40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

เปิดใจ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” นักเขียนและบรรณาธิการมือพระกาฬสะท้อนมุมมองของคนหนังสือที่ผันตัวอยู่ทุกแพลตฟอร์ม แต่จะผ่านไปแค่ไนอย่างไร หากกรีดเลือดออกมาคงมีแต่คำว่าหนังสือ

ประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำมากว่า 40 ปี บนถนนสายหนังสือ ทำให้วันนี้ อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ นักเขียนและบรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือคุณภาพมากมาย ได้รับการการันตีถึงคุณภาพอีกครั้งด้วยรางวัลบรรณาธิการดีเด่น “คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” ประจำปี 2566 รวมถึงได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูนิเซฟให้เป็น Consultancy Professional Editor and Copy Editor ประจำปีนี้ด้วย

กว่าจะมาถึงวันนี้ มนทิราหรือที่คนในวงการเรียกเธอว่า “พี่อ้อย” ผ่านงานด้านหนังสือและวรรณกรรมมาครบทั้งองคาพยพ เธอเริ่มต้นจากการเป็นนักสัมภาษณ์ที่นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ แล้วขยับขยายขึ้นมาเป็นบรรณาธิการแพรวสุดสัปดาห์ในที่สุด นับตั้งแต่นั้นบทบาทบรรณาธิการก็ชัดเจนและเข้มข้นขึ้น

40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

อยู่วงการแมกกาซีนในฐานะบรรณาธิการนานขนาดไหน

“พี่อยู่แพรวสุดสัปดาห์ 16 ปี และไปเป็นบรรณาธิการแต่เป็นเว็บไซต์อีก 5 ปี แล้วก็กลับมาแมกกาซีนอีกทีแต่เป็นหัวแมกกาซีนหัวนอกจากอังกฤษ Woman & Home ก็อยู่อีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ไปทำนู่นทำนี่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะทำหนังสือ เช่น ช่วงโควิด-19 ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็เขียนหนังสือ แล้วก็ขายหนังสือออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียกว่ารักหนังสือรักการเขียนมาโดยตลอด”

ตอนที่อยู่กับแพรวสุดสัปดาห์ อะไรคือจุดเปลี่ยนให้ไปทำอย่างอื่น เช่น ทำเว็บไซต์ที่มีความแตกต่างพอสมควร

“เมื่อเราอยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์นานๆ แล้วตอนนั้นเทคโนโลยีเริ่มมาแล้ว รู้สึกได้ว่าดอทคอมมาแน่ๆ ถ้าไม่กระโดดไปเรียนรู้มัน หรือจับมัน เราจะไม่ทันโลกซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะตอนเข้าไปแกรมมี่ยุคนั้นดอทคอมแรงมาก และทางแกรมมี่เป็นองค์กรที่มีหมุดหมายอยากจะเข้า Nasdaq ตอนนั้นเป็นยุคของเว็บไซต์ เป็นยุคของดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น SMS แล้วก็มีโทรศัพท์ 1900 ฮอทไลน์สายด่วนก็ได้เข้าไปเรียนรู้มาทั้งหมด

ตอนออกมามีแมกกาซีนหลายเล่มมาจีบ แต่เราก็เลือกไปทำเว็บไซต์ คือเลือกไปเรียนรู้ในสื่อใหม่ๆ ตอนนี้ก็เรียนรู้สื่อทุกแขนงหมดเลย แล้วเลือกว่าสื่อแบบไหนเหมาะสมสำหรับทำคอนเทนต์ คือ บรรณาธิการต้องเปลี่ยน สังคมมันเปลี่ยน เทคโนโลยีมันเปลี่ยน บรรณาธิการจะอยู่ได้ ต้องปรับ นั่นก็คือการเรียนรู้”

40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

บรรณาธิการสายไหนที่เป็นตัวเรามากที่สุด

“ก็ต้องบอกว่าหนังสือ พี่ยังเป็นมนุษย์หินฟริ้นสโตน พี่ชอบอ่านที่จับต้องได้ เหมือนเรานัดสัมภาษณ์กับคนเป็นๆ มันเห็นแววตา ทำให้เรามีอารมณ์ร่วม หนังสือก็เป็นเช่นนั้นถ้าเปิดหนังสือเป็นเล่มๆ มันทำให้เราจดจ่ออยู่กับหน้ากระดาษ ได้พลิกกระดาษ ได้เห็นความหยาบหนาของกระดาษ ได้เห็นความพิถีพิถันของคนทำ แต่พอเป็นหน้าจอมันทำให้เราอยู่กับมันได้ไม่นาน มันจะ loss concentration ได้ง่ายมาก

