เรียกให้ถูก! “10 ขนม” ที่คนไทย มักเรียกสลับกัน

เรียกให้ถูก! “10 ขนม” ที่คนไทย มักเรียกสลับกัน

เปิดลิสต์ “ขนม” ที่คนไทยเรียกชื่อสลับกัน ไม่ว่าจะเป็น “ปาท่องโก๋” “เอแคลร์” “จ่ามงกุฎ” ทั้งที่มันคือชื่อขนมชนิดอื่นที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงขนมที่มีลักษณะคล้ายนกันอย่าง “รังผึ้ง” และ “วาฟเฟิล” อีกทั้ง “ปุยฝ้าย” และ “ถ้วยฟู” แต่ละอย่างเป็นไรหาคำตอบได้ที่นี่

สัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกทวิตเตอร์พูดคุยกันถึงขนม “วาฟเฟิล” และ “รังผึ้ง” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะมีหลายคนที่เรียกรังผึ้งเป็นวาฟเฟิล และเรียกวาฟเฟิลเป็นรังผึ้ง หรือไม่ก็เหมารวมไปเลยว่าขนมรูปร่างนี้ทั้งหมดคือวาฟเฟิล 

ความจริงแล้ว ขนมทั้ง 2 อย่างนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ และไม่ได้มีเพียงแค่ขนม 2 ชนิดนี้เท่านั้นที่มีลักษณะคล้ายกัน ตลอดจนขนมบางชนิดยังถูกเรียกเป็นขนมชนิดอื่นไปก็มี  กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวม 10 ขนมที่คนไทยมักจะเรียกผิดๆ ถูกๆ แล้วสรุปว่าขนมหน้าตาแบบนี้ เรียกว่าอะไรกันแน่? 

 

เอแคลร์ vs ชูครีม

เริ่มกันที่ขนมสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง “เอแคลร์” (Éclair) และ “ชูครีม” (Choux Cream) ที่ทำมาจากแป้งชูเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วขนมทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวกลับมีรูปทรงที่แตกต่างกัน โดยขนมรูปทรงก้อนกลม ๆ แล้วมีไส้ต่าง ๆ สอดไส้อยู่ข้างในที่คนไทย (ส่วนใหญ่) เรียกว่า เอแคลร์นั้น แท้จริงแล้วมันคือ ชูครีม หรือ พรอฟีทรอล (Profiterole) ขณะที่ในสหรัฐจะเรียกว่า ครีมพัฟ (cream puff

นอกจากนี้ ชาวฝรั่งเศสยังเอาชูครีมไปทำเป็นขนม “ครอก็องบุช” (Croquembouche) ซึ่งเป็นการเอาชูครีมมาประกอบกันเป็นทรงสูงคล้ายต้นคริสต์มาส จากนั้นพันรอบ ๆ ด้วยน้ำตาลเคี่ยวที่ทำเป็นเส้นบาง ๆ และมักจะตกแต่งด้วยช็อกโกแลต ผลไม้ ซึ่งมักเสิร์ฟเป็นของหวานในพิธีแต่งงาน พิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน และพิธีรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

ขณะที่ เอแคลร์ ตัวจริงนั้น เป็นขนมรูปร่างยาวรีแล้วสอดไส้ต่าง ๆ เหมือนชูครีม แล้วราดซอสช็อกโกแลต น้ำตาลไอซิ่ง หรือซอสต่าง ๆ ด้านบนขนม แต่หากราดด้วยคาราเมล จะมีชื่อเฉพาะเรียกว่า “บาตงเดอฌากอบ” (bâton de Jacob) โดยชื่อเอแคลร์นี้ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า สายฟ้าแลบ เนื่องจากขนมชนิดนี้ถูกกินหมดอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา

ปาท่องโก๋ vs อิ่วจาก้วย

ขนมแป้งทอดที่ติดกันเป็นคู่ มักกินกับโจ๊ก น้ำเต้าหู้ จิ้มกับนมข้นหวาน หรือจะกินเปล่า ๆ ก็อร่อย ที่เราเรียกกันติดปากว่า “ปาท่องโก๋” นั้น แท้จริงแล้ว ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “โหยวเถียว” (油條) ส่วนในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “อิ่วจาก้วย” (油炸鬼) ที่แปลว่า ขนมทอดน้ำมัน

