ไขคำตอบ! ทำไม “โซเชียลมีเดีย” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและเสี่ยง “ซึมเศร้า”

ไขคำตอบ! ทำไม “โซเชียลมีเดีย” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและเสี่ยง “ซึมเศร้า”

เมื่อไม่กี่วันก่อน “ทอม ฮอลแลนด์” เจ้าของบทบาทสไปเดอร์แมนคนล่าสุด ประกาศหยุดเล่น “โซเชียลมีเดีย” ชั่วคราว เพื่อปกป้อง “สุขภาพจิต” ของเขา ชวนไขข้อสงสัย.. ทำไม? โซเชียลจึงทำให้คนเราจิตตกและอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

สื่อนอกอย่าง moviesrain รายงานว่า ทอม ฮอลแลนด์ เจ้าของบทบาท "สไปเดอร์แมน" คนล่าสุด ได้ปรากฏตัวบนอินสตาแกรมส่วนตัวครั้งแรก หลังจากห่างหายไปนาน และได้อธิบายถึงสาเหตุที่เขาหยุดเล่น "โซเชียลมีเดีย" ไปนั้น ก็เพื่อปกป้อง "สุขภาพจิต" ของเขา หลังจากพบว่ามันส่งผลเสียมากกว่าจะเป็นผลดี โดยเจ้าตัวระบุข้อความผ่านโพสต์ส่วนตัวไว้ว่า

“สวัสดีทุกคน ผมพยายามทำคลิปนี้มาชั่วโมงหนึ่งแล้ว สำหรับคนที่ใช้เวลากับมันมา 13 หรือ 14 ปีอย่างผม ไม่ว่าผมจะเคยแสดงมานานแค่ไหน แต่ผมกลับพูดในสิ่งที่ผมต้องการพูดโดยไม่พูดคำว่า ‘เอิ่มมม’ และ ‘อ่าาา’ ได้เลย

ก่อนหน้านี้ ผมเลยหยุดเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อสุขภาพจิตของผม เพราะผมพบว่าอินสตาแกรมและทวิตเตอร์นั้นมันกระตุ้นจิตใจและร่างกายมากไป ล้นหลามมากไป ผมรู้สึกตัวเองหมดคุณค่าและรู้สึกดาวน์ตอนผมอ่านเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับผมบนโลกออนไลน์ และสุดท้ายมันก็ส่งผลเสียกับสภาพจิตใจของผมอย่างมาก ผมเลยตัดสินใจถอยออกมาและลบแอปเหล่านั้นทิ้งไป”

ไขคำตอบ! ทำไม “โซเชียลมีเดีย” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและเสี่ยง “ซึมเศร้า”

แต่การกลับมาเล่นโซเชียลอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ (ในช่วงสั้นๆ) ก็เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรการกุศล ชื่อว่า “stem4” ที่เขาดูแลอยู่ โดยเป็นองค์กรเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่กำลังเป็นทุกข์ด้านสภาพจิตใจ

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ทำไม? การท่องอยู่ในโลกโซเชียลที่มากเกินไปจึงส่งกระทบต่อสุขภาพจิตและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า เหตุผลต่อไปนี้อาจตอบคำถามดังกล่าวได้

หมายเหตุ : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2564 พบว่าคนไทยใช้งานโซเชียลมีเดียยาวนานถึง 9 -12 ชั่วโมงต่อวัน

1. เล่น "โซเชียลมีเดีย" เกินพอดี เสี่ยงภาวะ "ซึมเศร้า"

มีรายงานจาก American Academy of Pediatrics ระบุถึงผลกระทบด้านลบของโซเชียลมีเดียในเด็กเล็กและวัยรุ่น เอาไว้ว่า การเล่นโซเชียลมีเดียบ่อยๆ และต่อเนื่องทุกวันจนมีลักษณะเสพติด อาจทำให้เกิด “ภาวะซึมเศร้า” และภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับวัยผู้ใหญ่ด้วย โดยอาการของการเสพติดซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต ได้แก่ การละเลยชีวิตส่วนตัว, ความหมกมุ่นทางจิต, ไม่เข้าสังคม, อารมณ์แปรปรวน, ความอดทนต่ำ ฯลฯ และเมื่อหยุดเล่นโซเชียลก็จะมีอาการหงุดหงิด หรือวิตกกังวล เป็นต้น

