ยิ่งใกล้ตัวยิ่งโกรธ? เพราะ 'อำนาจ' น้อยในที่ทำงาน เลยโมโหคนในบ้านก่อนคนนอก

ยิ่งใกล้ตัวยิ่งโกรธ? เพราะ 'อำนาจ' น้อยในที่ทำงาน เลยโมโหคนในบ้านก่อนคนนอก

อำนาจ การควบคุม และความรัก เป็นตัวแปรของ “อารมณ์โกรธ” ที่อาจบ่อนทำลายความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะหากมี “อำนาจน้อย” ในที่ทำงาน ก็ส่งผลให้เกิดความเครียดและความโกรธสะสมในใจ แล้วเผลอระบายความหัวร้อนใส่คนที่บ้านได้ง่ายๆ 

ในชีวิตการทำงานของ “มนุษย์ออฟฟิศ” ต้องพบเจอกับคนมากหน้าหลายตา ที่มาพร้อมกับความหลากหลายทางอารมณ์ บางครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้านาย หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน ทำให้คุณหัวเสียมากในแต่ละวัน แต่ก็ไม่สามารถที่จะระบายความโมโหออกไปตรงๆ จึงได้แต่เก็บงำสะสมความโกรธเอาไว้ และบางครั้งก็เผลอนำอารมณ์ร้ายเหล่านั้นไปลงกับคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น ภรรยา สามี ลูก พ่อแม่ พี่น้อง ฯลฯ 

ลองทบทวนดูกันหน่อยว่า ตั้งแต่เกิดมาบนโลกใบนี้ เรา “โมโห” ใส่ใครบ่อยที่สุด แน่นอนว่าคนที่ผุดขึ้นมาในหัวคนแรกๆ ก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนในครอบครัว แฟน เพื่อน หรือลูกๆ แล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงไม่กล้าที่จะแสดงอาการกระฟัดกระเฟียด ความโกรธ ความโมโหต่อหน้าเจ้านายหรือหัวหน้างานบ้าง? ความจริงของเรื่องนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน 

 

  • เมื่อความโกรธในที่ทำงาน ส่งผลให้เราใจร้ายกับคนใกล้ตัวได้ง่ายกว่าคนนอก

ศาสตราจารย์จอง แจซึง นักฟิสิกส์ชาวเกาหลี ที่ศึกษาเรื่องการทำงานของสมองโดยตรง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความคิด ทัศนคติ และอารมณ์ของมนุษย์ ได้อธิบายเรื่องนี้ผ่านรายการ All the Butlers ไว้ว่า หากเราเป็นพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่งในออฟฟิศที่เต็มไปด้วยพนักงานหลากหลายแผนก ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง และทุกคนย่อมรู้ดีถึงบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ รวมไปถึงรู้ตัวว่า “เราเป็นใคร” ในสถานที่แห่งนี้ แน่นอนว่าตำแหน่งงานที่แตกต่างกันนั้น เป็นตัวแปรสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า “ใครที่มีอำนาจมากกว่ากัน” ในที่ทำงาน หากเกิดการปะทะทางอารมณ์ขึ้นมาระหว่างสองฝ่าย แน่นอนว่าฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าย่อมสู้ไม่ได้

ยกตัวอย่างสถานการณ์ง่ายๆ เช่น เราโดนหัวหน้าตำหนิอย่างรุนแรงต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน และในตอนนั้นเราไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการน้อมรับความผิดเอาไว้ เพราะเรามีอำนาจไม่มากพอเเละไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะไปแสดงอาการหัวร้อน กระฟัดกระเฟียด หรืออาละวาดใส่หัวหน้าได้เลย เราจึงข่มความโกรธนั้นไว้ภายในใจ แล้วฝังกลบมันลงไปในหลุมลึก พอสะสมมากๆ เข้า ก็จะกลายเป็นเหมือนระเบิดปรมาณูที่รอเวลาปะทุออกมา

จากนั้นเมื่อมีอารมณ์โกรธ โดยธรรมชาติของมนุษย์เราจะต้องการพื้นที่ในการระบายความโกรธเหล่านั้น เเละมักจะเลือกพื้นที่ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดเพื่อใช้ในการปลดปล่อย  ยกตัวอย่างเช่น หากเราโกรธเพราะโดนเจ้านายตำหนิในที่ทำงาน ทั้งอายและรู้สึกไม่ดี แต่ต้องอดทนไว้เก็บไว้ในใจ  เมื่อกลับถึงบ้านเราอาจเผลออาละวาด และอารมณ์เสียใส่แฟนหรือคนในครอบครัวโดยที่ไม่รู้ตัว คนใกล้ตัวของเราจึงเปรียบเสมือนปราการด่านแรกที่ต้องแบกรับความโกรธของเราในตอนนั้น

​​​

  • แม้จะโกรธคนใกล้ตัวง่าย แต่สถานการณ์นั้นก็มี “ความรัก” ซ่อนอยู่ด้วย

การที่เรากล้าโมโหใส่คนใกล้ตัว มากกว่าจะโมโหใส่คนนอก ในทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาอธิบายว่า นั่นเป็นเพราะเรารู้สึกสบายใจ และมั่นใจในคนรักหรือคนในครอบครัวของเรามากเกินไป เลยกล้าที่จะแสดงพฤติกรรมที่เป็นแก่นแท้ของตัวเองออกมา โดยไม่กลัวว่าจะมีผลเสียอะไรตามมา  เปรียบเสมือนว่าเราเป็นหมาตัวเล็กๆ ที่ทำได้เพียงเห่าหอนใส่คนอื่นไปทั่ว แต่ไม่สามารถกัดหรือทำร้ายคนต้นเหตุได้ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีอำนาจมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้นั่นเอง 