สำหรับที่มาของขนมอิ่วจาก้วยนั้น ว่ากันว่า ในรัชสมัยพระเจ้าเกาจง แห่งราชวงศ์ซ่ง ประชาชนต่างโกรธแค้นที่อัครเสนาบดีได้ฆ่าทหารยอดฝีมือ จึงได้ปั้นแป้งเป็นรูปสองคนติดกันเพื่อเป็นตัวแทนของเสนาบดีผู้นั้นและภรรยา แล้วนำมากินเพื่อให้หายแค้น

แล้วปาท่องโก๋มาจากไหน? มีเรื่องเล่ากันว่าเดิมทีแล้ว มีคนขายอิ่วจาก้วยและขนมสีขาว ทำจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลทรายขาว เรียกว่า “ไป๋ถังกั่ว” (白糖糕) ซึ่งเพี้ยนเสียงจนเป็น “ปาท่องโก๋” ในที่สุด ซึ่งเวลาขายนั้น คนขายอาจจะเรียกปาท่องโก๋ก่อน แล้วคนซื้อก็จำได้แค่นั้นเลยคิดว่าอิ่วจาก้วยเป็นปาท่องโก๋ ยิ่งไปกว่านั้น ปาท่องโก๋ของจริงกลับไม่เป็นที่นิยมจนต้องเลิกขายไป คนไทยเลยยิ่งเข้าใจว่าอิ่วจาก้วยเป็นปาท่องโก๋ไปโดยปริยาย

แม้ว่า ปาท่องโก๋ (หรือ อิ่วจาก้วย) จะมีต้นตำรับอยู่ที่จีน แต่ก็เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน

จ่ามงกุฎ vs ดาราทอง

มาถึงขนมไทยกันบ้าง อีกหนึ่งคู่ขนมที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด นั่นคือ “จ่ามงกุฎ” และ “ดาราทอง” ซึ่งตามความหมายจากราชบัณฑิตยสถานได้ระบุไว้ว่า จ่ามงกุฏ คือ ขนมที่มีลักษณะคล้ายกะละแมสีขาว ไม่ใส่สี ทำจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวเหนียวนวดผสมกับแป้งถั่วเขียว นำไปกวนกับกะทิและน้ำตาลทรายขาวจนเหนียว โรยเมล็ดถั่วลิสงคั่วซอยหรือเมล็ดแตงโมกะเทาะเปลือกเป็นไส้ในตัวขนม จากนั้นตัดขนมเป็นก้อนพอคำ ห่อด้วยตองกล้วยเพสลาด (ใบตองที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป) ที่นาบไว้แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารที่พบในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 อีกด้วย

ขณะที่ ดาราทอง นั้นเป็นการนำ “ทองเอก” มาปั้นเป็นทรงกลมแป้นเล็กน้อย บากให้เป็นร่อง ๆ คล้ายผลมะยมหรือผลฟักทอง แล้วนำไปวางบนจานแป้งเล็ก ๆ ที่ติดขอบด้วยเมล็ดแตงโมกวาดน้ำเชื่อม (กวาดให้น้ำตาลแห้งเกาะเมล็ดเป็นหนาม) จากนั้นประดับยอดด้วยแผ่นทองคำเปลวที่กินได้ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ทองเอกกระจัง”  

ส่วนสาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าดาราทองคือจ่ามงกุฎนั้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2520 ที่มีตำราขนมเล่มหนึ่งได้ตีพิมพ์ชื่อขนมผิดพลาด และตำราเล่มนั้นได้กลายเป็นแม่แบบให้ตำราเล่มอื่น ๆ ในเวลาต่อมา จึงทำให้คนเข้าใจว่าดาราทองคือจ่ามงกุฎนั่นเอง

 

รังผึ้ง vs วาฟเฟิล

รังผึ้ง” และ “วาฟเฟิล” เป็นขนมที่มักจะถูกเหมารวมว่าเป็นขนมชนิดเดียวกัน เนื่องจากทั้งคู่มีรูปทรงที่เหมือนกันมาก ซึ่งอาจจะเป็นแผ่นกลมหรือสี่เหลี่ยมในลักษณะเป็นลายตาราง แต่แท้จริงแล้วขนมทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเนื้อแป้ง

