‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!

‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!

เปิดประวัติ “เอเชียนเกมส์ 2022” เพิ่มอรรถรสในการรับชมและเชียร์ “นักกีฬาไทย” ให้สนุกยิ่งขึ้น ด้วยข้อมูลที่ควรรู้ และ ไฮไลต์ของพิธีเปิดเมื่อคืนวันที่ 23 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา

เอเชียนเกมส์ 2022” หรือชื่ออย่างเป็นทางการ กีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19  เปิดฉากการแข่งขันอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พิธีเปิดถูกจัดขึ้นที่สนามหางโจว โอลิมปิก สปอร์ต เซ็นเตอร์ หรือสนามดอกบัวยักษ์ ที่จุผู้ชมได้กว่า 80,000 ที่นั่ง ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน วันที่ 23 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมามี สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เป็นประธานในพิธี

การแข่งขันครั้งนี้ประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 40 ชนิดกีฬา และตั้งเป้าคว้าเหรียญทองทั้งสิ้น 15 เหรียญ

เอเชียนเกมส์ เป็นมหกรรมกีฬานานาชาติที่สำคัญที่สุดในทวีปเอเชีย ในครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ทั้งสิ้น 45 ประเทศ โดยจัดการแข่งขันทั้งสิ้น 40 ชนิดกีฬา ชิงชัยเหรียญทองทั้งหมด 481 รายการ

เอเชียนเกมส์เป็นการแข่งขันกีฬาที่มีมาอย่างยาวนาน และมีเกร็ดน่ารู้มากมาย ซึ่งกรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมมาให้อ่าน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมและเชียร์นักกีฬาไทยให้สนุกยิ่งขึ้น

‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!

  • มนุษย์ AI ยักษ์จุดคบเพลิง

ก่อนที่เอเชียนเกมส์ 2022 จะมีกำหนดการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ก.ย. - 8 ต.ค. 2566 ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน นั้น เดิมทีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 25 ก.ย. 2565  แต่ด้วยการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของโควิด-19 ทำให้การแข่งขันถูกเลื่อนมาเป็นปีนี้แทน แต่ยังคงใช้ชื่อว่า เอเชียนเกมส์ 2022 ดังเดิม

ไฮไลต์ของพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่สร้างความฮือฮาจนเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลอย่างมาก คือ ช่วงพิธีการจุดคบเพลิงที่มี “ผู้ถือคบเพลิงดิจิทัล” เข้าร่วมพิธีนี้ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน ภายใต้แนวคิด "Green, Smart, Economical and Ethical" อันเป็นหัวใจหลักในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ พร้อมใช้เมทานอลเป็นเชื้อเพลิงในคบเพลิงที่นักกีฬาใช้วิ่งไปรอบ ๆ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเป็นสะอาดและเผาไหม้ได้สมบูรณ์

‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!

 

  • จีนเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3

มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่จัดขึ้นในปี 2023 จัดขึ้นที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่จีนได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ หลังจากเคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์มาแล้วในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1990 ที่กรุงปักกิ่ง และเอเชียนเกมส์ 2010 ที่เมืองกว่างโจว 

เอเชียนเกมส์ 2022 แข่งขันในเมืองหาวโจว และอีก 5 เมือง ได้แก่ หนิงโป เวินโจว จินหัว เส้าซิง และหูโจว โดยใช้สนามกีฬาทั้งหมด 56 แห่ง เจ้าภาพจีนลงทุนไปกับการแข่งขันครั้งนี้ราว 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 49,000 ล้านบาท 

จีนเป็นเจ้าเหรียญทองถึง 10 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 9 เมื่อปี 1982 ที่จัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จนถึงปัจจุบัน

‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!

  • สโลแกน สัญลักษณ์ และมาสคอต

โลโก้เอเชียนเกมส์ 2022 ของการแข่งขันเรียกว่า "Surging Tides" ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายพัด ลู่วิ่ง แม่น้ำเฉียนถัง และคลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมต่อไร้สาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนถึง ระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สามารถรวบรวมและประสานยุคสมัยต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สอดคล้องกับแนวทางของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์

ขณะที่ คำขวัญอย่างเป็นทางการของเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ คือ ใจถึงใจ @อนาคต (Heart to Heart, @Future) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ซึ่งเกิดขึ้นจากการแข่งขันกีฬา ให้รวมเป็นปึกแผ่น เป็นหนึ่งเดียวกัน 

