มีอยู่จริง! ‘Black Company’ บริษัทสุดโหดในญี่ปุ่น ใช้งานหนัก ไม่ให้ OT

มีอยู่จริง! ‘Black Company’ บริษัทสุดโหดในญี่ปุ่น ใช้งานหนัก ไม่ให้ OT

ผลสำรวจเผย “พนักงานออฟฟิศ” ใน “ญี่ปุ่น” เกือบ 40% เคยทำงาน หรือ กำลังทำงานอยู่ใน “Black Company” บริษัทใช้แรงงานทาสที่ไม่สนใจ “กฎหมายแรงงาน” สิทธิมนุษยชน ให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ กินนอนที่ออฟฟิศ แบบที่พระเอกใน “Zom100” เผชิญ

ชายวัยทำงานใส่สูทผูกไทนอนหลับบนรถไฟฟ้า สะท้อนการทำงานหนักเกือบ 24 ชั่วโมง เป็นภาพที่คุ้นตาดีในสังคม “ญี่ปุ่น” จนหลายคนอดชื่นชมไม่ได้ในความขยันขันแข็ง มีวินัยในการทำงาน แต่ความเป็นจริงแล้วชีวิตพนักงานออฟฟิศกำลังมีปัญหา พนักงานหลายคนถูกบังคับให้ทำงานเกินชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับ OT โดยเฉพาะใน Black Company หรือ บุรักคุ คิเกียว (ブラック企業

 

  • Black Company บริษัทใช้แรงงานทาส

ถ้าหากคุณเคยดู “Zombie 100: Bucket List of the Dead” ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันหนัง อนิเมะ หรือมังงะก็คงจะได้เห็นความน่าสยองของออฟฟิศตัวละครหลักของเรื่อง จนพระเอกดีใจที่ไม่ต้องทำงาน แม้จะต้องเอาตัวรอดจากซอมบี้ก็ตาม ซึ่งบางทีความเลวร้ายของบริษัทใน “Zom100” อาจจะยังดีกว่าบริษัทในชีวิตจริง

Black Company เป็นคำที่ใช้เรียกบริษัทที่ไม่สนใจสวัสดิภาพของพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ทั้งให้ทำงานมากกว่าชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด ชนิดที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน กินนอนอยู่ที่ออฟฟิศ ไม่มีแม้แต่เวลากลับบ้านเพื่อไปเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่กลับไม่รับค่าทำงานล่วงเวลา หรือ OT ที่สำคัญคือให้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ มีวันลาก็ห้ามใช้ และไม่ได้ขึ้นเงินเดือนแม้จะทำงานมาหลายปีแล้วก็ตาม

เดิมทีคำนี้เป็นคำสแลงที่ใช้หมู่พนักงานไอทีในช่วงต้นทศวรรษ 2000 แต่ปัจจุบันคำนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในสื่อและใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม รวมถึงที่ทำลายสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน และเกิดคำว่า "คะโรชิ" (過労死) แปลว่า ทำงานหนักจนตาย นำไปสู่อาการหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ หรือฆ่าตัวตาย

ตามกฎหมายญี่ปุ่น ระบุไว้ว่า พนักงานสามารถทำงานได้เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสามารถทำ OT ได้ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 27 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์  หรือ 45 ชั่วโมงต่อเดือน และ 360 ชั่วโมงต่อปี แต่ดูเหมือนว่าบริษัทในญี่ปุ่นจะมีชั่วโมงการทำงานมากกว่านั้น จนเป็นเรื่องปรกติ จากข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า ในช่วงเดือนเม.ย. 2020 - พ.ค. 2021 มีออฟฟิศ 2,982 แห่งให้พนักงานทำงานล่วงเวลามากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือน ส่วนอีก 1,878 แห่งให้พนักงานทำ OT มากกว่า 100 ชั่วโมง และบริษัท 93 แห่งบังคับให้ทำงานล่วงเวลา 200 ชั่วโมง 

 

  • คุกคามในที่ทำงาน 

Black Company มักจะมาพร้อมกับสภาพการทำงานที่เป็นพิษเสมอ พนักงานส่วนใหญ่โดนคนในบริษัท ไม่ว่าจะหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานคุกคามอยู่เสมอ ซึ่งการคุกคามที่พบเห็นได้บ่อยใน Black Company ของญี่ปุ่นมีด้วยกัน 5 ประเภท ดังนี้

1. การคุกคามข่มเหงด้วยอำนาจ เป็นการทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญใจ ไม่สบายใจ โดยใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ในการงานเป็นเครื่องมือทั้งทางร่างกายและวาจา รวมถึงไม่ให้สิทธิและข่มขู่ผู้ใดบังคับบัญชา หรือ พนักงานที่เด็กกว่า

