ถอดบทเรียน'รีแบรนด์พรรค'การเมืองโซเชียล'กระแส'ชนะ'กระสุน'ปัจจัยชัยชนะ

ถอดบทเรียน'รีแบรนด์พรรค'การเมืองโซเชียล'กระแส'ชนะ'กระสุน'ปัจจัยชัยชนะ

ถอดบทเรียน"รีแบรนด์พรรค" การเมืองโซเชียล “กระแส”ชนะ“กระสุน” ปัจจัยชัยชนะ พท.ลุยแนวรบออนไลน์ รทสช.-พปชร.ปั้นรุ่นใหม่ ฟื้นศรัทธา

เสร็จศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 บทพิสูจน์ “กระแส” ชนะ “กระสุน” ทำให้พรรคก้าวไกล คว้าชัยชนะไปได้ ทั้งที่ผ่านสนามเลือกตั้งมาเพียงแค่ 2 ครั้ง แตกต่างจากพรรคใหญ่ และอีกหลายพรรค แม้จะเป็นระดับสถาบัน ผ่านสนามเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับต้องพ่ายพรรคคนรุ่นใหม่ หลายพื้นที่ถึงขั้นแพ้ยับ 

หลายพรรคการเมืองจึงต้องปรับขบวน ปรับทัพกันเสียใหม่ บางพรรคต้องยกเครื่องกันทั้งแผง บางพรรคอาจจะปรับเล็กน้อย เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บางพรรคต้องปรับวิธีการ เพื่อคู่แข่งทางการเมือง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมแนวคิดการปรับเปลี่ยนของ “พรรคการเมือง” ขนาดใหญ่-ขนาดกลาง เพื่อฟื้นฟูพรรค ให้ทันยุคใหม่ รองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เริ่มกันที่ “ก้าวไกล” การเลือกตั้งปี 2566 หมายมั่นปั้นมือต้องการ “แลนด์สไลด์สีส้ม” และสุดท้ายเข้าป้ายชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส.รวม 151 คน ได้เสียงมหาชน “ป๊อปปูลาร์โหวต” กว่า 14 ล้านเสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองตำแหน่งประธานสภาฯ และเก้าอี้ ครม.กับ 7 พรรคร่วมที่เหลือในขณะนี้

ภายหลังการเลือกตั้ง “ก้าวไกล” นัดประชุมว่าที่ ส.ส.และบรรดา “ส.ส.สอบตก” ขึ้นทันที เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 เพื่อ “ถอดบทเรียน” การเลือกตั้งครั้งล่าสุด นำโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” บรรยายหัวข้อ ยุทธ์ศาสตร์พรรคก้าวไกล ส่วนนายชัยธวัช บรรยายหัวข้อ พรรคก้าวไกล และองค์ประกอบของพรรคเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังมีแกนนำสีส้มอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า บรรยายหัวข้อ ผู้เเทนราษฏรของพรรคก้าวไกล “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายหัวข้อ เเนวทางการสื่อสารของพรรคก้าวไกลมาร่วม

พร้อมกับเชิญ “นักวิชาการ” ฝ่ายซ้ายขวัญใจผู้รักประชาธิปไตยอย่าง “เกษียณ เตชะพีระ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ การเมืองเเบบก้าวไกล ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน “ประจักร ก้องกีรติ” อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายหัวข้อ มองการเมืองไทยผ่านการเลือกตั้ง 2566

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ

การจัดอบรมดังกล่าวเพื่อ “ถอดบทเรียน” การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะผลการเลือกตั้ง 2566 ถือว่าเปลี่ยนหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย “พรรคส้ม” ล้ม “บ้านใหญ่” ระเนระนาดในหลายจังหวัด ด้วยวิธีการหาเสียงแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยี-การตลาดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คที่เข้าถึงทุกบ้าน สร้าง “กระแส” นำ “กระสุน” พ่วงด้วยปัจจัย “เบื่อลุง” ของประชาชน จึงทำให้ “พรรคส้ม” ซิวชัยเข้าวินเฉือนชนะ “เพื่อไทย” ที่การตลาดสู้ไม่ไหว ไปอย่างฉิวเฉียด