พี่ว่าความเป็นศิลปะ หนังสือมันทำให้พี่ตราตรึงได้มากกว่าในความรู้สึก เด็กๆ อาจจะหัวเราะได้ในยุคนี้ แต่ว่าในสมัยเป็น E-book เป็นอ่านบนหน้าจอทุกอย่างพี่ลองมาหมดแล้วดาวน์โหลดจาก Amazon พี่ค้นพบว่าส่วนตัวยังชอบหนังสือเป็นเล่มอยู่ดี”

มองวงการหนังสือในอนาคต?

“พี่ว่าตอนนี้วงการหนังสือได้พิสูจน์แล้ว แมกกาซีนเนี่ยแทบไม่เหลือแล้ว โดยส่วนมากแมกกาซีนเขาเรียกว่า City Magazine เป็นข่าว เป็นปกิณกะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันสู้สื่อออนไลน์ไม่ได้ มันไม่มีทางสู้ได้ โดยแพลตฟอร์มโดยความเร็วมันแพ้อยู่แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยน แต่ว่าหนังสือเล่มพ็อคเก็ตบุ๊ค เนื้อหาเชิงลึกที่ทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหนๆ ก็ทำไม่ได้ ยังอยู่และจะไปได้ดี

ยกตัวอย่างเช่น มีนาคม มีสัปดาห์หนังสือเราจะเห็นแนวโน้มว่าหนังสือวายขายดีมาก และคนที่ซื้อหนังสืออื่นเป็น Gen Z เพราะฉะนั้นเด็กอ่านหนังสือนะไม่ใช่ไม่อ่านแต่เขาจะอ่านที่เขาอยากอ่าน เพราะฉะนั้นเราก็จะได้เห็นในวงการหนังสือเล่มก็ยังแข่งกันอยู่ อันนี้ก็เป็นข้อดี ทีนี้พี่ว่าถ้าจะให้อยู่รอด คนที่ทำหนังสือก็ต้องใช้วิธีการ cross media คือต้องเอาสื่อดิจิทัลมารวมกับสื่อสิ่งพิมพ์ในบริบทในฟอร์แมทและในโมเดลที่มัน success ซึ่งสื่อนอกหลายๆ แห่งก็ทำสำเร็จแล้ว มันก็มีโมเดลอยู่ มันอยู่ที่เราจะประยุกต์อย่างไรมากกว่า”

40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

ต้องประยุกต์อย่างไร?

“ยกตัวอย่างในช่วงโควิด-19 ช่วง 3 ปี พี่เหมือนใช้การเขียนหนังสือเป็นการบำบัดเลยนะ คือพอเราต้องอยู่กับบ้านนานๆ เราก็เขียนหนังสือเพื่อให้มันเป็นความสุข ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพี่ขายหนังสือออนไลน์เป็นหลักและพี่เลือกแพลตฟอร์ม พี่หาคนที่เป็นแฟนคลับพี่ที่คิดว่าน่าจะมี พี่เลือกเฟซบุ๊ก คือเวลาเราทำอะไรเราต้องมีความรู้ เราต้องรู้ว่าแพลตฟอร์มเหมาะกับเรา พี่ใช้หมดแล้วไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ติ๊กตอก, ยูทูบ ใช้สร้างคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอคอนเทนต์ อินสตาแกรมอะไรต่างๆ  แต่ในที่สุดเฟซบุ๊กมันเป็นฐานใหญ่ที่พี่ใช้สื่อสารกับกลุ่มที่เป็นแฟนๆ พี่