ศาสตราจารย์จอง แจซึง อธิบายอีกว่า ในสมองของคนเราจะมีบริเวณหนึ่งที่มีหน้าที่ทำให้เรานึกถึงตัวเองและมีสัญชาตญาณเอาตัวรอด แต่ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้นก็มี สมองอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เรานึกถึงคนอื่นอยู่ด้วยเหมือนกัน ส่งผลให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจอยู่ในระดับเดียวกันกับคนในครอบครัว แฟน พ่อแม่ ลูก ฯลฯ ซึ่งในบางครั้งเราก็รู้สึกว่าอยากจะควบคุมพวกเขา เหมือนกับที่เรามักควบคุมตัวเองในบางเรื่อง เมื่อคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัวทำอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ เราจะรู้สึกโกรธเขาได้ง่ายๆ

ยกตัวอย่างเช่น เราและแฟนชอบดื่มน้ำอัดลมมากๆ เมื่อวันหนึ่งเรารู้ว่าหากดื่มมากไปอาจไม่ดีต่อสุขภาพ เมื่อนั้นเราจึงหยุด แต่ในขณะเดียวกันแฟนของเรากลับยังดื่มน้ำอัดลมต่อไปแม้ว่าเราจะเตือนแล้วก็ตาม นั่นทำให้เราโมโหได้ง่าย จนเผลอไปออกคำสั่งให้แฟนเลิกดื่มน้ำอัดลมซะ นี่ถือเป็นการควบคุมคนใกล้ตัวของเราโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มีเรื่องของ “ความรัก” ซ่อนตัวอยู่ หมายความว่า เรารักเขาเสมือนว่ารักตัวเองนั่นเอง 

 

  • ควบคุมอารมณ์ได้ = ควบคุมชีวิตได้จริงหรือ?

เมื่อเราทราบถึงกลไกการทำงานของสมองบางส่วนไปบ้างแล้ว เราอาจเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น และหากเรารู้สึกว่าเรามีอำนาจไม่มากพอในที่ทำงาน หรือในเวลาที่กำลังโกรธสุดๆ แต่ก็ไม่อยากเอาความโกรธเหล่านั้นไปลงกับคนในครอบครัว ลองทำตามคำแนะนำเบื้องต้นต่อไปนี้ เพื่อลดอารมณ์โมโหร้ายให้น้อยลงไม่ให้กระทบกับความรู้สึกของคนในครอบครัว

1. นับถอยหลัง : อาจเริ่มต้นด้วยการนับ 1-100 ไปเรื่อยๆ เพราะช่วงเวลาที่เรานับอยู่นั้น จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และคลื่นพายุของความโกรธก็จะค่อยๆ สงบลงเอง

2. หายใจเข้าลึกๆ : เนื่องจากการหายใจของคนเราจะทำงานเร็วขึ้นและตื้นขึ้นเวลาที่กำลังโกรธ ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกโกรธ ให้ลองทำสิ่งที่ตรงกันข้าม ด้วยการหายใจเข้าอย่างช้าๆ ลึกๆ เพื่อให้อัตราการหายใจช้าลงและคงที่

3. ยืดเส้นยืดสาย : การผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการหมุนคอและหมุนไหล่  จะช่วยให้เราสามารถควบคุมร่างกายได้เป็นอย่างดี และถือเป็นการควบคุมอารมณ์ให้คงที่และสงบนิ่งไปในตัว 

4. ปล่อยวางคำพูดลงบ้าง : เมื่อเรารู้โกรธใครสักคนหนึ่งในที่ทำงาน เราอาจเผลอปล่อยคำพูดที่รุนแรงออกไป และสิ่งนี้มีผลเสียที่ตามมาเสมอ ในสถานการณ์นี้เราอาจลองเม้มริมฝีปากของเราให้ปิดสนิท จะทำให้เราพอจะมีเวลาในการควบคุมอารมณ์ได้ไม่มากก็น้อย

5. เขียนระบายความรู้สึก : ในบางครั้งเราอาจมีเรื่องโกรธแค้นภายในใจ ที่ไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ การเขียนระบายสิ่งเหล่านั้นออกมาผ่านตัวอักษร ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อาจช่วยให้เราทำความเข้าใจความรู้สึกของเราได้ใหม่อีกครั้ง

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมของความคิดที่ว่า การเติบโตในแต่ละห้วงเวลาของคนเรา เป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะพบเจอกับสิ่งที่ไม่สามารถจัดการได้ นั่นก็เพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกเรื่องบนโลกใบนี้ได้  หากกำลังเผชิญหน้ากับเรื่องยากๆ ลองค่อยๆ หาหนทางที่เหมาะสมเพื่อผ่านมันไปให้ได้ หากมันยากเกินกว่าที่เราจะจัดการไหวก็ไม่เป็นไร เพียงแค่ปล่อยวางมันให้เป็นก็พอ 

---------------------------------------------

อ้างอิง : Psychologytoday1Psychologytoday2, Healthline