'วันอาสาฬหบูชา 2566' รู้วิธี 'เวียนเทียน' ที่ถูกต้อง ก่อนเช็กอินวัดใกล้บ้าน

'วันอาสาฬหบูชา 2566' รู้วิธี 'เวียนเทียน' ที่ถูกต้อง ก่อนเช็กอินวัดใกล้บ้าน

“วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 ส.ค. 2566 ชาวพุทธนิยมไป “เวียนเทียน” ที่วัด เพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด และเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้า “ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก”

วันพระใหญ่อย่าง "วันอาสาฬหบูชา 2566" เวียนมาถึงอีกครั้ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร อีกทั้งปีนี้วันอาสาฬหบูชายังติดกับวันเข้าพรรษาอีกด้วย (วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการแต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร)

ทั้งนี้ ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชานั้น ว่ากันว่าเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น นั่นคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ “ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก” ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน และยังเป็นวันที่พระองค์แสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกด้วย เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม (เป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก)

 

  • วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่พระรัตนตรัยครบองค์สาม

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูในเรื่องราวพุทธประวัติ ยังพบข้อมูลด้วยว่าในการแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการแสดงพระธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ, พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ

จนในที่สุดหนึ่งปัญจวัคคีย์อย่าง "พระโกณฑัญญะ" ก็ได้บรรลุธรรม และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีก 1 ประการ นั่นคือ เกิดมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นั่นเอง จากเหตุการณ์สำคัญทั้งหมดเหล่านี้ ในเวลาต่อมาวันอาสาฬหบูชาก็มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "วันพระธรรม" และ "วันพระสงฆ์"

\'วันอาสาฬหบูชา 2566\' รู้วิธี \'เวียนเทียน\' ที่ถูกต้อง ก่อนเช็กอินวัดใกล้บ้าน

 

  • กำเนิด "วันธรรมสวนะ" หรือวันฟังธรรม ส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในวันพระใหญ่

คำว่า วันธรรมสวนะ (อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ) หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา อันได้แก่ ถือศีล ฟังธรรม โดยเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ มีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 คำ่ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ โดยวันอาสาฬหบูชาก็เป็นหนึ่งในวันพระใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนควรถือศีลและฟังธรรมเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ, วัน 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าวได้

จากนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปพบปะชุมนุมกันเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันฟังพระธรรมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

 

  • พิธี "เวียนเทียน" คืออะไร? ทำไมต้องทำใน "วันอาสาฬหบูชา"

ส่วนพิธีกรรมเวียนเทียนนั้น มีข้อมูลจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์ธรรมะไทยอธิบายไว้ว่า เป็นกุศลพิธีอย่างหนึ่งที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติในเบื้องต้นอย่างสามัญ โดยพิธีกรรมเวียนเทียนนั้น สามารถเวียนเทียนได้ในวันสำคัญทางศาสนา 4 วันด้วยกัน คือ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันอัฐมีบูชา

โดยคำว่า “เวียนเทียน” ในบริบททางพระพุทธศาสนานั้น จะใช้กับการเดินเวียนรอบบุคคลหรือสถานที่เคารพบูชา อาจใช้คำอื่นก็ได้ว่า ประทักษิณ, ทักขิณาวัฏฏ์ หรือ ทักษิณาวัฏ อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) แปลว่า “เบื้องขวา” หรือ “การเวียนขวา”

การเวียนเทียนต่อบุคคลหรือสถานที่ใดๆ นั้น ทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้นๆ อย่างสูงสุด ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้ว เช่น เมื่อครั้งพระสารีบุตรท่านไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อจะกลับไปนิพพานที่แคว้นมคธ พระสารีบุตรท่านก็ได้กระทำประทักษิณ 3 รอบต่อพระพุทธเจ้า 

\'วันอาสาฬหบูชา 2566\' รู้วิธี \'เวียนเทียน\' ที่ถูกต้อง ก่อนเช็กอินวัดใกล้บ้าน

 

  • เปิด "วิธีเวียนเทียน" ที่ถูกต้อง อย่าลืมไหว้พระประธานก่อน!

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่จะไปเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชานั้น ต้องรู้วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

1. ชำระร่างกายและจิตใจ : ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ 

2. เตรียม 3 ของไหว้สำคัญ : ของไหว้หรือของบูชาที่เราจะนำไปเวียนเทียนเพื่อสักการะพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของชาวพุทธ ได้แก่ ดอกไม้ 1 คู่ , ธูป 3 ดอก, เทียน 1 เล่ม 

3. ไหว้พระประธานก่อน : เมื่อไปถึงวัดให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียนด้านนอก

4. เวียนประทักษิณ : จากนั้นจุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์

5. บทสวดมนต์ : รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวดบทอิติปิโส "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ..." รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ สวดบทสวากขาโต "สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม..." รอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวดบทสุปะฏิปันโน "สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ..."

6. ระวังอันตรายจากธูปเทียน : ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และควรรักษาระยะห่างจากคนข้างหน้า เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น อาจทำให้บาดเจ็บได้

7. วางดอกไม้ธูปเทียน : หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้ 

\'วันอาสาฬหบูชา 2566\' รู้วิธี \'เวียนเทียน\' ที่ถูกต้อง ก่อนเช็กอินวัดใกล้บ้าน

 

  • เช็กประวิติศาสตร์ “วันอาสาฬหบูชา” ในไทย มีครั้งแรกปี 2501

เดิมนั้นไม่มีการประกอบ "พิธีบูชาในเดือน 8" หรือ "วันอาสาฬหบูชา" ในประเทศที่ประชาชนนับถือพุทธเถรวาทมาก่อน จนกรทั่งมาในปี พ.ศ. 2501 วันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสงฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501

โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่ม "วันอาสาฬหบูชา" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งกำหนดพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยให้มีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ “วันวิสาขบูชา” นั่นเอง