'หัวหน้าที่ดี' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง 'ทำงานหนัก' เท่าตัวเอง

'หัวหน้าที่ดี' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง 'ทำงานหนัก' เท่าตัวเอง

เพราะอะไร "หัวหน้าที่ดี" จึงไม่ควรคาดหวังให้ลูกน้องหรือพนักงาน "ทำงานหนัก" เหมือนตัวเอง แถมยังควรเข้าใจความสำคัญของการได้ "เลิกงานตรงเวลา" ว่า ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่ออฟฟิศพึงมี

Key Points :

  • การระบาดของ “โควิด-19” ทำให้ “ค่านิยม” ในโลกการทำงานเปลี่ยนไป บางคนเฉียดตาย หลายคนต้องสูญเสียคนใกล้ตัว และอีกมากที่ระลึกได้ว่า ชีวิตยังมีหลายเรื่องที่สำคัญกว่าการทำงาน
  • ถึงเวลาที่เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง จะต้องคิดใหม่ และเลิกคาดหวังให้พนักงานทำงานหนักเท่ากับที่ตัวเองทำอยู่
  • เหตุผลสำคัญ คือ เมื่อกิจการไปได้ดี พนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในผลประโยชน์หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตได้มากมายนักหากเทียบผู้บริหารระดับสูงที่ได้ทั้ง "ผลงาน" จนถึง "ผลตอบแทน" ที่มากกว่าหลายเท่า

\'หัวหน้าที่ดี\' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง \'ทำงานหนัก\' เท่าตัวเอง

หยุดก่อนจะสาย! สำหรับเหล่านายจ้าง ผู้บริหาร และ หัวหน้างาน ที่อยากให้ลูกน้องทุ่มเท "ทำงานหนัก" เท่าๆ กับที่ตัวเองทำอยู่ เห็นใครกลับบ้านเร็ว เป็นขัดใจ ..ถ้าใครกำลังคิดแบบนี้ อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนกันใหม่

แม้มันจะเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว ที่เหล่าบอสจะประเมินลูกน้องทั้งต่อหน้าและแอบทำแบบเงียบๆ ว่า ใครทำงานได้ดี หรือมีประสิทธิภาพแค่ไหน

แต่มันอาจไม่ใช่เรื่องปกติในโลกการทำงานวันนี้ ถ้าเราจะจับจ้อง หรือ คาดหวังจะได้เห็น “ความทุ่มเท” ในระดับที่อาจจะเข้าขั้น “บ้างาน” เหมือนกับที่ตัวเองเป็นอยู่

เมื่อการระบาดของ “โควิด-19” ทำให้ “ค่านิยม” เกี่ยวกับการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมาย บางคนเฉียดตาย หลายคนต้องสูญเสียคนใกล้ตัว และอีกมากที่ระลึกได้ว่า ชีวิตยังมีเรื่องที่สำคัญกว่าการทำงานหาเงิน

มนุษย์ออฟฟิศจำนวนมากจึงเริ่มหันกลับมาบาลานซ์ชีวิตส่วนตัวและการทำงานเสียใหม่ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ “การลาออกครั้งใหญ่” หรือ Great Resignation ที่เกิดขึ้นมโหฬารในสองปีที่ผ่านมา

..ไม่ว่า คุณจะทุ่มเทกับงานถึงขนาดไม่กลับไปกินข้าวเย็นที่บ้าน หรือพลาดงานสังสรรค์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่กับครอบครัว-คนใกล้ตัวอยู่เสมอ

..ไม่ว่า มันจะเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ที่คุณต้องนอนค้างที่ออฟฟิศเพื่อสะสางงานให้เสร็จสิ้น

..นั่นมันเรื่องของคุณ แล้วคุณก็ไม่ควรคาดหวังให้ลูกน้องทำแบบเดียวกัน

\'หัวหน้าที่ดี\' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง \'ทำงานหนัก\' เท่าตัวเอง

หรือถ้าใครกำลังคิดหาวิธีกระตุ้นลูกน้องเปลี่ยนทัศนคติมาคิดแบบเดียวกัน ก็ควรจะหยุดความคิดนั้นเสีย แล้วลองคิดใหม่ว่า เป็นคุณเองหรือไม่ ที่ควรเปลี่ยนความคิดนี้!

มินดา เซ็ตลิน (Minda Zetlin) ผู้เขียนหนังสือ “Laid-Back Leader” และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหลายๆ เว็บไซต์ต่างประเทศ ได้เขียนบทความลงบน Inc.com เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยบอกว่า ถ้าหัวหน้างานคนไหนกำลังคิดหาวิธีที่จะทำให้ลูกน้องมีแพสชั่นในการทำงานแบบเดียวกับที่คุณมี ก็ขอให้รู้ว่า อาจไม่ใช่ลูกน้องของคุณหรอกที่มีปัญหา เพราะคนที่ควรเปลี่ยนความคิดน่าจะเป็นตัวคุณเองมากกว่า

มินดา บอกว่า ผู้นำที่ชาญฉลาดจะรู้ดีว่า ไม่ควรคาดหวังหรือดึงดันให้พนักงานทุ่มเทให้กับงานในแบบเดียวกับที่เจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงทำ 

\'หัวหน้าที่ดี\' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง \'ทำงานหนัก\' เท่าตัวเอง

สำหรับ สาเหตุที่เหล่าผู้บริหารทั้งหลายไม่ควรคาดหวังให้พนักงานทุ่มเททำงานหนักเท่าตัวเอง มินดา ให้เหตุผลไว้ดังนี้