แล้วพี่ขายหนังสือทางออนไลน์ในปีแรก เรียกว่าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ทางออนไลน์ ทางร้านหนังสือขายให้น้อยมาก และพี่ก็ออกหนังสือทุกปี พี่ไม่ได้ทำ E-book พี่ยังเลือกทำหนังสือเล่ม เพราะมีความเชื่อมั่น เอารสนิยมส่วนตัว แล้วสิ่งที่อยากให้หนังสืออยู่รอดเป็นตัวกำหนด แต่ทำให้สอดคล้อง แล้วอะไรที่เป็นเล่ม พี่ก็นำเสนออะไรที่ควรจะเป็นเล่มที่สมบูรณ์ที่สุด แต่พอเป็นออนไลน์พี่ย่อยหมดเลย และพี่เขียนคอนเทนต์ใหม่ เพื่อให้มัน linkage แล้วมันก็ blend กันได้อย่างดีมาก ซึ่งนี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ตอนนี้ทำมาแล้วสี่ปี ถามว่าสนุกไหม สนุก ถามว่ามีแฟนที่ตามอยู่ไหม ก็มี ถามว่ามีคนอ่านหนังสืออยู่ไหม ก็มี

แต่แน่นอนว่าเมื่อเราเข้ามาสู่แพลตฟอร์มที่เป็น global คุณก็ต้องมีกฎกติกาตามเขา วันไหนที่ AI ทำงานได้ดีคุณก็แฮปปี้ไป วันไหนไม่ดีคุณก็ต้องเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาการเรียนรู้ไม่หยุดนิ่งทั้งนั้น แต่นี่คือตัวอย่างว่าถึงพี่จะทำสื่อสิ่งพิมพ์ แต่พี่ใช้ดิจิทัลมีเดีย ทุกแพลตฟอร์ม”

สู้กับ AI อย่างไร

“ต้องบอกก่อนว่าพี่ไม่ใช่มืออาชีพด้าน AI แต่นึกหรือไม่ว่าเวลาเราใช้แพลตฟอร์มอื่นเขาเราต้องเคารพกติกาเขา เช่น คุณมาร์คต้องการรายได้เป็นเรื่องปกติ แล้วปิดกั้นการมองเห็น ทีนี้คนที่สร้างคอนเทนต์ไม่แข็งพอ คือเรียกว่าไม่มีแฟนมากพอ อย่างตอนนี้ในเพจที่พี่สร้างชื่อ A WALK ที่ มีผู้ติดตามอยู่ 12,000 แต่คนไม่ได้ Engage ได้ดีตลอด แล้วอันไหนที่เราอยากให้เข้าถึงคนมากๆ เราก็ต้องซื้อแอดหรือบูสต์โพสต์ ถูกไหม ในขณะที่เขาปิดกั้น อันนี้เราก็ต้องจ่าย เราจะมาร้องแรกแหกกระเชอว่าเขาปิดกั้นเราทำไม ก็เราใช้แพลตฟอร์มของเขาอยู่

ถ้าเราสู้กับเขามันมีแต่ว่าคุณต้องสม่ำเสมอกับการทำคอนเทนต์ คอนเทนต์คุณแข็งแรงดีไหม แล้วพวกนี้ลองผิดลองถูกได้ บางวันพี่ก็นั่งหน้าตูมไปนะในวันที่พี่เสียเงินให้ตามาร์คเยอะๆ แล้วไม่มียอด หรือบางวันพี่ก็หัวเราะชอบใจ ที่ปิดอันนี้ได้ในราคาเท่านี้

เช่น พี่เคยปิดยอดขายได้สูง โดยที่พี่เสียค่าแอด 34 บาท 50 สตางค์ เรื่องเหล่านี้คนที่เข้าสู่โลกออนไลน์ต้องตั้งสติให้มาก คือเราจะเอาใจเราไปตุ๊มๆ ต่อมๆ กับทุกวันไม่ได้ เราต้องมีความสม่ำเสมอในการทำงานการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สำหรับพี่ไม่ได้เก่ง แต่เป็นนักเรียนรู้ พี่ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะอย่างมากพี่ก็เสียเงิน เราไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น แต่อย่าเสียใจหรือเสียสติ เดี๋ยวจะเสียกันไปใหญ่

