ต้นทุนแฝงของการสร้างแรงจูงใจด้วยเงิน

การสร้างแรงจูงใจ ให้คนเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ หรือกิจกรรมสาธารณะ นิยมใช้แรงจูงใจทางการเงิน แต่ถ้าไม่มีค่าตอบแทนแล้ว จะส่งผลให้จิตวิญญาณที่จะเสียสละของคนที่กลุ่มนี้ ลดลงหรือหายไปหรือไม่

ทรัพยากรประมง มีความสำคัญต่อสังคมไทย ทั้งในแง่ความมั่นคงทางอาหารในแง่การพึ่งพาตนเองด้านอาหารและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจของการทำการประมงทะเลและการทำการประมงน้ำจืดในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2564 มีมูลค่าจากการทำการประมงเฉลี่ย 67,831 ล้านบาทต่อปี (กรมประมง 2565)

โดยมูลค่าผลผลิตการทำประมงส่วนใหญ่มาจากการทำประมงพาณิชย์เฉลี่ย 45,520 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 78.01) และมูลค่าผลผลิตที่ได้จากการทำการประมงพื้นบ้านเฉลี่ย 12,835 ล้านบาทต่อปี (ร้อยละ 21.99)

แม้ว่าผลผลิตการทำประมงส่วนใหญ่มาจากประมงพาณิชย์ แต่ผลผลิตประมงถือเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนในชุมชนประมงพื้นบ้านมากกว่า 2,500 หมู่บ้านตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย (DOF, 2015)

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 มีจํานวนเรือประมงพื้นบ้านที่จดทะเบียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 50,639 ลำซึ่งสะท้อนถึงจำนวนครัวเรือนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรประมงในทะเลเพื่อยังชีพ

จากสภาพความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ (Overfishing) ที่มีการใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง และยังถูกซ้ำเติมด้วยผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในที่สุดส่งผลทำให้สต็อกของปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ชาวประมงพื้นบ้านที่ทรัพยากรประมงไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้ แต่ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของครัวเรือน

การรับรู้ถึงผลกระทบทางตรงดังกล่าว จึงทำให้มีชาวประมงบางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น การทำซั้งกอ (หรือบ้านปลา) ด้วยการนำทางมะพร้าวมามัดรวมกันและนำไปทิ้งในจุดที่ต้องการโดยใช้หินถ่วงน้ำให้จม เพื่อล่อสัตว์น้ำให้มาที่อาศัยซั้งกอ
 

การทำเช่นนี้จะช่วยให้ชาวประมงประหยัดทั้งค่าน้ำมันและเวลา และไม่ต้องออกไปหาปลาไกลจากชายฝั่ง แม้ว่าจะมีงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยในการทำซั้งกอ แต่ชาวบ้านก็ต้องสละเวลาในการทำซั้งกอเองโดยไม่มีค่าตอบแทน และในหลายๆ ครั้ง ชาวบ้านยังต้องเสียค่าน้ำมันในการออกเรือเพื่อไปทิ้งซั้งกอในทะเลเองอีกด้วย

ต้นทุนแฝงของการสร้างแรงจูงใจด้วยเงิน

แม้ว่าชาวบ้านนี้จะได้ประโยชน์จากกิจกรรมอนุรักษ์ดังกล่าว แต่ประโยชน์ที่เกิดจากการทำซั้งกอหรือกิจกรรมอนุรักษ์อื่นนั้นก่อให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นในชุมชนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ดังกล่าวเช่นกัน แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังยินดีที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะดังกล่าว

ถ้าคนในชุมชนมีจิตสาธารณะเช่นนี้มากขึ้นย่อมส่งผลดีกับคนทุกคนในชุมชน การสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์หรือกิจกรรมสาธารณะมักใช้แรงจูงใจทางการเงิน

เช่น แนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services: PES) ที่มองว่าผู้ได้ประโยชน์ในการดูแลระบบนิเวศควรจ่ายเงินให้กับผู้ที่ดูแลระบบนิเวศ

ซึ่งการจ่ายเงินดังกล่าว นอกจากจะมองว่าเพื่อชดเชยกับค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเสียไปของผู้ดูแลระบบนิเวศ ยังมองว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นหันมาร่วมกิจกรรมอนุรักษ์เพิ่มขึ้น

ข้อกังวลที่เกิดขึ้นจากการสร้างแรงจูงใจทางการเงินดังกล่าวคือ เมื่อไม่มีค่าตอบแทนเหล่านี้แล้วจะส่งผลให้จิตวิญญาณที่จะเสียสละของคนที่กลุ่มนี้ลดลงหรือหายไปหรือไม่ หรือแรงจูงใจทางเงินจะส่งผลหักล้าง (crowding out effect) จิตสาธารณะที่เป็นแรงจูงใจภายในของบุคคลหรือไม่เมื่อไม่มีค่าตอบแทนดังกล่าวแล้ว

