“Cleanfluencer” วิดีโอทำความสะอาดสุดฮิต ได้เทคนิค แถมช่วยสมองผ่อนคลาย

“Cleanfluencer” วิดีโอทำความสะอาดสุดฮิต ได้เทคนิค แถมช่วยสมองผ่อนคลาย

“วิดีโอทำความสะอาดบ้าน” ของเหล่า “Cleanfluencer” กลายเป็นเทรนด์ฮิตในปัจจุบัน นอกจากจะได้ทริคดี ๆ ในการทำความสะอาดบ้านแล้ว ยังช่วยให้จิตใจสงบ สมองผ่อนคลาย

Key Points:

  • เทรนด์การชมวิดีโอทำความสะอาด ที่เป็นคอนเทนต์หลักของเหล่า Cleanfluencer กำลังมาแรงในโลกโซเชียล เพราะวิดีโอเหล่านี้ช่วยให้สมองผ่อนคลายและบำบัดความเครียด
  • ผู้คนตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้สารเคมี ทำให้เกิดเทรนด์อีโคคลีนนิง ที่เป็นการทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • จนหลายครั้งอีโคคลีนนิงกลายเป็นเครื่องมือของการฟอกเขียว หรือ Greenwashing

 

ความว้าวุ่นใจ ความเครียดในการดำเนินชีวิตถาโถมเข้ามาใส่มนุษย์เราไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ผู้คนต่างต้องหาตัวช่วยที่ทำให้หายเครียด หลีกหนีจากความวุ่นวาย โดยหนึ่งในวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ การชมวิดีโอที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสงบสุข ซึ่งวิดีโอที่กำลังได้รับความนิยม คือ วิดีโอทำความสะอาดบ้าน ของเหล่า “Cleanfluencer

Cleanfluencer (คลีนฟลูเอนเซอร์) มาจากการนำว่า Clean (ความสะอาด) และ Influencer (ผู้มีอิทธิพล) รวมกัน ดังนั้นคำนี้จึงแปลว่า “กูรูด้านทำความสะอาด” ซึ่งพวกเขามักจะแชร์เทคนิคการทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้าน ลงในช่องทางออนไลน์ทั้ง Instagram และ TikTok 

คลิปทำความสะอาดเหล่านี้นอกจากจะทำให้ผู้ชมผ่อนคลายแล้ว ยังมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างประหลาดใจ หากหลวมตัวเข้าไปดูแล้ว ยากที่จะถอนตัวออกมา สามารถดูได้อย่างเพลิน ๆ วนไปวนมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแฮชแท็ก #cleantok บนแอปพลิเคชัน TikTok มีผู้เข้าชมถึง 73,800 ล้านครั้ง ขณะที่บน Instagram มีโพสต์มากกว่า 8.3 ล้านโพสต์ที่ติดแท็ก #cleaning และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แล้วอะไรคือสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความนิยมของคลิปเหล่านี้? 

แน่นอนว่า เราได้ความรู้และเทคนิคดี ๆ ในการดูคลิปทำความสะอาดบ้านและข้าวของเครื่องใช้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้น คือ ความเพลิดเพลินที่หยุดดูไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีคำตอบทางจิตวิทยา ว่าทำไมเราถึงดูคลิปเหล่านี้ได้ไม่มีเบื่อ ?

ดร.พอล มาร์สเดน นักจิตวิทยาผู้บริโภคและผู้บรรยายจาก มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งลอนดอน ให้ความเห็นว่า “บ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเรา มีความสำคัญเกี่ยวกับสภาพจิตใจ ลักษณะนิสัย และความคิดของเรา ดังนั้นเมื่อทำความสะอาดบ้าน ก็เท่ากับเราทำได้ทำความสะอาดตัวตนของเราเอง และส่งสัญญาณแสดงคุณค่าและความปรารถนาของเราต่อตัวเองและผู้อื่น”

ขณะที่ดร. เฟย์ เบเกติ นักจิตวิทยาระบุว่า “ในแต่ละวันมีข้อมูลที่ซับซ้อนที่สมองต้องประมวลผลจำนวนมาก ทำให้เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าอ่อนล้า ซึ่งมีหลายกิจกรรมที่ช่วยให้สมองได้พักชั่วคราว เช่น ทำความสะอาด เลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ และดูวิดีโอ แล้วยิ่งเมื่อนำ 3 สิ่งมารวมเข้าด้วยกัน สมองยิ่งมีโอกาสฟื้นฟูยิ่งขึ้น” 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เรื่องดูคลิปวิดีโอเหล่านี้สำหรับช่วยทำให้ผ่อนคลาย เพราะดูได้ง่าย ไม่ต้องเสียเงิน แถมยังได้เทคนิคดี ๆ ไปใช้ทำความสะอาดอีกด้วย

