พนักงาน 'Burnout' จนลาออก บริษัทอาจเสียค่าใช้จ่าย 1.5-2 เท่าของเงินเดือน

พนักงาน 'Burnout' จนลาออก บริษัทอาจเสียค่าใช้จ่าย 1.5-2 เท่าของเงินเดือน

เมื่อ "ภาวะหมดไฟ" หรือ "Burnout" ของพนักงานกำลังกลืนกินงบประมาณบริษัท ยิ่งพนักงานหมดไฟจนลาออกบ่อยๆ บริษัทก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูง นี่ไม่ใช่ความผิดของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ต้องหาทางออกร่วมกัน

Key Points: 

  • ภาวะหมดไฟในหมู่พนักงานทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของนายจ้างเพิ่มขึ้น และกระทบต่องบประมาณของบริษัทในภาพรวม
  • เมื่อพนักงานหมดไฟก็ส่งผลให้ลาออกง่ายขึ้น และส่งผลเสียต่อ "ผลกำไรของบริษัท" โดยพนักงานลาออก 1 คน บริษัทจะเสียค่าใช้จ่ายถึง 1.5 - 2 เท่าของเงินเดือนพนักงานรายนั้นๆ
  • การวิเคราะห์ของ CDC ชี้ว่า การนำโปรแกรมด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมาใช้กับพนักงานในบริษัท (ก่อนที่พนักงานจะเกิดภาวะหมดไฟ) จะสามารถช่วยให้นายจ้างประหยัดทั้งค่ารักษาพยาบาลและเวลาการขาดงานได้ถึง 25%

"ความเหนื่อยหน่ายของพนักงาน หรือ Burnout เป็นปรากฏการณ์ของมนุษย์ออฟฟิศที่แผ่ขยายไปหลายบริษัททั่วโลก ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีรายงานว่า "วัยทำงาน" เผชิญกับภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้น นายจ้างสังเกตเห็นอาการเหนื่อยหน่ายในหมู่พนักงานมากขึ้น โดยมาในรูปแบบของความเหนื่อยล้าทางจิตใจ เครียด ขาดแรงจูงใจ ขาดการเชื่อมต่อ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ภาวะความเหนื่อยหน่ายในหมู่พนักงานเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจมาจากการทำงานหนักเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงการละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเองเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ทำให้ "ค่ารักษาพยาบาล" ของนายจ้างเพิ่มขึ้น และกระทบต่องบประมาณของบริษัท

 

  • ภาวะหมดไฟของพนักงาน ส่งผลกระทบต่อ "กำไรของบริษัท"

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ว่า "ความเหนื่อยหน่าย" หรือ "ภาวะหมดไฟ" เป็นผลมาจากความเครียดในที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการจัดการแก้ไข พนักงานที่หมดไฟมักจะรู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง และอยู่ห่างจากงานของตน พวกเขามีแนวโน้มที่จะลาป่วยมากขึ้น และมีประสิทธิผลน้อยลงเมื่ออยู่ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ "ลาออก" จากตำแหน่งปัจจุบันได้ง่าย ที่แย่กว่านั้นคือ พวกเขามีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาว

ข้อมูลจาก Whoop Unite รายงานว่า ผลที่ตามมาจากความเหนื่อยหน่ายของพนักงาน กำลังส่งผลเสียต่อ "ผลกำไรของบริษัท" โดยนายจ้างอาจต้องรับมือกับผลเสียต่างๆ ที่อาจตามมา หากพนักงานในองค์กรเกิดภาวะหมดไฟจนลาออกบ่อยๆ และต่อยอดไปถึงผลเสียในภาพรวมของเศรษฐกิจ ดังนี้ 

