ต่างชาติอวยยศ 'ไทย' อยู่สบาย จ่ายแค่ปีละล้าน

ต่างชาติอวยยศ 'ไทย' อยู่สบาย จ่ายแค่ปีละล้าน

ผลวิจัยเผยความเห็นชาวต่างชาติ ระบุใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างสะดวกสบายและมีความสุข ด้วยเงินเพียงหนึ่งล้านบาทต่อปี แต่ "คนไทย" ส่วนใหญ่กลับมีเงินติดบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา International Living นิตยสารเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จัดให้ "ไทย" อยู่ในอันดับที่ 9 ประเทศที่น่าอยู่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณ และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติดการจัดอันดับนี้ โดยนิตยสารระบุว่าประเทศไทยมีค่าครองชีพต่ำ มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งทางธรรมชาติและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นน่าค้นหาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน 

อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่เป็นสองรองใคร ไม่ได้มีดีเฉพาะอาหารไทยแต่ยังเป็นศูนย์รวมของอาหารนานาชาติ อากาศก็ดีทั้งปี แถมมีระบบสาธารณสุขดี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการการรักษาแบบประคับประคอง คนในประเทศสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ อีกทั้งชาวต่างชาติยังสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายและราคาถูก เดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ ได้ง่าย

นอกจากนี้ ไทยยังมีวีซ่าเกษียณอายุ (Non-Immigrant O-A) สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอายุมากกว่า 50 ปีอีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงทำให้ไทยเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวจะเลือกมาใช้ชีวิตบั้นปลาย โดยเฉพาะชาวอเมริกัน อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส และสวิส 

นิตยสารดังกล่าวระบุว่า นักท่องเที่ยวสามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในประเทศไทยได้ด้วยเงินเพียง 2,500 ดอลลาร์ต่อเดือน (89,000 บาท) หรือ เพียง 30,000 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น (1,070,000 บาท)

  • อยู่ไทยสบาย ๆ แค่ปีละล้าน

ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับการวิเคราะห์ของ S Money ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่หาระดับรายได้ที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขในการดำรงชีพของแต่ละประเทศ โดยพบว่าต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยปีละ 36,745 ดอลลาร์ (1,310,000 บาท) เพื่ออยู่ในประเทศไทยอย่างสบาย ๆ

หากแยกเป็นตัวเลขรายจังหวัดที่ชาวต่างชาตินิยมไปอยู่อาศัยจะพบว่า หากใช้ชีวิตอยู่ใน “กรุงเทพฯ” จะต้องใช้เงิน 44,961 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 1,600,000 บาท) ขณะที่ “ภูเก็ต” อยู่ที่ 37,919 ดอลลาร์ต่อปี (1,350,000 บาท) ส่วน “ชลบุรี” (พัทยา) จะต้องมีเงิน 35,571 ดอลลาร์ต่อปี (1,270,000 บาท) และ “เชียงใหม่” ใช้เงิน 34,036 ดอลลาร์ต่อปี (1,214,000 บาท) ถึงจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ด้วยเงินเพียงเท่านี้ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถมาใช้ชีวิตในประเทศไทยอย่างสะดวกสบาย แต่สำหรับคนไทยแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินล้าน

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า บัญชีเงินฝากทุกประเภทของคนไทยมีจำนวนทั้งหมด 120.83 ล้านบัญชี ซึ่งมีจำนวนบัญชีเพิ่มมากขึ้น และมียอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 15.92 ล้านล้านบาท แต่หากเจาะดูในรายละเอียดพบว่า บัญชีเงินฝากของคนไทยกว่า 106.62 ล้านบัญชี หรือ 88.3%  มีเงินฝากเงินไม่ถึง 50,000 บาทเท่านั้น ส่วนคนไทยที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้าน ไปจนถึง 500 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 1,891,070 บัญชีเท่านั้น 

สำหรับกลุ่มที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท เป็นกลุ่มมีที่ยอดเงินฝากรวมสูงสุด รวมอยู่ที่ 4.23 ล้านล้านบาท ซึ่งเจ้าของบัญชีส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงานและมีเงินเก็บมาสักระยะหนึ่ง

แสดงให้ว่า "คนไทย" อาจไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในประเทศของตนเองได้ด้วยซ้ำ และต่อให้มีเงินล้าน ก็อาจไม่พอสำหรับใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายหลังเกษียณ

จากงานวิจัย “การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย” พบว่า คนผู้สูงวัยในไทยมีเงินออมไม่เพียงพอถึง 47% ขณะที่มากกว่า 40% มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพวัยเกษียณ นอกจากนี้มากกว่า 50% ยังคงต้องใช้จ่ายเพื่อดูแลลูกหลานหรือญาติ และผู้สูงอายุ 52.88% ยังคงมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่าย

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ว่า มีปัจจัยมากมายที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้ ทั้งค่าเลี้ยงดูบุตรและบุพการี รวมไปถึงปัญหาสุขภาพ ค่าครองชีพ หรือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการพื้นฐาน ควบคู่กับรายได้ที่เพียงพอในระว่างการทำงาน 

 

  • เงินซื้อความสุขได้

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู เมื่อปี 2018 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของเงินที่ต้องใช้ในแต่ละปีเพื่อให้ชีวิตได้อย่างมีความสุขทั่วโลกอยู่ที่ราว 60,000-75,000 ดอลลาร์ นักวิจัยเชื่อว่าข้อมูลนี้สามารถช่วยให้พนักงานสามารถประเมินค่านิยมและขวนขวายให้ได้มาซึ่งการใช้ชีวิตที่สุขสบาย และให้นายจ้างใช้ประเมินค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแก่ลูกจ้าง ตลอดจนให้รัฐบาลออกกฎหมายที่ให้ประชาชนได้ค่าแรงที่สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะเราต่างรู้ดีว่า “เงินซื้อความสุขได้

แมธธิว คิลลิงวอร์ธ นักวิจัยอาวุโสจาก Penn’s Wharton School กล่าวว่า ความสุขกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กันโดยตรง เมื่อมีเงินเพิ่มมากขึ้น ก็มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้น เห็นได้จากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนที่ไม่มีเงินเก็บหรือต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน จำเป็นต้องแสวงหาวิธีต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปให้ได้ แม้จะเป็นงานที่ไม่อยากทำก็ต้องทำ

ต่างจากคนที่มีเงินเก็บ มีเงินเดือนสูงที่สามารถอยู่รอดได้มากกว่า สามารถสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรีได้ทุกมื้อ กักตัวอยู่บ้านได้โดยไม่ต้องพะวงว่าจะไม่มีเงินใช้ 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่จะใช้เงินเป็นเครื่องวัดความพึงพอใจในชีวิตและสะท้อนความสุขในการดำเนินชีวิต


ที่มา: International LivingPurdue UniversityS MoneyThe Hill