งานวิจัย เรื่อง “ต้นทุนแฝงของแรงจูงใจทางการเงิน: แรงจูงใจทางการเงินส่งผลหักล้างผลของแรงจูงใจในการร่วมมือหรือไม่” ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 โดยผู้เขียนกับ Dr. Therese Lindahl จาก Beijer Institution of Ecological Economic ประเทศสวีเดน ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบปัญหาดังกล่าว

ด้วยวิธีการทดลองหรือเกมทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า เกมสินค้าสาธารณะ (Public good game) กับชาวบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จำนวน 256 ราย

ในการทดลองสินค้าสาธารณะนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองได้เงินได้เปล่า (endowment) ในตอนเริ่มต้นแต่ละรอบเท่าๆ กันทุกคน แต่ละคนต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนในกิจกรรมสาธารณะจำนวนเท่าใดจากเงินที่ได้เปล่าพร้อมๆ กัน และเงินที่เหลือที่แต่ละคนไม่ได้ลงทุนในกิจกรรมสาธารณะจะย้ายไปอยู่บัญชีส่วนตัวอัตโนมัติ

ดังนั้น การลงทุนในกิจกรรมสาธารณะ จึงสะท้อนความร่วมมือของบุคคลในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ

ต้นทุนแฝงของการสร้างแรงจูงใจด้วยเงิน

ผลการศึกษาพบว่า 
หนึ่ง การสร้างแรงจูงใจในรูปของเงิน ด้วยการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม "ไม่" ส่งผลให้คนร่วมมือในการเข้าร่วม (ลงทุน) ในกิจกรรมสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือตีความได้ว่า การสร้างแรงจูงใจด้วยเงินไม่ส่งผลให้คนเข้าร่วมในกิจกรรมสาธารณะเพิ่มขึ้น

สอง การสร้างแรงจูงใจด้วยเงินในระดับสูง อาจส่งผลให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะลดลงหลังจากที่ไม่มีการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะคนมองว่าความร่วมมือของเขาสมควรได้รับค่าตอบแทน (จากที่ให้เงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมในการลงทุนในกิจกรรมสาธารณะ)

แต่เมื่อไม่มีค่าตอบแทนเพิ่มเติมแล้วคนอาจรู้สึกสูญเสียส่งผลให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะลดลง 

ข้อค้นพบของการศึกษานี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า นโยบายการสร้างแรงจูงใจด้วยเงินเพื่อให้บุคคลมีจิตสาธารณะมากขึ้นนั้น ควรใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจส่งผลให้จิตสาธารณะของคนกลุ่มนี้ลดลงหลังจากที่ไม่มีค่าตอบแทนดังกล่าวแล้ว

เช่น กรณีการให้ค่าตอบแทนของการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งในตอนเริ่มแรกการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นการทำงานส่งเสริมการดูแลสุขภาพและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ของคนในชุมชนของตนเองโดยไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใดๆ

แต่จากความตั้งใจที่ดีของผู้ออกนโยบายที่ต้องการให้ขวัญกำลังใจกับ อสม. ที่ทำงานเพื่อชุมชนจึงเริ่มมีการให้ค่าตอบแทนเกิดขึ้น และระหว่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นที่ทราบกันดีว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

ต้นทุนแฝงของการสร้างแรงจูงใจด้วยเงิน

จึงเป็นที่มาของนโยบายที่จะเพิ่มค่าตอบแทนหรือเป็นการให้รางวัลกับกลุ่มคนดังกล่าว หรือในกรณีแนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการของระบบนิเวศ ที่ต้องการสร้างแรงจูงใจด้วยเงินให้คนเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์เพิ่มขึ้น

แต่จากข้อค้นพบของการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า แรงจูงใจทางการเงินอาจไม่ส่งผลให้คนเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะเพิ่มขึ้น แต่กลับทำให้การเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะลดลงหลังจากที่ไม่มีค่าตอบแทนในรูปของเงินแล้ว

อย่างไรก็ตาม การตีความของผลการศึกษานี้ที่ควรตีความด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นเพียงผลการศึกษาเดียวในประเทศไทย ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะสามารถประยุกต์ใช้กับทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพราะความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ควรมีการศึกษาซ้ำในพื้นที่อื่นเพื่อยืนยันข้อสรุปดังกล่าว