2. โซเชียลมีเดียทำให้เศร้ามากขึ้น มีความสุขน้อยลง

มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า “ยิ่งเราใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความสุขน้อยลงเท่านั้น” โดยพบว่าการเล่นโซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับความสุขที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ และทำให้ความพึงพอใจโดยรวมในชีวิตลดลง เนื่องจากการท่องอยู่บนโลกโซเชียลตลอดเวลาจะทำให้คุณตัดขาดจากโลกชีวิตจริง ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นบ่อนทำลายสุขภาพจิตใจโดยไม่รู้ตัว

 

3. "โซเชียลมีเดีย" เป็นตัวการให้คนเราเกิดการเปรียบเทียบ

อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้โซเชียลมีเดียเป็นตัวการให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคมมากขึ้น นั่นก็เพราะว่า เราตกหลุมพรางของการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เมื่อเราเลื่อนดูฟีดของคนอื่นไปเรื่อยๆ และเริ่มวัดคุณค่าของตนเองกับผู้อื่นในโลกโซเชียล มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า คนเรามักจะตัดสินว่าตนเองแย่กว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ในโลกโซเชียลเสมอ (รู้สึกว่าคนอื่นดีกว่าคุณ) จึงทำให้คนรู้สึกแย่ และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

4. เสพติดโซเชียลมีเดียเกินพอดี นำไปสู่อารมณ์ขี้อิจฉา

คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าการได้เห็นไลฟ์สไตล์ชีวิตดีๆ ในวันหยุดพักผ่อนของคนอื่นนั้นน่าอิจฉา มีการศึกษาพบว่าการใช้โซเชียลมีเดียบ่อยๆ ทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาขึ้นมาได้ และเกิดเป็นความรู้สึกในด้านลบในจิตใจ นั่นยิ่งทำให้ทุกคนในโลกออนไลน์ต้องการทำให้ชีวิตของตัวเองดูดีขึ้นเพื่อแข่งขันกับคนอื่นๆ และสิ่งนี้ก็จะต่อเนื่องเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้บ่อยๆ ก็เชื่อมโยงไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะเห็นแล้วว่าการเสพติดโซเชียลมีเดียที่มากเกินพอดี สามารถส่งผลกระทบด้านลบกับสุขภาพจิตของผู้คนได้จริง!  แล้วแบบนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง? เรื่องนี้มีคำตอบจาก sane.org ซึ่งเป็นองค์กรสุขภาพจิตชั้นนำในออสเตรเลีย มีคำแนะนำดังนี้

  • จำกัดการใช้งานโซเชียลมีเดียของคุณ

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามารบกวนชีวิตประจำวันของคุณ ดังนั้น ทุกคนจึงควรแบ่งเวลาระหว่างวันในบางช่วงเพื่องดเล่นโซเชียลมีเดีย และออกไปใช้ชีวิต พบปะ ทำกิจกรรมกับครอบครัว เพื่อนฝูง ในโลกความเป็นจริง สิ่งนี้จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อกับสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และปรับปรุงให้สุขภาพจิตให้ดีขึ้น

  • ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อคุยทางไกลหรือยามจำเป็นเท่านั้น

โซเชียลมีเดียช่วยให้คุณเชื่อมต่อได้ทุกที่ทุกเวลา นี่เป็นข้อดีอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอยู่ห่างไกลจากคนที่คุณห่วงใย แต่อย่างไรก็ตาม การวิจัยบางชิ้นพบว่าผู้ที่เรียกดูหรือเลื่อนดูโซเชียลมีเดียตลอดเวลา มักมีอาการซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ค่อยเล่นโซเชียลมีเดีย ดังนั้น หากคุณกำลังใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเชื่อมโยงกับคนในโลกออนไลน์ ก็ควรใช้งานแค่พอประมาณเท่านั้น และแบ่งเวลาพักจากหน้าจอบ้าง

  • เลิกติดตามบัญชีบนโซเชียลที่ทำให้คุณรู้สึกแย่

จดบันทึกโพสต์หรือบัญชีออนไลน์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์เชิงลบ เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด หรือความรู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ โดยให้กดปุ่ม “ซ่อน” หรือ “เลิกติดตาม” บัญชีเหล่านี้ รวมถึงสามารถกดรายงานบัญชีหรือโฆษณาที่คุณคิดว่าอาจไม่ปลอดภัยสำหรับคุณหรือผู้อื่นด้วยก็ยิ่งดี

-------------------------------------------

อ้างอิง : etda.or.thmoviesrainforbessane.org