2. การล่วงละเมิดทางเพศ คือการทำให้พนักงานไม่สบายใจด้วยคำถามที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว ชักชวนไปเที่ยวหลังเลิกงาน รวมถึงสัมผัสร่างกายโดยไม่ได้รับความยินยอม และบังคับให้มีความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ

3. การคุกคามทางศีลธรรม เป็นการละทิ้ง กีดกัน เพิกเฉย และกลั่นแกล้งไม่ให้พนักงานมีส่วนร่วมในองค์กร เช่น ไม่เชิญร่วมงานสังสรรค์ในออฟฟิศ ต่อว่าพนักงานเป็นเวลานานต่อหน้าคนอื่น รวมถึงด้อยค่า โยนความผิด ปั่นหัวบุคคลนั้นจนเกิดเป็นบาดแผลในจิตใจ สูญเสียคุณค่าและตั้งคำถามต่อตนเอง

4. การบังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากญี่ปุ่นมักจะมีวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงาน หลายครั้งจึงเกิดการบังคับให้พนักงานดื่มหนัก ทั้ง ๆ ที่ไม่เจ้าตัวไม่ยินยอม

5. การคุกคามหญิงตั้งครรภ์ เป็นกระทำการที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจหรือร่างกายต่อผู้ตั้งครรภ์หรือผู้ที่เพิ่งคลอดบุตร ด้วยการกลั่นแกล้ง กดดัน เพื่อไม่ให้พวกเธอใช้สิทธิลาหยุด หรือบังคับให้ลาออกจากงาน

 

  • รู้ว่าโดนเอาเปรียบ แต่ยังต้องทำงานต่อไป

ปัญหา Black Company มีมานานมาก และกลายเป็นที่พูดถึง สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในสังคมเมื่อ “มัตสึริ ทากาฮาชิ” พนักงาน Dentsu วัย 24 ปี ที่ฆ่าตัวตายในเดือน เม.ย. 2015 หลังทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมง หลายเดือนติดต่อกัน ซึ่งเหมือนจะดีขึ้นแค่ชั่วครู่ 

จากข้อมูลเมื่อปี 2023 ของ Shikigaku บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการในโตเกียว ทำการสอบถามพนักงานบริษัทที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 59 ปีทั่วประเทศ พบว่า 38.6% ของพนักงานออฟฟิศเคยทำงานหรือกำลังทำงานอยู่ใน Black Company

เมื่อเจาะลึกลงไปถามพนักงานออฟฟิศที่ทำงานใน Black Company ว่ารู้ตัวเมื่อไรว่ากำลังทำงานในบริษัทที่กดขี่แรงงาน เหตุผลที่คนตอบมากที่สุด คือ มีอัตราการลาออกสูง ถึง 44.0% ตามมาด้วย มีชั่วโมงการทำงานมากเกินไป (39.7%) และ ไม่ได้ค่าทำงานล่วงเวลา (38.0%) สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานให้ความสำคัญของปัญหาเวลาทำงาน

นอกจากนี้พนักงานส่วนใหญ่รู้ว่าบริษัทของตนเองไม่ปฏิบัติการกฎหมายแรงงาน หรือทำเป็นพิธีไปเท่านั้น ด้วยการบังคับให้การทำงานล่วงเวลาเป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงพักเบรก” อีกทั้งไม่จ่ายค่า OT เต็มจำนวน ทั้ง ๆ ที่กำหนดให้พนักงานทำ OT ประมาณ ชั่วโมงต่อเดือน เนื่องจากฝ่ายบริหารบอกว่า “มันเป็นเงินที่มากเกินไป”

แม้พนักงานออฟฟิศจะรู้ทั้ง ๆ รู้ว่าบริษัทกำลัง “เอาเปรียบ” แต่พวกเขาก็ยังจะทำงานให้บริษัทต่อไป โดย 6.1% ตอบว่าเต็มใจจะทำ ในขณะที่ 50.2% บอกว่าจำใจต้องทำ หากไม่มีทางเลือกอื่น แสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทกลายเป็น Black Company และทำให้บริษัทได้ใจ จนไม่สนใจถึงความถูกผิด

79% ระบุว่า พวกเขาไม่เคยแจ้งบริษัทถึงปัญหาการใช้แรงงานทาส มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป แต่จำเป็นต้องรักษางานของตนไว้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่า ถ้าย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วจะต้องทำงานน้อยลง และพวกเขาไม่ปริปากร้องเรียน ด้วยความคิดว่า “พูดไปก็เท่านั้น” ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อะไรทนได้ก็ทนไป เมื่อถึงจุดที่ทนไม่ไหว พวกเขาก็จะ “ลาออก” ไปเอง


ที่มา: Japan TodayNipponSoranews24Tokhimo