มาสคอตประจำการแข่งขันมีด้วยกัน 3 ตัว ได้แก่ คองคอง (琮琮) เหลียนเหลียน (莲莲) และเฉินเฉิน (宸宸) เรียกรวมกันว่า "ความทรงจำของเจียงหนาน" หรือ Smart Triplets ซึ่งเป็นการผสมผสานบทประพันธ์ของไป๋ จวีอี้ กวีในช่วงราชวงศ์ถัง รวมกับหุ่นยนต์ฮีโร่  ที่มีต้นกำเนิดจากโบราณสถานของเมืองเหลียงจู่ ทะเลสาบตะวันตก และคลองใหญ่ แต่ละตัวก็มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • คองคอง มีตัวเป็นสีเหลือง แสดงถึงดินและการเก็บเกี่ยว ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายใบหน้าของสัตว์ในตำนานของจีน และคำว่าคองเป็นชื่อจี้หยกที่มีอายุเก่าแก่กว่า 5,000 ปี นิสัยมีความมุ่งมั่น จริงใจ มีน้ำใจนักกีฬา และมีความกระตือรือร้น 
  • เหลียนเหลียน ตัวสีเขียว หมายถึงชีวิตและธรรมชาติ ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายใบบัวที่ประดับด้วยสระน้ำสามสระสะท้อนพระจันทร์ ทิวทัศน์อันงดงามของทะเลสาบตะวันตก พร้อมมีสัญลักษณ์ของอินเทอร์เน็ต มีความบริสุทธิ์ ใจดี มีชีวิตชีวา น่ารัก สง่างาม และมีอัธยาศัยดี  
  • เฉินเฉิน มีตัวสีฟ้า สื่อถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายกับกระแสน้ำของแม่น้ำเฉียนถังและสะพานกงเฉิน ทำให้ได้ชื่อมาจากสะพานกงเฉินนั่นเอง เป็นคนกล้าหาญ ฉลาด มองโลกในแง่ดี และกล้าได้กล้าเสีย

‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!

เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 เปิดตัวในชื่อ "ชานฉ่วย" ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก "ยี่ว์ฉง" หยกโบราณที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ในวัฒนธรรมเหลียงจู่ ตัวเหรียญมีลักษณะเป็นเหลี่ยมในวงด้านนอก ส่วนด้านในยังคงลักษณะวงกลมตามปกติเช่นเดิม

ด้านหน้าเหรียญมีโลโก้ของการแข่งขัน ท่ามกลางเนินเขาที่ปกคลุมด้วยหมอก และเมืองเป็นทะเลสาบที่กระเพื่อม ไปยังภูเขาลูกคลื่นที่อยู่ไกลออกไป ส่วนด้านหลังมีตราสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์แห่งเอเชียนเกมส์ และชื่อของประเภทการแข่งขันเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

 

  • กีฬาที่ใหญ่ที่สุดรองจากโอลิมปิก

เอเชียนเกมส์ (Asian Games) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เอเชียต (Asiad) เป็นการแข่งขันกีฬาหลากชนิดของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย จัดขึ้นทุก 4 ปี ถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกีฬาโอลิมปิก 

ปัจจุบันมีชาติเจ้าภาพจัดการแข่งขันแล้ว 9 ประเทศ โดยไทยเป็นเจ้าภาพมากที่สุดถึง 4 ครั้งได้แก่ เอเชียนเกมส์ 1966 เอเชียนเกมส์ 1970 เอเชียนเกมส์ 1978 และ เอเชียนเกมส์ 1998 ส่วนการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 20 หรือ เอเชียนเกมส์ 2026 จะจัดขึ้นที่เมืองนาโงยะ ญี่ปุ่น

สำหรับการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022 มีชาติในเอเชียเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 45 ชาติ ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย โดยมีเพียง 7 ชาติที่เข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์ครบทั้ง 19 ครั้ง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา สิงคโปร์ และไทย 

เอเชียนเกมส์ครั้งนี้ เป็นครั้งที่มีนักกีฬาเข้าแข่งขันมากที่สุด ถึง 12,500 คน ส่วนทัพนักกีฬาไทยมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้รวม 1,411 คน 

ร่วมส่งแรงเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์ 2022 เพื่อคว้าเหรียญรางวัลมาครองให้ได้ตามเป้า และรับชมการแข่งขันกีฬาผ่านทางช่อง Thai PBS ช่อง NBT ช่อง 5HD และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย รวมถึงสามารถติดตามผลการแข่งขันและสรุปรางวัลได้จากกรุงเทพธุรกิจ

‘เอเชียนเกมส์ 2022’ กับ 5 เรื่องน่ารู้!