วิจัยชี้แค่ 'วางแผนเที่ยว' ก็อารมณ์ดี ..แล้ว 'พักร้อน' แบบไหนได้ประโยชน์

'พักร้อน' มีประโยชน์กว่าที่คิด วิจัยชี้แค่ 'วางแผนเที่ยว' ก็อารมณ์ดีแล้ว

ร่างกายต้องการพักผ่อน! วิจัยชี้ "พักร้อน" มีประโยชน์กว่าที่คิดต่อทั้งสมองและร่างกาย การใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยวทำให้เรามีความสุขได้ยาวนานกว่าการช้อปปิ้ง แถมวิจัยยังระบุว่า แค่ได้ "วางแผนเที่ยว" ก็อารมณ์ดีแล้ว

key points :

  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การได้ใช้ "วันพักร้อน" เพื่อพักผ่อน ท่องเที่ยว จะช่วยฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ และสมองให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้
  • "การพักร้อน" จะช่วยพัฒนาสุขภาพใจ แรงจูงใจ ความรับรู้ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิผลของงาน แม้กระทั่งความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นด้วย
  • งานวิจัยบางชิ้นยังเสนอว่า แค่ได้เริ่มวางแผนเที่ยว ก็ทำให้เราอารมณ์ดีได้แล้ว

วันหยุดยาวใกล้จบแล้ว แต่สำหรับใครที่ไม่ได้หยุด หรือหยุดแต่ไม่ได้ไปไหน ในวันหยุดยาวครั้งหน้า ขอให้ลองแพลนทริปเที่ยวดูสักครั้ง หรือถ้ามีวันหยุดพักร้อนเหลือ อย่ารอช้า รีบจัดการใช้ให้หมดก่อนจะถึงสิ้นปี

วิจัยชี้แค่ \'วางแผนเที่ยว\' ก็อารมณ์ดี ..แล้ว \'พักร้อน\' แบบไหนได้ประโยชน์

ดร.บาร์บาร่า โคลทัสก้า-ฮัสกิ้น นักประสาทวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ได้ยืนยันว่า ร่างกาย และสมองของคนเรา ต้องการการวันหยุด และยิ่งถ้าวันหยุดนั้นเราได้ท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ พอกลับมาทำงาน จะพบว่า ประสิทธิภาพการทำงานจะดียิ่งกว่าเก่า

เธอเขียนบทความเรื่อง “Why Our Body and Brain Need a Vacation” ลงบนเว็บไซต์ psychologytoday โดยระบุว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิดเป็นต้นมา ชีวิตของเราก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องความเครียด ที่ส่งผลลบโดยตรงต่อร่างกายและสมอง

งานวิจัยส่วนใหญ่แนะนำในทางเดียวกันว่า “การหยุดพักผ่อน” คือ หนทางที่จะช่วยเยียวยาร่างกาย จิตใจ และสมองของเรา

โดยเธอบอกว่า การได้ “พักผ่อน” หรือยิ่งดีกว่าถ้าเป็น “การพักร้อน” จะช่วยพัฒนาสุขภาพใจ แรงจูงใจ ความรับรู้ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิผลของงาน แม้กระทั่งความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยยังบอกอีกด้วยว่า การได้ใช้จ่ายไปกับวันหยุดพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งหมายรวมไปถึงมื้ออาหารดีๆ หรือการไปดูคอนเสิร์ตเจ๋งๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้เรามีความสุขได้ยั่งยืนกว่าการช้อปปิ้งเสื้อผ้า หรือ เครื่องประดับ

งานวิจัยบางชิ้นยังเสนอว่า แค่ได้เริ่มวางแผนเที่ยว ก็ทำให้เราอารมณ์ดีได้แล้ว

วิจัยชี้แค่ \'วางแผนเที่ยว\' ก็อารมณ์ดี ..แล้ว \'พักร้อน\' แบบไหนได้ประโยชน์

  • ข้อดีของการพักร้อน

ชื่อก็บอกชัดอยู่แล้วว่า “พัก” ดังนั้นประโยชน์ของการพักร้อนข้อแรกเลยก็คือ การได้พักผ่อน ปิดสวิตช์การทำงาน ทิ้งเรื่องกวนใจไว้ที่ออฟฟิศ และ “ปล่อยจอย” ไปกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เรากำลังจะได้เจอ