- การลาออกของพนักงาน 1 คน อาจทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายถึง 1.5-2 เท่าของเงินเดือนพนักงานรายนั้นๆ
- การสูญเสียผลิตภาพของคนทำงานจากโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง1 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี 
- ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่นายจ้างสนับสนุนให้แก่พนักงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น 9.7% ระหว่างปี 2019 ถึง 2021 จากประมาณ 13,209 ดอลลาร์เป็น 14,542 ดอลลาร์ต่อพนักงาน 1 คน
- พนักงานที่มีภาวะเรื้อรังนายจ้างจะยิ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น 2.5 เท่า สำหรับพนักงานที่มีอาการป่วยเรื้อรัง 1 อาการ (เพิ่มขึ้นจาก 3,603 ดอลลาร์เป็น 8,921 ดอลลาร์ต่อคน) และมากกว่า 5 เท่าสำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 2 อาการขึ้นไป (20,257 ดอลลาร์ต่อคน)

 

  • ความเหนื่อยหน่ายของพนักงานเป็น "ต้นทุน" ที่บริษัทต้องแบกรับ

ขณะที่งานวิจัยจาก Gall Up บริษัทด้านการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาผู้นำองค์กรระดับโลก ได้สำรวจและศึกษากลุ่มตัวอย่างพนักงานเต็มเวลาเกือบ 7,500 คนในสหรัฐอเมริกา (ณ มิ.ย. 2022) ก็มีรายงานไปในทิศทางเดียวกันคือ วัยทำงานจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างกำลังประสบปัญหาภาวะหมดไฟ โดยแบ่งเป็น 23% ของกลุ่มตัวอย่างรายงานว่ารู้สึกหมดไฟในที่ทำงานบ่อยมากหรือทุกครั้ง ในขณะที่อีก 44% รายงานว่ารู้สึกหมดไฟบ้างในบางครั้ง

แน่นอนว่าข้อเสียของ "ภาวะหมดไฟ" ในที่ทำงานคือ ทำให้พนักงานมีสุขภาพจิตแย่ลง แต่นั่นไม่ใช่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว ผลกระทบที่ต่อเนื่องจากภาวะ Burnout ของพนักงานยังนำไปสู่ "ต้นทุน" ที่บริษัทอาจรับมือไม่ไหวอีกต่อไป ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ พบว่ามีหลายบริษัทขาดความใส่ใจต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และไม่เต็มใจที่จะหยุดความเหนื่อยหน่ายที่เกิดขึ้น ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่อาจทำให้ธุรกิจล่มสลายได้

เมื่อความเหนื่อยหน่ายของพนักงานเป็น "ต้นทุน" ที่บริษัทต้องแบกรับ
ภาวะหมดไฟของพนักงานสามารถเพิ่มผลกระทบเชิงลบต่อองค์กรได้อย่างรวดเร็ว สำหรับนายจ้าง "ต้นทุน" ของภาวะเหนื่อยหน่ายที่เกิดกับพนักงานในบริษัท ก็คือ "ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล" รวมไปถึงต้นทุนอันเนื่องจากการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน และต้นทุนของการจ้างงานใหม่เนื่องจากการลาออก ยกตัวอย่างเช่น

1. ต้นทุนการลาออกของพนักงาน: หากพนักงานลาออก 1 คน บริษัทจะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 50-65% ของเงินเดือนพนักงาน เพื่อใช้ในกระบวนการ Turn Over พนักงานในบริษัท

2. ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ: บริษัทที่มีแรงกดดันสูง จะมีต้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าองค์กรอื่นถึง 50% ในสหรัฐพบว่าบริษัทต่างๆ มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพพนักงานรวมแล้วมากเกือบ 190,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี 

3. ต้นทุนการสูญเสียความสามารถในการผลิต: ความเครียดของพนักงานทำให้พวกเขา "ลางาน" บ่อยขึ้น ส่งผลให้บริษัทสูญเสียวันทำงานถึง 550 ล้านวันต่อปี และ WHO ประมาณการว่าส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตสูญเสียไป 1 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี 

นอกจากนี้ ภาวะความเหนื่อยหน่ายในการทำงานยังทำให้พนักงานบางคนถูกเลิกจ้าง (บริษัทจ้างให้ออก) ซึ่งทำให้นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่าย/ค่าชดเชย โดยเฉลี่ย 34% ของเงินเดือนประจำปี