นอกจากนี้การคัดสรรตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของ “ก้าวไกล” รอบนี้ แกนนำพรรคค่อนข้างการันตี “ไร้งูเห่า” เพราะเฟ้นหาแต่คนที่มีดีเอ็นเอ “อนาคตใหม่” ทุกคน ดังนั้นไม่ว่าคนที่ได้เป็น ส.ส. หรือ ส.ส.สอบตก ยังคงอยู่ทำพื้นที่ และยากที่จะย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น

แต่บทเรียนที่ “ก้าวไกล” ต้องถอดออกมาคือ การทำหน้าที่ และบทบาท ส.ส.ของพรรคในสภาฯ ที่ถือว่าเป็น “ของใหม่” เพราะในการเลือกตั้งรอบนี้มี “ส.ส.ป้ายแดง” เข้ามาเป็นจำนวนมาก การวางบทบาทให้คนที่เหมาะสมทำหน้าที่ จึงต้องดำเนินการ เหมือนที่ “อนาคตใหม่” ทำประสบความสำเร็จมาแล้ว กับการวางบทบาทให้ “รังสิมันต์ โรม” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังถอดบทเรียนว่า ฉากทัศน์การเมืองยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กระแสโลกกลับมา “หมุนซ้าย” ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปจะได้ ส.ส.มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเพิ่ม “กระแส” ผ่าน “คนรุ่นใหม่” ในทุกแพลตฟอร์ม การสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่นักการเมืองรุ่นเก่าไม่ทำ ฯลฯ เป็นต้น

‘เพื่อไทย’เปิดวอร์เกมโซเชียลฯ

ฟากฝั่งพรรคเพื่อไทย “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้มีอยู่ 2 ประเด็น 1.พ่ายแพ้กระแสของ ก้าวไกล 2.พ่ายแพ้กระสุนพรรคการเมืองอื่น โดยให้น้ำหนักไปที่ “กระแส” เพราะหลายพื้นที่ฐานเสียงของเพื่อไทยต้องเสียให้กับก้าวไกล

หลังจากนี้ “เพื่อไทย” ต้องปรับกระบวนทัพกันใหม่ แนวรบโซเชียลมีเดียว ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรค แม้ อดีตผู้สมัคร ส.ส. - ส.ส. - ทีมงาน จะมีโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม แถมบางคนยังมี “ติ่ง” ของตัวเอง คอยซัปพอร์ต แต่ยังไม่โดดเด่นมากพอ

ขณะเดียวกัน “ทักษิณ” ยอมรับว่าพลาดท่าแพ้ให้กับ “ไอโอ” ที่คอยปั่นกระแสดีลจับมือ “ลุงป้อม” จัดตั้งรัฐบาล แม้จะประกาศชัดเจนไม่เอา “2 ลุง” แต่ยังมีการปั่นกระแส จนคะแนนเทไปที่ “ก้าวไกล” ที่มีจุดยืนชัดเจนกว่า

นอกจากนี้ “ทักษิณ” โฟกัสไปที่ UGC หรือ User-generated Content ซึ่งฐานเสียงผลิตคอนเทนต์ของพรรคกันเอง จนทำให้เกิดการพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นภารกิจที่ “ลูกพรรคเพื่อไทย” ต้องเดินไปอยู่ในจุดเดียวกับที่ก้าวไกลทำได้

เวลานี้ “เพื่อไทย” รู้จุดอ่อนด้านโซเชียลมีเดียอย่างดี จึงต้องเซ็ตทีมกันใหม่ แนวรบบนดิน-แนวรบใต้ดิน ต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ เนื่องจากจะต้องสู้รบกับ “ด้อมส้ม” อีกหลายยก

ยกตัวอย่างในช่วงจัดตั้งรัฐบาลจึงมีปรากฎการณ์ “ติ่งเพื่อไทย” ปักหลักสู้กับ “ด้อมก้าวไกล” ในศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ทั้งสองฝั่งซัดกันแหลก จน “บิ๊กสองพรรค” ต้องออกมาห้ามปราม สะท้อนให้เห็นว่าแนวรบเพื่อไทยบนโซเชียลมีเดีย ปรับตัวสู้ก้าวไกลเช่นกัน

ซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนเลือกตั้ง แนวรบโซเชียลมีเดียของเพื่อไทยอ่อนแอ จนโดนขยายแผล และไม่สามารถต่อกรกับก้าวไกลได้

หลังจากนี้ต้องจับตาการรีแบรนด์ของเพื่อไทยทั้งโลกจริงและโลกเสมือนจริง จะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากแค่ไหน ความใกล้ชิดกับฐานเสียงไม่ใช่ปัญหา แต่วิธีการสู้บนโซเชียลมีเดียซึ่งมีฐานกว้างใหญ่กว่าจะทำได้ดีหรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ

‘รทสช.’ปั้น‘รุ่นใหม่’แทน‘รุ่นเก่า’

ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีฐานคะแนนจากความนิยมในตัวของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คะแนนบัญชีรายชื่อมาได้ 4,673,691 แต้ม ไฟต์บังคับให้ไปต่อ ปั้นเป็น “สถาบันการเมือง” ลบคำปรามาส “พรรคเฉพาะกิจ”

ภารกิจต่อไปก็คือ ต้องปั้นพรรคลุยต่อ ยึดแนว “ขวาใหม่” เสาหลักสายอนุรักษ์นิยม โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นโลโก้ต่อไป แต่ผู้นำพรรคอาจต้องปรับตามสมัยนิยม “รุ่นใหม่” ออกหน้าแทน “รุ่นใหญ่” ที่เหมาะอยู่เบื้องหลังมากกว่า

มีกระแสเรียกร้องภายในเชียร์ “เลขาฯขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน แล้ววาง “หัวหน้าตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ให้ไปเป็นกุนซือวางกลยุทธ์ แต่นาทีนี้ยังเร็วไป เพิ่งเสร็จศึกไม่นาน

โดยการทำงานหลังจากนี้สอดผสานกัน 2 ส่วน คือ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบเขต และ บัญชีรายชื่อ ที่ต้องเข้าไปทำหน้าที่ในสภาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน

ส่วน “ส.ส.สอบตก” จะมาร่วมกันถอดบทเรียน พร้อมเสนอแนะแนวทาง ข้อมูลจากการลงพื้นที่ ส่งต่อคณะกรรมการบริหารพรรค นำไปสังเคราะห์ออกมาเป็นนโนบาย เสริมจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อนขับเคลื่อนงานแต่ละพื้นที่ตอบโจทย์ประชาชน ก่อนจะขยายครอบคลุมทั่วประเทศ

อนุชา บูรพชัยศรี รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า หลังจากนี้จะได้นำประสบการณ์ต่างๆ เติมเต็มในการทำงานต่อไปข้างหน้าให้สมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้พรรคจะเดินไปในทิศทางของการทำงานในรูปแบบใหม่ ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น แต่ก็จะมีทั้งคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกัน นี่เป็นแค่เพียงเบื้องต้น

“การปรับแนวทางของพรรคยังไม่ได้ลงลึกรายละเอียดกันมากนัก ว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะปรับกันยังไง เพียงแต่ภาพรวมเราเห็นตรงกันว่าต้องปรับปรุง โดยผ่านเสียงสะท้อนของผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพื้นที่ ให้สังเคราะห์ออกมา กำหนดแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน นำมาเสนอพรรคซึ่งต้องรับฟังข้อเสนอ อันนี้ก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป”

“อนุชา” บอกอีกว่า สำหรับการปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเสริมทีมด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยจากทีมเดิมที่มีอยู่แล้ว ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการหารือในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นพรรคใหม่ และมุ่งไปที่ตัวผู้สมัคร ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่หลังจากการเลือกตั้งแล้วจึงต้องมาวิเคราะห์และมีการปรับกลยุทธ์ในหลายด้าน เพื่อให้พรรคเข้าถึงประชาชนมากขึ้น

