เปิดวิธีรับมือ เจ้านายจอมสั่ง สั่งงานเก่ง คาดหวังสูง แต่ไม่ให้เวลาทำงาน

เปิดวิธีรับมือ เจ้านายจอมสั่ง สั่งงานเก่ง คาดหวังสูง แต่ไม่ให้เวลาทำงาน

เปิดวิธีตั้งรับ “เจ้านายจอมสั่ง” ที่โทรมาสั่งงานได้ทุกเวลา จนทำงานแทบไม่ทัน แถมกดดัน ทวงยิก แต่พอทำเสร็จ ก็แค่เสมอตัว ไม่ได้รับคำชม มองไม่เห็นคุณค่า จนอาจเกิดปัญหา “หมดไฟ” ไม่มีกำลังใจทำงานได้

ในบางครั้งสถานที่ทำงานมีความท้าทายให้เราได้ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้านายสุดไฮเปอร์และไม่แคร์ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน พวกเขามักจะมาพร้อมกับความคาดหวังในตัวพนักงานที่สูงเกินไป หลายครั้งที่สั่งงานไม่เป็นเวลา นอกเวลางานก็ยังมาตาม งานเก่ายังไม่ทันจะเคลียร์ แต่งานใหม่ก็มาอีกแล้ว แถมเป็นงานด่วน สั่งตอนค่ำจะเอาตอนเช้า

ลินน์ เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพ ระดับประเทศระบุว่า "เจ้านายจอมสั่ง" มักจะไม่เห็นอกเห็นใจหรือชื่นชมคุณเมื่อทำตามคำสั่งได้ทันเวลา ดีแต่จะกดดันคุณให้ทำงานให้ทันเท่านั้น ซึ่งถ้าเขาต้องการให้คุณสร้างกรุงโรมให้เสร็จภายในหนึ่งวันคุณก็ต้องทำให้ได้

“หัวหน้างานเหล่านี้จะ"สั่งงานเก่ง"สั่งงานงานทันทีที่พวกเขานึกออก และจะรีบเอาให้ได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาทำงาน ไม่แคร์ด้วยว่า คุณพร้อมจะรับงานนั้นหรือเปล่า จะทำงานทันไหม จะต้องการอะไรเพิ่มเติมสำหรับทำงานหรือไม่ แต่ต่อให้คุณทำไม่ได้ คุณก็ต้องทำอยู่ดี แล้วเมื่อคุณทำงานเสร็จแล้วก็อาจจะได้รับเพียงแค่คำชมเล็ก ๆ น้อยเท่านั้น” เทย์เลอร์อธิบาย

ด้วยการมอบหมายงานจำนวนมาก แต่ให้ส่งภายในเวลาที่จำกัด จนเกิดคำถามว่า “ใครจะทำทัน?” พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานปวดหัวอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน ความเครียดพุ่งสูง แต่ยังรวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงาน คุณภาพของงานแย่ลง แถมยังทำลายความผูกพัน และความรู้สึกดีๆ ที่พนักงานมีต่องานและองค์กรอีกด้วย จนท้ายที่สุดเกิดอคติต่อหัวหน้างาน ไม่มีกำลังใจในการทำงาน และไฟในการทำงานค่อย ๆ มอดดับลงไปในที่สุด

  • หัวหน้าจอมสั่ง

ทำไมเจ้านายถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ? เทย์เลอร์ระบุว่า หัวหน้างานบางคน มักจะมองว่าอำนาจการสั่งงานเป็น “สิทธิ-หน้าที่” ที่พวกเขาต้องทำ จนบางทีอยากควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในกำมือ หรือบางที่พวกเขาเป็นพวกเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) ที่ไม่อยากให้อะไรผิดพลาด หรือแท้จริงแล้วพวกเขาอาจจะแค่ทำไปเพราะกลัวตนเองจะไม่มีผลงาน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาต้องตกงานก็เท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พฤติกรรมของเจ้านายเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ ทั้งเรื่องเอาแต่ใจ แถมทำตัวราวกับตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ยากที่จะรับมือได้

ขณะที่ริต้า ฟรีดแมน โค้ชด้านอาชีพและการเขียนเรซูเม่กล่าวว่า “แรงกดดันของหัวหน้างาน จะส่งผลให้พนักงานต่างพยายามสร้างความประทับใจให้ผู้บริหาร ทำให้เกิดการแข่งขันภายในที่ทำงาน และอาจตามมาด้วยการเขม่นกันในทีม แต่สุดท้ายแล้วพนักงานที่ทุ่มเทให้แก่หัวหน้าไฮเปอร์ก็จะรู้สึกผิดหวัง เพราะนายจ้างไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขา สุดท้ายพวกเขาก็จะไม่สามารถทำงานที่มีคุณภาพอีกต่อไป”