 

  • ทางออกที่ดีที่สุดคือ "บริษัท" ต้องป้องกันไม่ให้พนักงานหมดไฟดีกว่าแก้ไขทีหลัง

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่าผลกระทบด้านค่าใช้จ่าย (เนื่องมาจากพนักงานเกิดภาวะหมดไฟ) ที่บริษัทต้องแบกรับเหล่านี้ ไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนน้อยๆ เลย ทางที่ดีบริษัทหรือนายจ้างควรหาทางป้องกันไว้ดีกว่าแก้ 

โดยข้อมูลการวิเคราะห์ของ CDC (องค์กรสุขภาพระดับชาติของสหรัฐ) แสดงให้เห็นว่า การนำโปรแกรมด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมาใช้กับพนักงานในบริษัท จะสามารถช่วยให้นายจ้างประหยัดทั้งค่ารักษาพยาบาลและเวลาการขาดงานได้ถึง 25% ทั้งยังช่วยให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี เกิดการสร้างนิสัยให้รักสุขภาพอย่างยั่งยืน ในระยะยาวจะช่วยบริษัทลดต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำสำหรับนายจ้างนำไปใช้เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานในบริษัทเกิด "ความเหนื่อยหน่าย" หรือ "ภาวะหมดไฟ" โดยมีสองสามข้อที่สามารถทำได้ ดังนี้ 

1. ยอมรับว่าบริษัทมีปัญหาอยู่จริง: บริษัทที่มีพนักงานเกิดภาวะหมดไฟจนลาออกบ่อยๆ ควรรับรู้ว่าตอนนี้องค์กรมีปัญหาอยู่จริง โดย 36% ของคนทำงานระบุว่า องค์กรของตนไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยป้องกันความเหนื่อยหน่ายของพนักงานได้ การลดความเหนื่อยหน่ายนั้นจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารทั้งจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน

2. หาวิธีการจัดการที่ดีขึ้น: ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องใส่ใจกับภาวะหมดไฟของพนักงานในบริษัท เนื่องจากการตัดสินใจที่ไม่ดีของฝ่ายบริหาร อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราความเหนื่อยหน่ายของพนังงาน ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการแสดงความรับผิดชอบอย่างมากในการป้องกันภาวะหมดไฟ ดังนั้นความตระหนักรู้และการศึกษาถึงปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

3. ชี้แจงบทบาทการทำงานให้ชัดเจน: ตามรายงานของ Gallup พบว่ามีเพียง 60% ของพนักงานเท่านั้น ที่รู้และมั่นใจว่าบทบาทหน้าที่ของตนเองคืออะไร และบริษัทคาดหวังอะไรจากพวกเขา ที่เหลืออีก 40% อนุมานได้ว่าพวกเขาขาดการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ดังนั้น บริษัทต้องชี้แจงความคาดหวังและความรับผิดชอบต่อพนักงานอย่างชัดเจน มิฉะนั้น พนักงานอาจหมดแรงจากการคาดเดาว่าใครต้องรับผิดชอบอะไร

นอกจากนี้ บริษัทก็ควรให้หัวทีมแต่ละทีมใส่ใจดูแลเกี่ยวกับ "ปริมาณงานที่เหมาะสมกับเวลาที่มี" เพราะการจัดการปริมาณงานและเวลาถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันภาวะเหนื่อยหน่าย พนักงานจะเกิดภาวะหมดไฟน้อยลง 70% เมื่อพวกเขามีเวลาเพียงพอในการทำงานทั้งหมด

อีกทั้งพนักงานที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้จัดการของตนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะเหนื่อยหน่ายมากกว่า 70% ดังนั้นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและชัดเจนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการกำจัดความเหนื่อยหน่ายในทันที 

----------------------------------------

อ้างอิง : InsightfulWhoopuniteBuiltin