1. งานของพวกเขาเทียบกันไม่ได้เลยกับงานของคุณ

คุณอาจจะรับรู้ได้ว่า ผลลัพธ์จากความทุ่มเทที่คุณมีให้กับงาน จะตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่า หากบริษัทของคุณประสบความสำเร็จ สปอตไลต์ก็จะฉายลงมาที่ตัวคุณ

ไม่ว่าจะชื่อเสียงหรือเงินทอง การระดมทุนต่างๆ ที่จะวิ่งเข้ามาหาตัวคนที่ภายนอกมองเห็นนั่นก็คือเหล่าผู้บริหารระดับสูงทั้งนั้น มันจึงสมเหตุสมผลถ้าคนระดับนี้จะทุ่มเท หรือยอมแลกเวลาส่วนตัวให้กับงาน

แต่ในทางกลับกัน เมื่อใดที่ธุรกิจสุดปัง สิ่งที่พนักงานจะได้รับก็อาจมีแค่โบนัส เงินพิเศษ หรืออาจจะได้แบ่งหุ้นมาส่วนหนึ่งกรณีที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ

แม้มันจะทำให้เขาร่ำรวยขึ้นมาได้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับ “เปลี่ยนแปลงชีวิต” ได้แบบที่คุณเป็น

“พนักงานของคุณไม่ได้เลือกที่จะเสี่ยงลงทุน และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาเลือกจะทำงานให้คุณมากกว่าจะตั้งบริษัทเอง”

มินดา อธิบายต่อว่า พวกเขาก็แค่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยจากเงินเดือนที่จะได้รับทุกเดือน แล้วก็อยากมีอิสระได้เดินชิลๆ ออกจากออฟฟิศไปเมื่อถึงเวลาเลิกงาน

“บริษัทของคุณไม่ได้มีความหมายต่อพวกเขามากเท่ากับที่มีความหมายกับคุณ” เธอย้ำ

\'หัวหน้าที่ดี\' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง \'ทำงานหนัก\' เท่าตัวเอง

2. พนักงานทุกคนมีสิทธิที่จะมี Work-life Balance

ถ้าจำกันได้ ช่วงที่โควิดระบาดหนัก ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยผู้คนนับล้านได้หันกลับมาทบทวนถึงสิ่งที่สำคัญในชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง แล้วก็เลยเป็นเหตุผลสำคัญของการลาออกครั้งใหญ่

"การลาออกครั้งใหญ่" (Great Resignation) ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 47 ล้านคนลาออกจากงานในปี 2564 ไม่ว่าจะออกไปหางานที่มีความหมายมากกว่า หรือบางคนก็ออกไปตามหาสิ่งสำคัญอื่นๆ ในชีวิต

ส่วนคนที่ตัดสินใจอยู่ต่อ ก็พบว่า ตัวเองต้องทำงานหนักขึ้น จนส่งผลให้หลายคนต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะหมดไฟ หรือ Burnout

\'หัวหน้าที่ดี\' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง \'ทำงานหนัก\' เท่าตัวเอง

เมื่อย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด คุณจึงไม่ควรแปลกใจถ้าพนักงานเห็นไม่ได้ทำท่ากระตือรือร้นเมื่อรู้ว่าจะต้องทำงานนอกเวลาโดยใช้เวลาช่วงเย็นหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับการทำงาน

พวกเขาอาจจะเหนื่อยล้าจากสิ่งต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แล้วพวกเขาก็ได้รู้ซึ้งว่า ชีวิตมันไม่ได้มั่นคงอย่างที่คิด

3. โฟกัสที่ประสิทธิภาพการทำงานน่าจะดีกว่า

สำหรับพนักงานที่ยินยอมทำงานเกินเวลาแบบยาวนาน มันอาจไม่ได้หมายความว่า พนักงานคนนั้นมีแพสชั่นกับงานของตัวเอง แต่อาจเป็นเพราะเขากลัวตกงาน แล้วก็ไม่มั่นใจว่าจะหางานใหม่ได้อีก

อย่างไรก็ตามมินดาออกตัวว่า ไม่ได้จะเหมารวมพนักงานทุกคนที่อยากเลิกงานตรงเวลาว่า ทำงานได้สุดยอด เปี่ยมประสิทธิภาพ แต่มันก็มีความเป็นไปได้ว่า พนักงานเหล่านั้นพอจะมีความมั่นใจอยู่บ้างว่า พวกเขาสามารถหางานใหม่ได้ หากว่าต้องออกจากที่ทำงานปัจจุบันไป

“ฉันเคยเห็นหัวหน้าที่ไม่ได้เรื่องจำนวนไม่น้อยเลยที่คอยแต่จะประเมินพนักงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่พวกเขานั่งอยู่ในออฟฟิศ มากกว่าจะดูกันที่คุณภาพที่แท้จริงของงาน จงอย่าทำผิดแบบนั้น” มินดา บอก

\'หัวหน้าที่ดี\' ต้องไม่คาดหวังให้ลูกน้อง \'ทำงานหนัก\' เท่าตัวเอง

4. พนักงานที่รู้จักพัก จะสามารถทำงานได้ดีขึ้น

การให้คนทำงานต่อแม้ว่าจะหมดเรี่ยวแรง หรือพะวงกับเรื่องอื่นๆ นั้นไม่เป็นเรื่องดีต่อใครหรืออะไรทั้งนั้น รวมถึงตัวองค์กรเองก็ด้วย

ไม่ว่างานจะมีความสำคัญแค่ไหนเพียงใด สิ่งสำคัญสำหรับพนักงาน คือ การได้ “หยุดพัก” ทั้งเพื่อสุขภาพจิตของตัวพนักงานเอง และเพื่อคุณภาพของงานที่จะไม่ลดลง

 

อ้างอิง : inc.com