สิ่งที่ได้มาคือ ชัยชนะที่ไร้ค่า | บวร ปภัสราทร

สิ่งที่ได้มาคือ ชัยชนะที่ไร้ค่า | บวร ปภัสราทร

มนุษย์ชอบชนะมากกว่าแพ้ อยากชนะบ้านเมืองอื่น บางทีก็ไปก่อสงครามในหลากหลายรูปแบบ พยายามสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้ได้เปรียบในการยุทธ์ ชนะแล้วก็เอาเทคโนโลยีที่เคยใช้ในสงครามกลับมาช่วยเติมเต็มชีวิตกันได้เป็นอย่างดี

จากระเบิดปรมาณูที่เคยใช้เข่นฆ่าศัตรู วันนี้ก็มาช่วยในการดูแลสุขภาพ ไปจนกระทั่งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ดูเหมือนว่าอยากชนะมีข้อดีเยอะแยะ แต่ลืมไปว่าต้องจ่ายไปกับความเสียหายที่เกิดขึ้นมากเพียงใด

นักกลยุทธ์สมัยก่อนบอกว่า ท่ามกลางวิกฤติใดๆ ทรัพยากรจะมีอย่างจำกัด ดังนั้น ต้องแข่งกันแย่งชิงทรัพยากร คนชนะได้จากคนแพ้ เลยกลายเป็นความเชื่อกันมายาวนานว่าเมื่อมีคนชนะจะต้องมีคนแพ้ ดูแค่ว่าใครกำลังแย่งชิงอะไรกับใครเท่านั้น ใครได้ใครเสีย

นักกลยุทธ์สมัยใหม่มองใหม่ว่า ทุกวิกฤติมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ หากมองในภาพใหญ่ คือมองระบบนิเวศของวงการนั้น ซึ่งจะพบว่าไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งในทางบวกและลบ บางมิติในระบบนิเวศนั้นก็ต้องพึ่งพากัน บางมิติก็แย่งชิงกัน

หนทางที่จะทำให้ทุกสรรพสิ่งในระบบนิเวศนั้นประสบชัยชนะโดยทั่วหน้ามีความเป็นไปได้ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทบทวนความหมายของชัยชนะกันใหม่ พยายามคิดให้ถ่องแท้ว่าที่พยายามจะเอาชนะกันอยู่นั้น คุณค่าที่ได้กับตนเองคืออะไร แลกด้วยการสูญเสียใดของระบบนิเวศนั้น

สิ่งที่ได้มาคือ ชัยชนะที่ไร้ค่า | บวร ปภัสราทร

ควบคู่ไปกับการพยายามมองหาหาหนทาง ในการขยับขยายทรัพยากรในระบบนิเวศนั้น ยกระดับคุณค่าที่ระบบนิเวศนั้นสามารถส่งมอบให้มากขึ้น จากเคยเป็นเหมือนขนมชิ้นเล็กที่ต้องแย่งกันกิน ให้มองใหม่ว่าจะทำให้กลายเป็นชิ้นใหญ่ที่เพียงพอสำหรับทุกคนได้อย่างไร

นักกลยุทธ์บอกว่าให้ปรับเปลี่ยนความคิดจาก Zero-sum game มีคนชนะต้องมีคนแพ้ ไปเป็น Positive-sum game ที่ทุกคนชนะได้ในมิติใดมิติหนึ่ง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมองภาพใหญ่ทั้งระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่จ้องไปที่คนใดคนหนึ่งที่ไม่ชอบหน้าเท่านั้น

ที่จริงคนเราในแทบทุกวงการมองเห็นภาพใหญ่กันอยู่แล้ว แต่ที่ยังพยายามให้ตนเองเป็นผู้ชนะ โดยให้มีใครสักคนเป็นผู้แพ้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะความต้องการทางอารมณ์ คือต้องการไม่ให้รู้สึกเสียหน้าบ้าง สะใจที่เห็นใครสักคนแพ้บ้าง ซึ่งจะเป็นชัยชนะที่หาคุณค่าใดๆ แทบไม่ได้เลย เมื่อเทียบกับที่เสียไปกับความอยากชนะนั้น

หลายสิบปีมาแล้ว มีชนเผ่าในดินแดนหนึ่งในเอเชียสู้กันเอาเป็นเอาตายเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำ โดยไม่มีใครมองภาพใหญ่ว่ากำลังมีนักล่าอาณานิคมจ้องรอโอกาสอยู่ สู้กันเสียหายไปมากมาย

แต่ที่ได้มาคือชัยชนะที่ไม่มีคุณค่า เพราะไม่มีชนเผ่าใดที่ได้เป็นผู้นำในดินแดนนั้น คนชนะตัวจริงกลายเป็นนักล่าอาณานิคมที่ครอบครองดินแดนนั้นไว้ยาวนานหลายทศวรรษ

สิ่งที่ได้มาคือ ชัยชนะที่ไร้ค่า | บวร ปภัสราทร

พอยุคสมัยเปลี่ยนไป โลกไม่ยอมรับการมีอาณานิคม ชนเผ่าในดินแดนนั้นก็กลับมาต่อสู้กันใหม่ ต้องการมีผู้แพ้ผู้ชนะในกลุ่มที่ต่อสู้กัน สู้กันไปสู้กันมา ปรากฏว่าเศรษฐกิจในดินแดนนั้นตกไปอยู่ในมือของผู้คนจากอีกดินแดนหนึ่ง สู้กันเพื่อให้ได้ชัยชนะที่ไร้ค่าสำหรับผู้คนในดินแดนนั้น

ก่อนจะคิดที่จะเอาชนะใครในเรื่องใด ในการงานใด ขอให้ถามให้ได้คำตอบที่มีหลักการว่า จะเอาชนะเรื่องอะไร ชนะแล้วมีคุณค่าอะไรบ้างที่เกิดขึ้นจริงๆ กับตนเอง นอกเหนือไปจากอารมณ์สะใจที่ได้ชนะคนที่เราอยากให้แพ้

ทบทวนดูด้วยว่าหนทางสู่ชัยชนะนั้นไปทำลายส่วนใดที่จำเป็นในระบบนิเวศหรือไม่ ถ้าพบว่ามีบางส่วนเสียหายแน่ๆ จากชัยชนะในครั้งนี้ แต่ก็ยังตอบว่าการได้ชัยชนะย่อมต้องแลกด้วยความเสียหายบ้างเป็นธรรมดา แสดงว่ายังพิจารณาระงับโทษะโมหะได้ไม่เพียงพอ ยังหลงอยู่กับการแสวงหาชัยชนะที่ไร้คุณค่าอยู่ต่อไป

ที่อันตรายที่สุดคือ อยากชนะเพราะติดยึดอยู่กับมโนที่ย้อนแย้งกับบริบทปัจจุบัน เสียหายแค่ไหนไม่ใส่ใจ ยอมแลกความล่มสลายของระบบนิเวศเพื่อให้มโนนั้นยังคงอยู่ต่อไป ก่อนที่ตนเองจะสูญสลายไปพร้อมๆ กับระบบนิเวศนั้น

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]