'Hate-Stalking' ทำไมมีความสุขเวลาตามส่องคนที่เราไม่ชอบบนโซเชียล?

'Hate-Stalking' ทำไมมีความสุขเวลาตามส่องคนที่เราไม่ชอบบนโซเชียล?

เกลียดขี้หน้า..แต่ก็อดตามส่องไม่ได้ ทำไมพฤติกรรม "Hate-Stalking" ผ่าน "โซเชียลมีเดีย" บนโลกออนไลน์ถึงทำให้บางคนรู้สึกดีจนถอนตัวไม่ขึ้น?

Key Points:

  • “Hate-Stalking” คือ พฤติกรรมการตามส่องดูคนที่เราไม่ชอบในโซเชียลมีเดีย แม้รู้สึกเกลียดก็ยังตามส่องดูเพราะทำแล้วมีความสุข
  • พฤติกรรมดังกล่าวเป็นนิสัยที่พบได้ทั่วไป ถือเป็นการระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะไม่เป็นอันตรายในระยะสั้น แต่นั่นก็เป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับชีวิต
  • แม้การตามส่องดูคนที่คุณไม่ชอบจะทำให้รู้สึกพึงพอใจ แต่ หากถลำลึกไปกับความรู้สึกเชิงลบอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

พฤติกรรม “Hate-Stalking” หรือการตามส่องดูคนที่เราไม่ชอบในโซเชียลมีเดีย เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วแบบไร้พรมแดน 

บางคนให้คำนิยามพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น “ความวิกลจริตที่สังคมยอมรับได้มากที่สุด” ทั้งนี้ คนที่เราเกลียดอาจเป็นได้ตั้งแต่ เซเลบริตี้คนดัง, อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในโลกโซเชียล, เพื่อนของเพื่อนที่เราไม่ชอบขี้หน้า รวมไปถึงแฟนเก่าที่จบกันไปแบบไม่ค่อยสวย เป็นต้น 

มีตัวอย่างจากหลายเคสที่ออกมายอมรับว่าตัวเองก็เป็น Hate-Stalker คนหนึ่งในโลกออนไลน์ ซึ่งสาเหตุที่ชอบตามส่องคนที่ตนเองเกลียดก็เพราะว่า อยากรู้ว่าคนพวกนั้นได้รับบทเรียนจากการที่เคยทำนิสัยแย่ๆ เอาไว้กับเราไหม?, พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือแย่กว่าเรา?, เมื่อเห็นพวกเขาโพสต์ถึงความทุกข์ในชีวิตหรือโดนทัวร์ลงก็จะรู้สึกสะใจ ฯลฯ

 

  • ในเมื่อเกลียดเขา แต่ทำไมเรายังคอยตามส่องไม่เลิก? เหตุผลรู้ทางจิตวิทยา

แองเจิล มาร์ติเนซ รายงานถึงประเด็นนี้ผ่านเว็บไซต์ VOX ไว้ว่า หลายคนอาจพบว่าตัวเองชอบไถดูฟีดโซเชียลมีเดียของคนที่เราไม่ชอบอยู่บ่อยๆ และได้รับความสุขจากประสบการณ์นั้น มันเป็นนิสัยที่พบได้ทั่วไปในการระบายอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะไม่เป็นอันตรายในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวหากคอยส่องความเคลื่อนไหวของคนอื่นด้วยความเกลียดชังอย่างต่อเนื่อง มันสามารถทำให้เราติดอยู่ในวงจรของความคิดเชิงลบที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับชีวิต

คำถามต่อมาคือ แทนที่เราจะหมกมุ่นส่องดูเขาไม่หยุด ทำไมถึงไม่กด “เลิกติดตาม” ไปซะให้มันจบๆ ?!

