'วันเข้าพรรษา' 2566 ไม่ต้องเวียนเทียน แต่ให้ถวายเทียน-หลอดไฟ ได้กุศลแรง

'วันเข้าพรรษา' 2566 ไม่ต้องเวียนเทียน แต่ให้ถวายเทียน-หลอดไฟ ได้กุศลแรง

2 สิงหาคม ตรงกับ "วันเข้าพรรษา 2566" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่เชื่อมโยงกับการ "ถวายเทียนพรรษา" ว่ากันว่าเป็นการทำบุญที่ได้กุศลแรง และข้อสำคัญที่ต้องรู้คือ วันเข้าพรรษานั้นชาวพุทธ "ไม่ต้องเวียนเทียน" รอบโบสถ์

"วันเข้าพรรษา" ประจำปีนี้ ตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันหยุดราชการ (ข้าราชการ/พนักงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ถือเป็นวันหยุด) แต่สำหรับธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทเอกชน วันเข้าพรรษาไม่ถือว่าเป็น "วันหยุด" แต่อย่างไรก็ตาม "วันเข้าพรรษา 2566" ก็ถือว่าเป็นวันสำคัญของศาสนาพุทธ โดยกิจกรรมเด่นๆ ที่มักมาคู่กันเสมอก็คือ การ "ถวายเทียนพรรษา" ประจำปี ว่ากันว่าการทำบุญในรูปแบบดังกล่าวจะได้อานิสงส์แรง และถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึง "ฤดูกาลปลูกข้าวทำนา" ของคนไทยในทางหนึ่งด้วย

 

  • ย้อนรอยเปิดประวัติ "วันเข้าพรรษา" ในสมัยพุทธกาล

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์ได้พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ โดยไม่ย่อท้อ ทั้งในฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ทำให้เหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย

เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา" 

แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยความจำเป็นที่ยกเว้นให้ ได้แก่ 

- การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย

- การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้

- การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด

- หากถูกนิมนต์ไปทำบุญ ก็สามารถไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้ 

 

  • ฤดูกาลแห่งการ "จำพรรษา" เริ่มเมื่อไหร่ สิ้นสุดเมื่อใด? 

เมื่อถึงวันเข้าพรรษาในแต่ละปี พระสงฆ์จะต้องมารวมตัวกันและทำพิธีอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า อยู่)

พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา 

 

  • บางชุมชนนิยมนำ "ดอกเข้าพรรษา" ดอกไม้ประจำเทศกาลเข้าพรรษา ไปถวายพระที่วัด

ในวันเข้าพรรษาของทุกๆ ปี ชาวอำเภอพุทธบาท จ.สระบุรี นิยมนำดอกไม้ชนิดหนึ่งมาร่วมตักบาตรเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น โดยดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ เรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม

หงส์เหิน (Globba Winiti) เป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อน เกิดขึ้นในป่าร้อนชื้นซึ่งพบได้ในประเทศไทย พม่า และเวียดนาม ต้นเข้าพรรษาเป็นไม้ล้มลุก ส่วนใหญ่มักมีดอกมีสีเหลืองสดใส สีขาว และสีม่วง มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย สีของกลีบดอกแต่ละสีมีความหมาย ดังนี้

สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา

สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์

สีม่วง หมายถึง ได้บุญกุศลแรงที่สุด (เป็นสีที่หายากที่สุด)

เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้ว ก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดอกเข้าพรรษา หรือดอกหงส์เหิน 1 ปี จะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้น 

 

  • อานิสงส์ของการ "ถวายเทียนพรรษา" ได้บุญกุศลหนัก

ในวันเข้าพรรษาของทุกๆ ปี มักมีประเพณีทสำคัญที่สืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ "ประเพณีหล่อเทียนพรรษา" สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ ซึ่งเทียนพรรษามักจะเป็นเทียนขนาดใหญ่อยู่ได้นานตลอด 3 เดือน 

ประเพณีหล่อเทียนพรรษา เกิดขึ้นจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เหมือนในปัจจุบัน เมื่อพระภิกษุจำพรรษารวมกันมาก ๆ และต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่างในการจุดไฟบูชาพระรัตนตรัย อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

สำหรับอานิสงส์ของการ "ถวายเทียนพรรษา" เชื่อกันว่า ผู้ที่ทำบุญถวายเทียนพรรษานั้นจะห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายใจ มีความสง่างาม มีดวงตาแจ่มใส และก่อนการนำเทียนไปถวายที่วัด ก็จะจัดให้มีการหล่อเทียนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วจึงจัดขบวนแห่เทียน เรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนพรรษา” โดยมักจะมีการ "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดด้วย โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ 

 

  • ทำบุญด้วยการถวาย "ผ้าอาบน้ำฝน" ที่จำเป็นแด่พระภิกษุด้วยก็ได้

โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน

แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย "ผ้าจำนำพรรษา" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ผ้าอาบน้ำฝน" เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนซึ่งเป็นของใช้จำเป็นของพระสงฆ์แล้ว ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนควรทำในวันเข้าพรรษา ได้แก่ การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ชำระจิตใจให้ผ่องใส ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด รวมไปถึงการช่วยทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิ วิหาร และส่วนอื่น ๆ ในวัด รวมถึงควรงดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น

---------------------------------------------

อ้างอิง : กระทรวงวัฒนธรรมsaraburi