เวลาพี่กระโดดไปทุกแพลตฟอร์ม พี่เรียนรู้โดยใช้ฐานข้อมูลหมดนะ พี่ยกตัวอย่างเช่นมาร์เก็ตเพลส อย่างเช่น Shopee Lazada พี่ไม่ขายนะ พี่ไม่ขายเพราะพี่ต้องรู้ก่อนว่า หนังสือสำหรับที่นี้ Margin น้อยมาก แล้วยอดขายหนังสือจากมาร์เก็ตเพลส สองแห่งนี้มัน ต่ำเตี้ยติดดิน แล้ว มาร์เก็ตเพลส เขาแข่งกันด้วยราคา เราไม่ได้ขายหนังสือลดราคา คือเรื่องแบบนี้เราต้องรู้ เมื่อเรารู้ เราก็จะไม่เข้าไปสู่บางแพลตฟอร์ม หรือสมมุติเราทำติ๊กตอก แต่ว่าคนมันไม่ชอบ เพราะคนชอบอะไร ฮาๆ ขำๆ เราก็ไม่เสียพลัง เราก็ไปเลือกในสิ่งที่แฟนเราอยู่ แล้วเราก็เลือกว่าคอนเทนต์แบบนี้แฟนชอบ หรือแฟนไม่ชอบ และพี่ก็โพสต์ทุกวันนะ”

40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

เป็นบรรณาธิการที่ผ่านหลายแพลตฟอร์ม ผ่านมาหลายยุคสมัยของวงการหนังสือ มองว่าบทบาท บรรณาธิการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

“พี่พูดในตอนที่ได้รับรางวัล พี่ยกตัวอย่างสองเรื่อง คือ หนึ่ง เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพี่ได้รับเลือกจากยูนิเซฟให้เป็น Consultancy Professional Editor and Copy Editor  ประจำปี 2023 ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งนี้ 2 ปี มันแปลว่าองค์การระดับชาติ เขาให้ความสำคัญกับการเป็นบรรณาธิการแล้วเท่าที่พี่ทราบองค์การยูนิเซฟมีบรรณาธิการที่เป็นบรรณาธิการเยอะมาก เพราะฉะนั้นความถูกต้อง ความแม่นยำ ความเป็นวิชาชีพ คือสิ่งที่มาตรฐานวิชาชีพต้องมีอันนี้

อีกเรื่องหนึ่ง เวลาอยู่ในโลกออนไลน์พี่จะเห็นเลยว่าคนอยากเขียนหนังสือนะ อยากเป็นนักเขียน อยากออกหนังสือ จึงมีคอร์สการเขียน คอร์สการเป็นบรรณาธิการเต็มไปหมดเลย แล้วพี่ก็ได้เห็นนักเขียนคนหนึ่งนะ เขาออกหนังสือโดยไม่มีบรรณาธิการ พี่ก็ได้ลองสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้มาดู เพราะพี่อยากรู้ว่าหนังสือที่ไม่มีบรรณาธิการเป็นอย่างไร

แล้วหลังจากนั้นพี่ก็ได้เห็นว่า เขาออกหนังสือเล่มที่สอง โดยเขาไปเชิญบรรณาธิการคนหนึ่ง มาเป็นบรรณาธิการให้เขา ตัวอย่างสองอันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่า ถ้าเราต้องการรักษามาตรฐานทางวิชาชีพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องวิชาชีพที่เป็นบรรณาธิการเท่านั้น มันต้องมีความสำคัญทางอาชีพบางอย่าง หนังสือต้องมีบรรณาธิการ มีความสำคัญและจำเป็น ในขณะเดียวกัน เราไปดูหนังสือบ้านเรา พี่ก็ไม่เห็นคนที่เป็นอาชีพบรรณาธิการจะได้ยินรุ่นน้องหรือรุ่นพี่ว่าจะตกงานหรืออะไร โดยเฉพาะบรรณาธิการที่มีความสามารถในหลายๆ แพลตฟอร์ม

พี่จึงบอกว่าบรรณาธิการเป็นเรื่องปัจเจกก็ได้นะ คือตัวบรรณาธิการเองก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว กับสอง มันไม่ใช่ปัจเจกอย่างเดียว มันเป็นสังคม โดยรวมด้วยตรงที่ว่าคุณต้องรักษามาตรฐานทางวิชาชีพโดยการให้ความรู้กับคนอื่น มันถึงจะทำให้อาชีพนี้มันมีมาตรฐาน พี่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะมันไม่ได้เป็นอาชีพที่อยู่ๆ จะเป็นใครก็ได้มันอาศัยทั้งประสบการณ์ ทั้งระยะเวลาและต้องมีความรู้ทักษะ ศาสตร์และศิลป์เลยนะ ดังนั้นมันจึงต้องมีการส่งต่อไม้ไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รักษามาตรฐานทางวิชาชีพต่อไป อันนี้ต้องช่วยกัน”