เรื่องนี้มีคำตอบจาก ดร.ดาเรีย คุสส์ รองศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและนักจิตวิทยาไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเทรนต์ (Nottingham Trent University) ที่ได้อธิบายผ่านเว็บไซต์ Dazed ไว้ว่า สาเหตุที่คนเราคอยตามส่องดูคนที่เราเกลียดบนโลกออนไลน์นั้น เนื่องจากมันทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา 

ทั้งนี้ อารมณ์ความรักและความเกลียดชังต่างถูกกระตุ้นจากสมองในส่วนเดียวกัน ส่งผลให้ความรู้สึกพึงพอใจหลั่งไหลออกมาแบบเดียวกัน เมื่อคนเรารู้สึกเกลียดจึงสร้างความรู้สึกพึงพอใจได้ พอทำบ่อยๆ มันจะทำให้เราเสพติดความสุขจากการ Hate-Stalking คนอื่นๆ ในอนาคตต่อไปอีก

 

  • Hate-Stalking ช่วยลดความเครียด-วิตกกังวล และปล่อยสาร “โดปามีน” ให้มีความสุข

ในทำนองเดียวกัน ดร.เมแกน จาบลอนสกี นักจิตวิทยาคลินิกอีกคนก็ให้ข้อมูลผ่าน Cosmopolitan ไว้ว่า คนเราชอบการส่องดูชีวิตของคนที่ไม่ชอบผ่านโลกออนไลน์ ก็เพราะมันรู้สึกสนุก และพาให้เราหลีกหนีความวุ่นวายของโลกความเป็นจริงไปได้ช่วงหนึ่ง 

ดร.เมแกน บอกว่า การที่คุณระบายความรู้สึกเชิงลบออกไปในโลกโซเชียลบ้าง มันช่วยลดความเครียด ความเศร้า หรือความวิตกกังวลให้คุณได้อย่างรวดเร็ว และการเติมอีโก้ของตัวเองด้วยการตัดสินผู้อื่นผ่านโลกออนไลน์ (ซ่อนตัวตนที่แท้จริงได้) สามารถกระตุ้นให้สมองปล่อยสาร “โดปามีน” ที่ให้ความรู้สึกดีออกมาได้ ดังนั้นหลายคนจึงตกหลุมพรางบ่มเพาะพฤติกรรม Hate-Stalking ได้ง่ายๆ จนติดเป็นนิสัย

นอกจากนี้ ดร.ดาเรีย คุสส์ ยังเพิ่มเติมอีกว่า พฤติกรรมดังกล่าวเมื่อเริ่มทำแล้วก็เลิกได้ยาก เนื่องจากมันสอดคล้องกับการทำงานของ “อัลกอริทึม” ของโซเชียลมีเดีย กล่าวคือ เมื่อมันเห็นว่าคุณติดตามคนนี้บ่อยๆ แปลว่าคุณกำลังชื่นชอบเนื้อหาที่คนนี้โพสต์ขึ้นบนโซเชียล อัลกอริทึมก็จะจดจำและแนะนำเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวมาให้คุณเห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น นั่นยิ่งทำให้คุณตามส่องเขาไม่หยุด

 

  • อยากเลิกเป็น Hate-Stalker แม้ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก แค่ลดการส่องโซเชียลให้น้อยลง

แม้ว่าการตามส่องคนที่คุณไม่ชอบในโซเชียลจะทำให้รู้สึกพึงพอใจ แต่ ดร.ดาเรีย ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องควบคุมอารมณ์ไม่ให้มีความรู้สึกเชิงลบมากเกินไป เพราะมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ เนื่องจากการติดตามคนที่เกลียดชังทางออนไลน์ อาจนำไปสู่การเปรียบเทียบเชิงลบกับคนอื่นๆ และสร้างอคติในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ รอบตัวในชีวิตจริง

ขณะที่ ดร.เมแกน ให้คำแนะนำว่า หากไม่อยากตกหลุมพรางพฤติกรรม Hate-Stalking จนกลายเป็นนิสัยแย่ๆ ติดตัว ควรจำกัดเวลาในการตามส่องคนที่คุณไม่ชอบให้น้อยลง เพื่อให้อัลกอริทึมลดการแนะนำเนื้อหาหรือโพสต์จากบุคคลที่คุณไม่ชอบขี้หน้า

อีกทั้ง ควรลดเวลาการเสพความสุขระยะสั้นจากหน้าจอ แล้วไปบำบัดผ่อนคลายอารมณ์ตนเองด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้มากกว่า เช่น การนอนแช่ในอ่างน้ำอุ่นพร้อมฟองสบู่หอมๆ หรือออกไปนวดตัว-ขัดผิว เป็นต้น