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ

พปชร.แบ็คทูเบสิค ลุยพื้นที่ฟื้นศรัทธา

ด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก่อนเลือกตั้งบรรดาแกนนำต่างมั่นอกมั่นใจ ตั้งเป้าหมายจำนวน ส.ส. ไว้ค่อนข้างสูง บ้างก็ว่า 150 ที่นั่ง พอช่วงหลังๆ เริ่มลดลงมาเหลือประมาณ 70 ที่นั่ง

แต่เมื่อกรรมการเป่านกหวีดหมดเวลาหย่อนบัตร “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 40 ที่นั่ง โดยเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น เรียกว่าตัวเลขจริงผิดไปจากเป้าหมายพอสมควร

ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม่ทัพใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร ก็ยังใจสู้ไม่ท้อถอย เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค และว่าที่ส.ส. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของการประชุมพลังประชารัฐในวันนั้น พล.อ.ประวิตร ยังคงเน้นย้ำกับลูกพรรคในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นสถาบันทางการเมือง มุ่งเน้นวิธีการที่ “เบสิค” ที่สุด คือการทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อซื้อใจประชาชน เป็นวิธีการสำคัญเบื้องต้นที่จะทำให้พรรคขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกพรรค เรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมา ไม่ให้เตลิดแยกย้ายหายกันไปไหน เพราะต้องยอมรับว่า หากบิ๊กป้อมถอดใจ หรือวางมือย่อมสะเทือนพลังประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น เมื่อหัวเรือใหญ่ยังโฟกัสในเกมอำนาจ พร้อมจะเดินหน้าพาพลังประชารัฐไปต่อ การกลับไปให้ความสำคัญกับสเต็ปแรก คือทำพื้นที่แก้ปัญหาให้ประชาชนผ่านผู้แทนฯ ของพรรคให้เป็นที่ยอมรับ สร้างความจดจำว่า พรรคการเมืองนี้สามารถเป็นที่พึ่งที่หวังของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง

ถึงแม้ตรงนี้อาจจะต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ทุกอย่างไม่มีทางลัด จึงต้องจับตาดูว่าพรรคการเมืองยี่ห้อนี้ จะกลับมายืนแถวหน้าได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือ พล.อ.ประวิตร มีเจตจำนงแน่วแน่ที่สะท้อนผ่านการปลุกใจลูกพรรค ฝากทุกคนช่วยกัน อย่าให้ใครดูถูกว่าพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจ

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ

ปชป.สลัดคราบ “ขวาตกขอบ”

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รอบนี้ตัวเลข ส.ส. ลดฮวบไปกว่าครึ่งเหลืออยู่ที่ 24 เสียงแบ่งเป็น ส.ส.เขต 22 เสียง และบัญชีรายชื่อ 2 คน จากรอบที่แล้ว 53 ที่นั่ง

ขณะที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ปชป.รอบนี้ได้มาเพียง899,303 คะแนน และหากลงลึกไปในรายเขตภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ พบว่า คะแนนที่ปชป.ได้มาส่วนใหญ่ มาจากบัตรเลือกตั้งในระบบเขตกว่า 2 ล้านคะแนน

ผลที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ปชป. เทไปที่พรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในขั้วอนุรักษ์นิยมอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีฐานเสียงเดียวกันในภาคใต้ หรือแม้แต่พรรคฝั่งประชาธิปไตยอย่างพรรคก้าวไกล ที่เมื่อดูเฉพาะโซนภาคใต้ พบว่าถูกสีส้มปกคลุมหลายพื้นที่

ต่างๆ เหล่านี้ย่อมเป็นการสะท้อนถึงโจทย์ใหญ่ของค่ายประชาธิปัตย์ นั่นคือการ “รีแบรนด์ดิ้ง” ครั้งใหญ่ทั้งในส่วนของ “บุคคล” โดยเฉพาะตัวผู้นำพรรค ที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ แทน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ก่อนพ้นวาระเพียง 1 วัน โดยขั้นตอนนี้ จะเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ 

