ภาษีกับการสมรสเท่าเทียม | กิตติยา พรหมจันทร์

ภาษีกับการสมรสเท่าเทียม | กิตติยา พรหมจันทร์

จากพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรม เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับสากล

 สังคมไทยเองก็ได้ตระหนักถึงสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน และมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายให้คู่รักที่มีเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนเป็น “คู่สมรส” (Marriage) หรือ “คู่ชีวิต” (Partnership) โดยชอบด้วยกฎหมายได้

ซึ่งจะเป็นการรับรองสถานะทางกฎหมาย ในการใช้ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน ให้มีความเท่าเทียมกับคู่สมรสชายและหญิง  และอาจนำไปสู่สังคมที่ข้ามผ่านมุมมองระบบกฎหมายที่มีเพียงทวิเพศเท่านั้น

ประเทศไทยมีการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อรับรองการใช้ชีวิตของคู่รักที่มีเพศเดียวกันหลายฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดย ครม.

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. .... ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล

มีประเด็นสำคัญว่า กฎหมายเหล่านี้จะครอบคลุมและเท่าเทียมเฉกเช่นคู่สมรสระหว่างชายและหญิงได้หรือไม่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทั้งหมดหรือบางประการ และในขณะนี้ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้

สำหรับคู่สมรสจะมีประเด็นทางภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ภาษีการรับมรดก ภาษีเงินได้จากการรับให้ และการคำนวณภาษีเงินได้ของคู่สมรส กล่าวคือ

    1. ภาษีการรับมรดกไม่ให้ใช้บังคับกับมรดก ที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก
ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด และคำว่า “มรดก” 

ในพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอ้างอิงความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (2) ไม่ใช้บังคับแก่มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก

ภาษีกับการสมรสเท่าเทียม | กิตติยา พรหมจันทร์

ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก (มาตรา 45)

ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับก็อาจจะไม่มีประเด็นที่ว่าแล้วคู่ชีวิตจะไม่ใช้บังคับตามกฎหมายภาษีการรับมรดกด้วยหรือไม่ เพราะให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสในเรื่องมรดก

อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีมีความเป็นเอกเทศ ซึ่งสามารถกำหนดสาระสำคัญของกฎหมายให้แตกต่างกับกฎหมายอื่นได้ ดังนั้น เพื่อความชัดเจนอาจจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้หมายถึงคู่ชีวิตตามกฎหมายคู่ชีวิตด้วยหรือไม่ 

แต่หากเป็น ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่แก้ไข ป.พ.พ. ให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทนชายและหญิง ก็จะทำให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ และเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย เหมือนกันกับการสมรสระหว่างชายและหญิงโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ภาษีการรับมรดกเองยังมีปัญหาว่า “มรดก” นี้รวมทั้งการรับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรมด้วยหรือไม่ และมีประเด็นเรื่องการเลี่ยงภาษีโดยการโอนทรัพย์มรดกให้คู่สมรส เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นตามภาษีการรับมรดกด้วยเช่นกัน

แต่ผู้เขียนนั้นเห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องว่าจะนำไปสู่การทำให้บุคคลไปจดทะเบียนคู่ชีวิต เพื่อเลี่ยงภาษีนี้จนกระทบเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสชายหญิงหรือคู่สมรสเพศเดียวกันก็เกิดปัญหานี้ขึ้นได้ จึงควรไปพิจารณามาตรการในการป้องกันหลีกเลี่ยงภาษีให้มีประสิทธิภาพมากกว่า 

ภาษีกับการสมรสเท่าเทียม | กิตติยา พรหมจันทร์

    2.ภาษีเงินได้เกี่ยวกับการรับให้มีความแตกต่างกัน โดยหากเป็นคู่สมรสได้รับยกเว้น 20 ล้านบาท หากมิใช่คู่สมรสได้รับยกเว้น 10 ล้านบาท 

    ตามประมวลรัษฎากร เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

    มาตรา 42 (27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

           มาตรา 42 (28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

    โดยเห็นได้ว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดยกเว้นให้นั้น หากเป็นคู่สมรสสามารถยกเว้นเงินได้จากการรับให้ได้มากกว่าผู้ที่มิใช่คู่สมรส เนื่องจากระดับความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน

ดังนั้น บุคคลที่เป็นคู่สมรสหรือคู่ชีวิตเพศเดียวกันหากได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายเหมือนกันกับคู่สมรสชายหญิง ก็สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้เช่นเดียวกันและเป็นไปตามหลักความเป็นธรรมทางภาษี

ภาษีกับการสมรสเท่าเทียม | กิตติยา พรหมจันทร์

    3. การคำนวณภาษีเงินได้ของคู่สมรส หากรวมคำนวณสามารถนำอีกฝ่ายมาหักลดหย่อนได้
      มาตรา 47   เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกต่อไปนี้
            (1) ลดหย่อนให้สำหรับ (ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

    ในประเด็นนี้อาจจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยหากใช้คำว่า “คู่ชีวิต” ตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็อาจแก้ไขเพิ่มเติมว่า “คู่สมรสหรือคู่ชีวิตของผู้มีเงินได้” แทนคำว่า “สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้” เพื่อให้คู่สมรสหรือคู่ชีวิตอีกฝ่ายสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีได้หากนำเงินได้มารวมคำนวณภาษี

    อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้ร่างกฎหมายเพื่อรับรองการใช้ชีวิตของคู่รักที่มีเพศเดียวกัน ยังอยู่ในกระบวนการเสนอร่างกฎหมายและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ จึงต้องรอเวลาอีกสักระยะและอาจพิจารณาทบทวนประเด็นอื่น ๆ เช่น กฎหมายภาษี

ทั้งนี้ เพื่อให้คู่สมรสได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทุกประการไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดเพศใดก็ตาม