อย่าละเมิด 'สิทธิเด็ก' กฎหมายที่ทุกคนต้องรู้ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล

อย่าละเมิด 'สิทธิเด็ก' กฎหมายที่ทุกคนต้องรู้ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล

จากกรณี "กราดยิงพารากอน" ที่พบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กวัย 14 ปี แม้บางครั้งเกิดเหตุการณ์ที่ "เด็ก" เป็นผู้กระทำผิด แต่อย่าลืมว่าเด็กถูกคุ้มครองด้วย "สิทธิเด็ก" ตามกฎหมาย ที่ทุกคนห้ามละเมิด!

จากกรณีเกิดเหตุ "กราดยิงพารากอน" เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (3 ต.ค.2566) และพบว่าผู้กระทำความผิดเป็นเด็กอายุเพียง 14 ปี ท้ายที่สุดผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่าในสื่อสังคมออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม กำลังขุดคุ้ยชื่อและภาพเด็กผู้ก่อเหตุ แล้วมีการแชร์ข้อมูลเหล่านั้นว่อนโซเชียลมีเดีย รู้หรือไม่? การกระทำนั้นถือว่าละเมิด "สิทธิเด็ก" และอาจผิด PDPA

อย่างไรก็ตาม เราสามารถตัดตอนการละเมิดสิทธิเด็กได้ด้วยการช่วยกันตักเตือนคนรอบข้างในประเด็นดังกล่าวได้ เพื่อลดการเผลอกระทำผิดโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ลองมาทบทวนข้อกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เกี่ยวกับเด็กที่ทุกคนต้องรู้ ดังนี้

 

  • ตามกฎหมาย "เด็ก" คือผู้ที่มีอายุเท่าไร? แล้ว "สิทธิเด็ก" คืออะไร?

นิยามคำว่า “เด็ก” ตามกฎหมาย หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส โดย “สิทธิเด็ก” เป็นสิทธิสากล (Universal Rights) ที่ต้องได้การรับรองและคุ้มครอง ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้เจริญเติบโตรอบด้านอย่างเต็มศักยภาพและไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยการร่วมมือกันในทุกสถาบันทั่วโลก

ทั้งนี้กฎหมายคุ้มครอง “สิทธิของเด็ก” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองไว้ใน 2 มาตราสำคัญ ได้แก่

สิทธิเด็กมาตรา 32 ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

สิทธิเด็กมาตรา 71 วรรคสาม ระบุไว้ว่า “รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว”

 

  • เปิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยเฉพาะเรื่องการเผยแพร่ภาพถ่าย

นอกเหนือจากการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศไทยยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กสำคัญหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546” ซึ่งมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายมาตรา ได้แก่

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 ระบุไว้ว่า “การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใดให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”

พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  • แชร์ภาพเด็กบนสื่อโซเชียลโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจผิด PDPA

นอกจากนี้ การขุดคุ้ยและส่งต่อชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายเด็กในสื่อโซเชียล ยังอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย PDPA ในส่วนของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางตามกฎหมาย PDPA โดยได้ให้ความคุ้มครองทางสังคมทั้งด้านสิทธิและความเป็นส่วนตัวแก่เด็ก

สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ได้กำหนดความคุ้มครองแก่เด็กไว้เป็นกรอบกว้างๆ กล่าวคือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กใน PDPA จะยึดโยงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องอายุ และคำว่า “ผู้เยาว์” โดยผู้เยาว์ที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะสามารถให้ความยินยอมต่อการเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วยตนเองได้นั้น ก็ต่อเมื่อเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้โดยลำพัง จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เช่น การรับทุนการศึกษา เป็นต้น 

ทั้งนี้ พ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายจะเข้ามามีบทบาทในการให้ความยินยอมการใช้ข้อมูลของเด็กแทนตัวเด็กเองได้ใน 2 กรณี ได้แก่ 
1. กรณีเป็นกิจกรรมที่ยังไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง 
2. กรณีที่ผู้เยาว์อายุไม่เกิน 10 ปี

 

  • ฝ่าฝืน PDPA เกี่ยวกับข้อมูลเด็ก อาจโดนฟ้องร้อง!

สำหรับกรณีการแชร์ภาพถ่ายรูปเด็กลงโซเชียลมีเดียนั้น โดยทั่วไปหากถ่ายภาพเด็กถูกเก็บไว้ภายในครอบครัว และใช้ประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะในครอบครัว ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็จะไม่ถือว่าผิด PDPA แต่ถ้ามีการนำข้อมูลของเด็กไปเผยแพร่ภายนอก หรือใช้เพื่อผลประโยชน์อื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองเด็ก ก็อาจจะถูกตีความว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ตามมาตรา 4(1) ได้ อีกทั้งยังมีกฎหมายคุ้มครองเด็กอื่นๆ ที่คาบเกี่ยวกันอยู่ ดังนั้นผู้ที่ละเมิดสิทธิเด็กในแง่ของการส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็อาจถูกฟ้องร้องได้ 

ทั้งนี้กฎหมาย PDPA ในประเทศไทยไม่ได้กำหนดขอบเขต “การใช้เพื่อกิจกรรมในครอบครัวหรือประโยชน์ส่วนตัว” ไว้ชัดเจน การชี้ความผิดจึงขึ้นอยู่กับการตีความของผู้บังคบใช้กฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม PDPA ถือเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นให้สิทธิแก่เด็กและเยาวชนอย่างมีขอบเขต และทำให้สังคมได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นเพศหรือวัยใดก็ตาม 

-------------------------------------

อ้างอิง : มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)