‘Quittok’ ลาออกทั้งที ต้องบอกให้โลกรู้

‘Quittok’ ลาออกทั้งที ต้องบอกให้โลกรู้

“Quittok” เทรนด์การลาออกต้องประกาศให้โลกรู้ โพสต์วิดีโอลาออกของตนเองลงบนโซเชียล เทรนด์ฮิตของคนรุ่นใหม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือน เป็นการกระทำที่ไม่มืออาชีพ ระวังไม่มีคนจ้างงาน

แม้เทรนด์ “การลาออกครั้งใหญ่” จะผ่านมาเป็นปีแล้ว แต่พนักงานยังคงลาออกอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดปรากฏการณ์ล่าสุดที่คนรุ่นใหม่หันมาแชร์คลิปตอนที่ตัวเองแจ้งลาออกกับหัวหน้าบนโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นเทรนด์ “Quittok” ที่โด่งดังในตอนนี้

ในเดือนก.ค. ปี 2021 คลิปพนักงานของ McDonald’s สาขาหนึ่งในสหราชอาณาจักรพร้อมใจกัน “ลาออกทั้งสาขา” ขณะที่ร้านยังเปิดอยู่ จนไม่มีใครบริการลูกค้ากลายเป็นกระแสไวรัลใน TikTok และหลังจากนั้นชาวเจน Z ต่างพากันอัดคลิปตอนที่พวกเขา “ลาออก” แล้วนำมาโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย ในปัจจุบันแฮชแท็ก  #quittok มีผู้เข้าชมมากกว่า 54 ล้านครั้ง

  • บอกโลกให้รู้ว่าลาออกแล้ว

วิดีโอลาออกของแต่ละคนอาจจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น ลาออกตอนประชุมออนไลน์ ยื่นใบลาออก หรือบอกต่อหน้า แต่จุดประสงค์คือการถ่ายทอดช่วงเวลาลาออกแบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและทำให้การลาออกจากงานเป็นเรื่องง่าย

เมริสา โจ เมย์ส ติ๊กต็อกเกอร์ผู้คิดค้นแนวคิด “Bare Minimum Mondays” หรือการทำงานแบบน้อย ๆ ในวันจันทร์ กล่าวว่า สำหรับเธอแล้ว TikTok เป็นช่องทางที่สนุกสนานและสร้างสรรค์ สำหรับดูเนื้อหาเพื่อต่อสู้กับความทุกข์ในที่ทำงาน และในวันที่เธอตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานเก่า เธอก็โพสต์คลิป Quittok ของตนเองด้วยเช่นกัน

ในคลิปของเมย์ส แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่เธอจะตัดสินใจโทรไปลาออกจากงานกับหัวหน้า เธอมีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเมย์สคุยกับหัวหน้าจบ เธอโล่งอกอย่างเห็นได้ชัด “เหมือนฉันยกภูเขาออกจากอก แต่ฉันก็เสียใจด้วยเช่นกัน” เมย์สบรรยายผ่านคลิปวิดีโอ

“ฉันมีเงินเดือนดี ได้ไปเที่ยวและทำงานร่วมกับบริษัทชื่อดังในอุตสาหกรรมนี้ แต่ฉันรู้สึกแย่มาก” หญิงวัย 29 ปีที่ทำงานในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา กล่าว และบอกอีกว่า “ฉันรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่สุดในชีวิต ไม่สามารถคิดอะไรได้นอกจากงาน และต้องดิ้นรนกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความเครียด”

ผ่านมาแล้ว 2 ปี หลังจากที่เมย์สโพสต์วิดีโอ Quittok วิดีโอดังกล่าวมียอดไลค์มากกว่า 200,000 ครั้ง และยังมีผู้เข้าชมอย่างต่อเนื่อง มีคอมเมนต์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ บางส่วนบอกว่า ยินดีด้วยที่ได้ทำตามฝัน แต่บางคนกลับบอกว่าทำตัวแบบนี้ก็สมควรจะไม่มีงานทำแล้ว แต่คอมเมนต์ลบ ๆ ไม่ได้ทำให้เมย์สหยุดทำคลิป เธอเปิดเผยว่าเธอโพสต์คลิปลาออกเพราะถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิต และเป็นหนึ่งในขั้นตอนการพัฒนาตนเอง ซึ่งเห็นว่าวิดีโอของเธอสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้ แม้จะไม่กี่คนก็ตาม