แต่ถ้าเอาคำตอบแบบมีหลักมีฐาน งานวิจัยก็บอกไว้ว่า การพักร้อนจะช่วยเพิ่มการนอนในแต่ละวัน จากการได้มีกิจกรรมทางกายต่างๆ แทนที่จะนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันอย่างเคย นอกจากจะแฮปปี้ระหว่างการเที่ยวแล้ว หลังกลับจากพักผ่อน ผลลัพธ์เชิงบวกก็ยังตามมา โดยเราจะนอนหลับดีขึ้นเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์ได้เลย (แต่ผลลัพธ์อาจสั้นลง ถ้าเราได้พักร้อนไม่ถึง 3 วัน)

นอกจากนี้ยังได้มีผู้ทำวิจัยกับคุณครูในสหรัฐ เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง ก่อน และ หลัง การพักร้อน และพบว่า การได้ไปพักผ่อนท่องเที่ยว สามารถฟื้นพลังกายพลังใจให้กลับมาได้อย่างดี ทั้งการอยากมีส่วนร่วมกับงาน และอาการเบิร์นเอาท์ก็ลดลงด้วย แต่ทั้งนี้ ผลดีข้างต้นจากการพักร้อนจะอยู่ได้ชั่วคราว ราว 1 เดือนเท่านั้น

วิจัยชี้แค่ \'วางแผนเที่ยว\' ก็อารมณ์ดี ..แล้ว \'พักร้อน\' แบบไหนได้ประโยชน์

  • พักร้อนแบบไหน ดีต่อใจ ได้ประโยชน์สูงสุด

คำถามสำคัญอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ แล้วการพักร้อน หรือ ไปเที่ยวแบบไหน ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง ดร. บาร์บาร่า ได้เอ่ยถึงงานวิจัยเมื่อปี 2021 นักวิจัยพบว่า หากเราได้ทำสมาธิระหว่างการพักผ่อน จะช่วยยืดระยะ “ผลบวก” ของการพักร้อนไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว

คำถามถัดมา คือ เราควรจะ “พักร้อนกี่วัน” จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด? เรื่องนี้ ดร.บาร์บาร่า เขียนไว้ในบทความว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ว่า เราควรจะพักกี่วันดี? อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า แม้จะเป็นเพียงการลาพักผ่อนช่วงสั้นๆ แค่ 3 วันก็ยังถือว่า มีประโยชน์ ส่วนการลาพักติดต่อกันหลายๆ วันหรือเกินสัปดาห์นั้น ยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่า มีผลดีมากกว่าคนที่ลาน้อยกว่าจริงหรือไม่

แต่ที่งานวิจัยมีคำตอบให้ คือ ผลเชิงบวกจากการพักร้อนจะอยู่ได้นานขึ้นในคนที่มีความเครียดในการทำงานน้อย

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์จากการได้ท่องเที่ยวในวันพักร้อนอาจไม่ได้เป็นไปตามงานวิจัยข้างต้นเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งเรื่องความชอบในกิจกรรมที่ได้ทำ หรือ สถานที่ที่ได้ไป รวมถึงความเครียดที่มีอยู่เดิม

และที่สำคัญ คือ คุณปล่อยจอยจากการทำงานได้จริงหรือไม่ เพราะถ้ายังเปิดคอมพ์คอยเช็กอีเมล หรือเปิดโทรศัพท์มือถือคุยเรื่องงานอยู่ตลอด การพักร้อนอาจเป็นแค่การย้ายสถานที่ทำงานก็เท่านั้น!

 

อ้างอิง : psychologytoday