ความสำคัญของบรรณาธิการยังมีอยู่แน่ๆ แต่การจะสร้างบรรณาธิการขึ้นมาไม่ใช่แค่รุ่นใหม่แต่ต้องเป็นคนที่คู่ควรกับการเป็นบรรณาธิการ ต้องทำอย่างไร

“การส่งต่อความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ไปสู่รุ่นต่อไปเนี่ยมันเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นคนอ่านในแพลตฟอร์มไหน หนังสือเล่ม หนังสือออนไลน์ต่างๆ ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าโลกออนไลน์มีความเสมือนที่ไม่ใช่โลกจริง แต่พี่ค้นพบว่ามันมีความจริงอยู่ในนั้นไม่น้อย อันนี้จากประสบการณ์จากเพจที่ตัวเองเล่น คือเราอยู่ในสังคมแบบไหน เราก็จะอยู่ในสังคมแบบนั้น ต้องบอกว่าคนอ่านหนังสือหรืออนไลน์ เขาไม่โง่นะ

และพี่ชอบวิถีญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่ง ญี่ปุ่นจะมีขนบอยู่อย่างหนึ่งคือ เขาไม่ยกตัวเองนะเขาจะให้คนอื่นยกผลงาน ไม่ได้ยกตัวตนเขานะแต่ยกผลงานเขา พี่เชื่อว่าคนเรามีสติมากพอเราจะไม่ถูกหลอกโดยง่าย เราเห็นได้ง่ายมากในคอร์สต่างๆ จะมีโฆษณาหลายอย่าง เราไม่ต้องไปดูอะไรมากเราก็รู้แล้วว่าหลอก ไม่จริง”

40 ปี บนถนนบรรณาธิการ “อ้อย - มนทิรา จูฑะพุทธิ” ผู้อุทิศตนให้วงการหนังสือ

การที่ได้การเชิดชูเกียรติจะเป็นประโยชน์แก่วงการหนังสือหรือวงการบรรณาธิการอย่างไรบ้าง?

“สำหรับพี่ถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติ ก็ต้องขอบคุณทางสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มีมติเอกฉันท์จากคณะกรรมการมอบรางวัลให้พี่ก็ถือเป็นเกียรติ ทีนี้ถามว่ารางวัลจะมีประโยชน์อะไร พี่คิดว่ามันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราได้ทำงานของเราต่อไป รางวัลก็เป็นรางวัล โล่รางวัลมันก็วางอยู่โต๊ะทำงาน มันก็ไม่ได้เป็นอะไร เราไปมองมันแล้วยิ้ม มันก็ไม่ได้ประโยชน์กับใคร แต่ถ้าเราทำงานหนักมาแล้วมีคนเห็น เห็นค่าของเราในการทำงานให้รางวัล ก็เป็นแรงใจ ว่าเราก็ต้องทำต่อไป

ถ้าเราพูดกันโดยสุจริตเลยนะ ได้รางวัลหรือไม่ได้พี่ก็ทำงานอยู่แล้ว เพราะพี่รักการทำงาน และพี่มองว่าคุณค่าของคนมันอยู่ที่การทำงาน และสิ่งที่วัดมากมันคือผลงาน คือผลงานเป็นตัวตัดสินคนเลย เราไม่ต้องพูดเอง เดี๋ยวก็มีคนพูดแทนเรา เราออกหนังสือเราทำให้ดีเถอะเดี๋ยวมีคนซื้อเอง หรือถ้าทำไม่ดีเขาด่าเราเองเขาก็ไม่ซื้อ”

ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการที่มีประสบการณ์มาก ได้รับการยอมรับ จะแนะนำหรือบอกคนที่จะก้าวสู่บรรณาธิการ อย่างไรบ้าง

“ไม่ว่าอาชีพอะไร ไม่ต้องบรรณาธิการ คุณทำอาชีพนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ทำจริงๆ ถามตัวเองว่ารักในสิ่งที่ทำไหม ถ้ารักก็ทำมัน แล้วก็ทำมันอย่างดี ไม่มีการงานใดที่สูญเปล่า สิ่งที่คุณทำมันจะออกดอกออกผลให้คุณเสมอในวันหนึ่งเมื่อเวลามาถึง เชื่อเถิด พี่ได้เห็นสิ่งนี้มาแล้ว ถ้าจะให้พี่บอก คือจงเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ทำมันให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด สุดความสามารถที่คุณมี แล้วก็รับดอกผลของมัน”