  • คนรุ่นใหม่อยากเลือกชีวิตด้วยตนเอง

ผู้ใช้งาน TikTok ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลและชาวเจน Z ซึ่งเติบโตมาในยุคดิจิทัลที่ต้องแบ่งปันและบันทึกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตลงในโลกออนไลน์ ซึ่งเทสส์ บริกแฮม นักบำบัดและโค้ชจากแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “เมื่อคนรุ่นใหม่โตกับการแชร์เรื่องต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ทำให้พวกเขามีประสบการณ์และเรียนรู้ว่าจะต้องเปิดเผยเรื่องราวทุกอย่างผ่านโซเชียล แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่คนรุ่นก่อนจะพูดคุยเป็นการส่วนตัว เช่น การลาออกจากงาน ก็ตาม”

นอกจากนี้ บริกแฮมกล่าวว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z ต่างเห็นพ่อแม่ของตนเองต่อสู้สถานการณ์ทางการเงินใน “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” และตอนที่พวกเขาเริ่มทำงานก็เจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีก (บางคนยังไม่มีโอกาสไปทำงานในออฟฟิศด้วยซ้ำ) ยังมีเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงมาซ้ำเติม แถมบางคนยังเป็นหนี้การศึกษาอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต ความสุข และสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวก 

อีกทั้งการมีอำนาจควบคุมชีวิตตนเองและมีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง ไม่ต้องอยู่ในกรอบที่คนอื่นคาดหวังเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้คอนเทนต์ประเภทลาออกจากออฟฟิศที่เป็นพิษ และการยืนหยัดต่อสู้กับเจ้านายที่ไม่ยุติธรรม สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ พร้อมชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง เลือกสร้างความสุขได้ด้วยตนเอง และทำให้เห็นว่างานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิต

 

  • กระตุ้นให้นายจ้างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

เทรนด์ Quittok บังคับให้นายจ้างมีความรับผิดชอบมากขึ้นและตระหนักถึงวิธีการปฏิบัติต่อคนงานในยุคดิจิทัล ที่ทุกคนสามารถโพสต์และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากนายจ้างไม่อยากให้พนักงานเอาเรื่องความไม่พอใจในที่ทำงานไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย นายจ้างก็จำเป็นต้องทำให้รู้สึกว่าเขาให้ความสำคัญ เอาใจใส่พนักงาน

ไมค์ โจนส์ ผู้ก่อตั้ง Better Happy บริษัทที่ปรึกษาที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานกล่าวว่า “การโพสต์ลงโซเชียลมีเดียสร้างความรับผิดชอบในระดับที่สูงขึ้น ก่อนหน้านี้เจ้านายจะปฏิบัติกับลูกน้องยังไงก็ได้ ไม่มีใครรู้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้แค่โพสต์ไม่นานคนทั่วโลกก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในออฟฟิศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”

อย่างไรก็ตาม บางคนไม่เห็นด้วยกับการโพสต์เรื่องในออฟฟิศลงบนโซเชียล เพราะมองว่าไม่เป็นมืออาชีพ และมองว่ามีวิธีการในการแสดงออกที่ฉลาดกว่านี้สำหรับการฉลองให้กับการลาออกและการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

“นี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี แถมความหลงตัวเองอย่างมาก ใครก็ตามที่ทำเช่นนี้ ควรตระหนักได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องดีเลย” สตีฟ พัลมิซาโน ผู้ก่อตั้ง AdElevat บริษัทการตลาดและที่ปรึกษากล่าว

แม้กระทั่งโจนส์เองก็ยอมรับว่า Quittok มีความเสี่ยงที่จะทำให้นายจ้างคนอื่น ๆ ไม่กล้าจ้างงานพนักงานที่โพสต์วิดีโอการลาออก เพราะอาจกลัวว่าจะถูกทำในทำนองเดียวกันในอนาคต “แม้ว่านายจ้างจะปฏิบัติกับคุณไม่ดี แต่คุณก็มีวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าตัวเองไม่เป็นมืออาชีพติดตามคุณตลอดไปเช่นกัน”

ยังไม่มีใครรู้และคาดเดาได้ว่า Quittok จะสร้างผลกระทบระยะยาวอะไรแก่ตลาดงาน แต่เทรนด์นี้ทำให้คนรุ่นใหม่กล้าตัดสินใจกับเส้นทางชีวิตของตนและสร้างความโปร่งใสในโลกธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ที่มา: BBCCBS NewsMirrorWork Life