  • เทรนด์รักษ์โลกลามไปถึงการทำความสะอาด

ในปัจจุบันผู้คนต่างตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่ง ซึ่งโดยปรกติแล้วผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดบ้านมักจะมีส่วนผสมของสารเคมี ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเลือกใช้วิธีที่ทำความสะอาดบ้านจากวัสดุจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์อีโคคลีนนิง โดย #ecocleaning มีผู้ชมมากกว่า 85.7 ล้านครั้งบน TikTok และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิดีโอประเภทนี้จะแนะนำวิธีการลดใช้สารเคมีในการทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ และแนะนำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ Research and Markets บริษัทวิจัยตลาด ระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีมูลค่าสูงถึง 298,900 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้

เทรนด์การใช้สินค้าทำความสะอาดที่ปลอดสารเคมีและไร้พลาสติกเริ่มมาแรงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต่างกังวลเรื่องความสะอาดจึงใช้พลาสติกในการห่อหุ้มสินค้า

“ตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์เป็นต้นมา ทำให้ผู้คนต่างหงุดหงิดกับปริมาณพลาสติกที่ถูกใช้มากเกินจำเป็น แถมต้องใช้สารเคมีสำหรับทำความสะอาดภายในบ้านมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคจึงหันมองทางเลือกอื่นที่ช่วยลดการใช้สารเคมี พร้อมลดการใช้พลาสติกลง” ลอรา ฮาร์เน็ตต์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปลอดพลาสติก Seep 

 

  • ค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังการทำงานบ้าน

อย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์บางคนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเกาะกระแสอีโคคลีนนิง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฟอกเขียว หรือ Greenwashing ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าแบรนด์มีภาพลักษณ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น แถม Cleanfluencer ยังให้ข้อมูลแบบผิด ๆ เช่น แนะนำให้ใช้สารฟอกขาวผสมน้ำส้มสายชู ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะเกิดก๊าซคลอรีน ทำให้แสบตา จมูก และลำคอ ไปจนถึงหายใจลำบาก แน่นหน้าอก และคลื่นไส้ อาเจียนได้

นอกจากนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า “งานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง” เป็นการทำงานหนักที่ไม่ได้รับค่าจ้างด้วยซ้ำ โดยดร. เอ็มมา เคซีย์ อาจารย์อาวุโสด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยยอร์กชี้ให้เห็นว่า 

“เรามักไม่ค่อยเห็นผู้ชายทำคลิปแนวนี้ แถมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงมักเป็นผู้หญิง จึงทำให้ผู้คนเข้าใจว่าผู้หญิงมีหน้าที่ทำความสะอาดและจัดการบ้านให้เรียบร้อย ซึ่งจริง ๆ แล้วงานบ้านเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ได้จำกัดเพศ”

แม้ว่าอคติทางเพศเกี่ยวกับการทำงานบ้านจะยังคงอยู่ แต่เหล่า Cleanfluencer ได้เปลี่ยน “งานบ้าน” ให้เป็น “การบำบัดความเครียด” ของทั้งตัวผู้ชมและผู้ทำคอนเทนต์เอง ให้อยู่รอดพ้นจากความไม่มั่นคงทางจิตใจที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน

ตัวอย่าง Cleanfluencer ที่เป็นที่รู้จัก

  • Aurika Tariina หญิงสาวชาวฟินแลนด์ที่อาสาทำความสะอาดบ้านของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีผู้ติดตามใน YouTube มากกว่า 2 ล้านคน

 

  • Sophie Hinchliffe หรือที่รู้จักในนาม Mrs. Hinch หนึ่งใน Cleanfluencer ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหราชอาณาจักร มีรายได้ในปี 2022 ราว 2.1 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 89 ล้านบาท

 

  • Hamimommy ช่องของแม่บ้านชาวเกาหลี ที่โพสต์คลิปวิดีโอกิจวัตรทำความสะอาดบ้านของเธอ มีผู้ติดตามใน YouTube มากกว่า 2 ล้านคน


ที่มา: Borneo BulletinCityFinancial TimesTelegraph