สำหรับ รังผึ้ง ถือว่าเป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง มีกะทิเป็นส่วนผสมของแป้งด้วย ทำให้เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้ง และมักจะใส่ข้าวโพด ลูกเกด หรือธัญพืชอื่น ๆ ลงไปในเนื้อขนมด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติและเนื้อสัมผัส ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ขนมมีลักษณะเหมือนรังผึ้ง ที่มีตัวผึ้งอยู่ในรังด้วยนั่นเอง

ขณะที่วาฟเฟิลเป็นขนมที่มีมาตั้งแต่ในช่วงยุคกลาง และคำว่าวาฟเฟิลปรากฏในภาษาอังกฤษครั้งแรก เมื่อปี 2268 ในหนังสือ “Court Cookert” ของ “โรเบิร์ต สมิทธิ์” และได้แพร่หลายจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลก โดยวาฟเฟิลนี้สามารถทำได้ทั้งของคาวและของหวาน ซึ่งสามารถนำไก่ทอดไปจนถึงไอศกรีมมาเป็นท็อปปิ้งได้เช่นกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็มีสูตรเป็นของตนเอง ส่วนวาฟเฟิลที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทย คือ ครอฟเฟิล ใช้เนื้อแป้งของครัวซ็องมาทำเป็นวาฟเฟิล

อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่ารังผึ้งอาจจะดัดแปลงมาจากวาฟเฟิลของชาติตะวันตกก็เป็นได้ โดยเพิ่มกะทิเข้าไป นอกจากนี้ วาฟเฟิล (waffle) มาจากภาษาดัชท์ว่า wafel ที่แปลว่า รังผึ้งเช่นเดียวกัน

 

ปุยฝ้าย vs ถ้วยฟู

ปิดท้ายด้วยขนมในงานมงคลอย่าง “ปุยฝ้าย” และ “ถ้วยฟู” แม้จะมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่เนื้อสัมผัสและที่มานั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับปุยฝ้ายนั้น เป็นขนมมงคลที่ใช้ในเทศกาลต่าง ๆ ส่วนมากนิยมใช้แป้งสาลีในการทำ มีเนื้อสัมผัสบางเบาสมกับชื่อปุยฝ้าย โดยผิวด้านบนจะแตกเป็นแฉก ลักษณะคล้ายกับกลีบดอกฝ้าย มีเนื้อเนียนละเอียดคล้ายกับขนมเค้ก แต่เมื่อกินจะฝืดคอเล็กน้อย นิยมใส่กระทงหรือถ้วยกระดาษที่มีทั้งแบบชิ้นเล็กและชิ้นใหญ่ นิยมแต่งกลิ่นให้เป็นกลิ่นมะลิหรือนมแมว

ส่วนขนมถ้วยฟู เป็นขนมจากจีนมีชื่อว่า ฮวดโก้ย (發粿) นิยมใช้ในงานมงคลเช่นเดียวกับขนมปุยฝ้าย จะใช้แป้งข้าวเจ้าผสมกับเชื้อหมักแป้ง ทำให้มีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่มคล้ายขนมตาล หน้าขนมจะแตกเป็นแฉกเล็กน้อยขณะนึ่ง มีการแต่งกลิ่นมะลิเพื่อดับกลิ่นของเชื้อหมัก ส่วนมากจะทำตัวขนมออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ 

ทั้งนี้สีของขนมถ้วยฟูจะใช้ต่างกันในแต่ละพิธี ถ้าใช้ในการไหว้เจ้าหรืองานพิธีมงคล นิยมใช้สีชมพู แต่ในพิธีการแต่งงานจะมีสีแดงด้วย ส่วนการไหว้บรรพบุรุษและงานอวมงคลนิยมใช้สีขาวล้วน แต่ในปัจจุบันมีการใช้สีผสมอาหารทำให้ขนมถ้วยฟูมีสีสันที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมี ขนมสาลี่ ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยพัฒนามาจากขนมถ้วยฟู แต่ทำมาจากแป้งสาลี โดยผิวด้านบนจะมีลักษณะเรียบไม่แตกเป็นแฉก เนื้อสัมผัสจะละเอียด แน่น นุ่ม และหอมกว่าขนมถ้วยฟู และมีหลากหลายรสชาติและกลิ่น เช่น ใบเตย มะลิ กาแฟ เป็นต้น

 

ที่มา: NPR, Retty, The Spruce Eats, The Waffle SupplyULifeStyle, Way Magazine
 

กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา

เรียกให้ถูก! “10 ขนม” ที่คนไทย มักเรียกสลับกัน