ขณะเดียวกันตัวเลข ส.ส.ที่ดิ่งวูบแบบน่าใจหายย่อมเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าปชป.ถึงเวลาต้อง“รีแบรนด์ดิ้ง” ในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการล้างภาพจำของการเป็นขั้วการเมืองแบบ “ขวาตกขอบ” ในห้วงที่กระแสฝ่ายประชาธิปไตยนับวันจะยิ่งสูงขั้นเรื่อยๆ

ตอกย้ำชัดถึงความพยายามในการโยนสูตรจับขั้วการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการก่อกำเนิดการเมืองขั้วใหม่ ไม่เว้นแม้แต่การจับขั้วการเมืองกับพรรคฝั่งเสรีนิยมในปัจจุบัน

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ

ภท.ยึดสไตล์ สาย“กระสุน”สู้“กระแส”

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) แม้รอบนี้จะกวาดส.ส.เข้าสภาแบบเกินคาดถึง 71 ที่นั่ง ถือเป็นพรรคอันดับหนึ่งในขั้วอนุรักษ์นิยม ทว่าเมื่อเจาะลึกไปที่คะแนน ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ กลับพบว่า ปาร์ตี้ลิสต์รอบนี้ภูมิใจไทยได้มา 1,118,870 คะแนน จากทั้งหมดกว่า 5 ล้านคะแนน โดยส่วนที่เหลืออีก 4,974,042 คะแนน เป็น ส.ส.ระบบเขต

แม้กระแสพรรคภูมิใจไทย ยังอาจเป็นรองหลายๆ พรรค ส่วนหนึ่งอาจมาจากเกมเตะสกัดจากรอบทิศ มีผลมาจากหลากหลายปมร้อน อาทิ ประเด็นการดันนโยบายกัญชา รวมถึงแบรนด์พรรคที่ถูกสลักว่า เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ ส.ส.งูเห่า

ทว่า ในแง่ของตัวบุคคล รวมถึงโครงสร้างพรรค ยามนี้ดูเหมือนภูมิใจไทยจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก การบริหารแบบพ่อค้าของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ที่คำนึงถึงต้นทุนกำไร

 แม้รอบนี้ภูมิใจไทยจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาเพียง 3 ที่นั่ง แต่หากดูตัวเลขในส่วนของ ส.ส.เขตที่ได้มาถึง 69 คน จากรอบที่แล้ว 39 คน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ภูมิใจไทยไม่เคยมี ส.ส.มาก่อน แต่สามารถปักธงล้มบ้านใหญ่ บ้านรอง ได้สำเร็จ นั่นย่อมเป็นการสะท้อนสไตล์ "สายกระสุน" ของค่ายภูมิใจไทย ต้องถือว่าเข้าเป้าอยู่ไม่น้อย

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ

ชทพ.‘รุ่นใหม่’ผสม‘รุ่นเก๋า’

ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ยังคงยึดแนวทาง “รุ่นใหม่” ผสมผสานกับ “รุ่นเก๋า” โดยแบ่งงาน-แบ่งหน้าที่กันขับเคลื่อนพรรค

โดย “รุ่นใหม่” จะคัดเลือกผู้สมัครหน้าใหม่ ที่มีหน่วยก้านดี มาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรค พร้อมทั้งขยายพื้นที่ไปในหลายจังหวัดให้มากขึ้น คู่ขนานไปกับการทำงานของผู้สมัครรุ่นเก่า ที่ฐานเสียงยังเหนียวแน่น คอยประคับประคองพรรคให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ความพยายามขยายฐานจากพรรคจังหวัด ยังเป็นเป้าหมายของชาติไทยพัฒนา ที่พยายามแชร์คะแนนจากคนรุ่นใหม่ ที่กำลังสนใจ “วราวุธ” ที่โชว์ภาพลักษณ์หัวหน้าพรรคอินเตอร์ อยู่ไม่น้อย 

ถอดบทเรียน\'รีแบรนด์พรรค\'การเมืองโซเชียล\'กระแส\'ชนะ\'กระสุน\'ปัจจัยชัยชนะ