกันลดลงก็จะทำให้แซลมอนเสี่ยงต่อโรค เชื้อรา และแบคทีเรีย แถมยังทำให้อวัยวะภายในของปลาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อวางไข่แล้ว ปลาแซลมอนจะหยุดกินและไม่มีแรงที่จะกลับลงสู่มหาสมุทรอีกต่อไป พวกมันทำได้แค่หายใจและว่ายน้ำต่อไปเรื่อย ๆ เนื่องจากอวัยวะภายในเริ่มเสื่อมสภาพ และผิวหนังเริ่มเน่าเปื่อย

“หลังวางไข่เสร็จ ร่างกายของพวกมันจะทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ จนมีเชื้อราขึ้นบนผิวหนัง กลายเป็นซอมบี้อย่างสมบูรณ์” ลีบิชให้ข้อมูลเพิ่ม

รูปแบบการสืบพันธุ์แบบสุดโต่งของแซลมอนนี้ เรียกว่า Semelparity ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่จะออกลูกเพียงครั้งเดียวแล้วก็ตายไปเลย 

“แซลมอนซอมบี้” สร้างประโยชน์ต่อระบบนิเวศ

ปลาซอมบี้จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน มากที่สุดไม่เกิน 2-3 สัปดาห์เท่านั้น แต่การตายของปลาแซลมอนได้สร้างประโยชน์ต่อระบบนิเวศพอ ๆ กับปลาแซลมอนที่มีชีวิต 

นักวิจัยพบว่าซากปลาแซลมอนที่เน่าเปื่อยสามารถเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ แมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้มากถึง 137 ชนิด ขึ้นอยู่กับว่าซากของพวกมันถูกพัดพาไปที่ใด

หมีจะชอบกินปลาแซลมอนอพยพเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโปรตีนและไขมันสูง ทุกฤดูใบไม้ร่วง พวกมันกลับไปยังแม่น้ำเพื่อล่าแซลมอน ตุนพลังงานเก็บเอาไว้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

ถ้าหากซากแซลมอนซอมบี้ถูกซัดขึ้นฝั่งจะกลายเป็นอาหารของพวกแมลง นกต่าง ๆ บางส่วนจมลงสู่ก้นแหล่งน้ำกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ต่าง ๆ หรืออาจถูกพัดพากลับสู่มหาสมุทรเป็นอาหารให้แก่ปลาแซลมอนตัวอื่น ๆ ที่กำลังเดินทางไปวางไข่

นอกจากนี้ซากแซลมอนยังกลายเป็นอาหารให้ลูก ๆ ของพวกมันที่ฟักออกมาอีกด้วย ลูกปลาแซลมอนจำเป็นต้องรับสารอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ปลามีขนาดใหญ่ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น และสามารถกลับมาวางไข่ได้มากยิ่งขึ้น

มนุษย์เองก็สามารถกินแซลมอนซอมบี้ได้ด้วยเช่นกัน ลีบีชยืนยันว่าพวกมันไม่เป็นอันตรายและปลอดภัยกับมนุษย์ เพียงแต่รสชาติอาจไม่อร่อยจากปลาแซลมอนทั่วไป เพราะไม่มีชั้นไขมันเหลืออยู่แล้ว

“คนในท้องถิ่นจับปลาแซลมอนซอมบี้มากิน แน่นอนว่าเนื้อปลามันอาจจะไม่มีคุณภาพเท่ากับแซลมอนที่จับในทะเล เพราะพวกซอมบี้ได้ใช้พลังงานและไขมันสำรองไปจนหมดแล้ว เนื้อมันจึงไม่อร่อยเท่า อาจจะมีน้ำมากกว่า และเนื้อแน่นน้อยลง”


ที่มา: News WeekU.S. Fish and Wildlife Service