  • พนักงานหมดไฟ

เมื่อพนักงานต้องทำงานตามสั่งของหัวหน้าบ่อย ๆ หรือถูกคาดหวังให้ส่งงานตามเดดไลน์ที่เร่งด่วน จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนไม่มีใจที่จะทำงานต่อ เลือกลาออกไป พนักงานที่เหลือก็จะต้องแบกรับความเครียดที่สูงขึ้น เพราะต้องรับผิดชอบงานของคนที่ลาออกไปด้วย ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะ Burn On และ Burn Out มากยิ่งขึ้น

 

อ่านบทความที่น่าสนใจ : 

 

“ผู้จัดการที่เอาแต่สั่งงานจะปฏิบัติต่อพนักงานของตนเหมือนว่าเป็นทรัพยากรที่หาทดแทนได้ มากกว่าจะมองพวกเขาเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของบริษัท” ซูซานนา ซิมิค ผู้จัดการฝ่ายบริการอาชีพของสถาบันระบบคอมพิวเตอร์ หรือ CSI กล่าว

ซิมิคยังให้ความเห็นอีกว่า พนักงานในทีมของหัวหน้าจอมสั่งจะรู้สึกว่าพวกเขา “ตัวเล็กลง” ทำอะไรก็ยังดีไม่พออยู่เสมอ และมีท่าทีหวาดหวั่นและกลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาด จนทำลายความสมบูรณ์แบบตามที่หัวหน้าคาดหวัง พาบรรยากาศตึงเครียดไปหมด อีกทั้งต้องคอย “เอาใจ” หัวหน้า ทำทุกอย่างตามที่พวกเขาต้องการอีกด้วย

เมื่อถึงจุดนี้เหล่าพนักงานจะโทษตัวเองมากกว่าจะโกรธเจ้านาย เพราะพวกเขาจะติดอยู่กับความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จ และไม่อยากเป็นคนไร้ความสามารถในสายตาหัวหน้า ซึ่งอาจทำให้เจ้านายไม่พอใจได้

“ความคิดเหล่านี้มันกวนใจคุณ เพราะคุณไม่เชื่อว่าคุณสามารถต่อรองรูปแบบการทำงานกับหัวหน้าโดยไม่ทำให้พวกเขาโมโหได้ หากพูดออกไปแล้วอาจกระทบต่อหน้าที่การงานของคุณ คุณอาจจะโดนเพ่งเล็ง โดนดอง หรืออาจจะโดนเลิกจ้างก็ได้” เทเลอร์อธิบาย

แต่ถึงแม้คุณจะไม่พูดออกไปกับหัวหน้าจอมดีดของคุณ แต่ปัญหาก็ยังคงรุมเร้าคุณจากทุกทางอยู่ดี ทั้งจากภาระงานที่มาไม่หยุด และ ความขัดแย้งทางพฤติกรรม เช่น ไม่พอใจแต่แสดงออกไม่ได้ ไม่อยากทำงานแต่ก็ต้องทำ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคุณทั้งสิ้น แต่ขณะเดียวกันหัวหน้าที่เอาแต่ใจกลับคาดหวังผลงานที่ดีจากคุณมากกว่าเดิม เพราะพวกเขารับรู้แค่ว่า ไม่ว่าจะโยนงานอะไรไปให้ คุณก็ทำได้หมด ไม่มีข้อโต้แย้งหรือปฏิเสธ

 

  • รับมือกับ หัวหน้าจอมสั่ง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งการทำงานกับหัวหน้าไฮเปอร์อาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ไรอัน คาห์น ที่ปรึกษาด้านอาชีพ เสนออีกหนึ่งมุมมองว่านี่เป็นโอกาสพัฒนาและท้าทายความสามารถของตนเอง

“คนเหล่านี้มักเป็นคนที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง เป็นหนึ่งในคนที่องค์กรต้องการตัวมากที่สุด พวกเขามีมาตรฐานสูงมาก และคนที่จะมาร่วมทีมกับเขาก็ต้องมีมาตรฐานสูงเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในทีมบ่อย เพราะพวกเขาไม่แคร์ ถ้าใครทำไม่ได้ก็ออกไป เดี๋ยวก็มีคนใหม่เข้ามาแทน”

“การทำงานกับเจ้านายสายดีดอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน หากรู้วิธีการรับมือกับคนประเภทนี้” คาห์นกล่าวสรุป

เทเลอร์แนะนำว่า ถ้าคุณไม่เรียนรู้วิธีจัดการกับหัวหน้าประเภทนี้ คุณจะต้องรองรับความไม่พอใจของเขาที่มีต่อผลงานของคุณอยู่เสมอ ซึ่งมีผลโดยตรงกับงานจำนวนงานและความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพวกเขา ที่สำคัญความนับถือตนเองของคุณจะลดลง

ดังนั้นคุณจำเป็นจะต้องบอกหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมาว่าขีดจำกัดในงานทำงานของคุณอยู่ตรงไหน คุณต้องการเวลาในการทำงานเท่าไหร่ หาข้อตกลงและเป้าหมายในการทำงานร่วมกันให้ได้ แต่ถ้าหากเจ้านายคุณไม่รับฟัง บางทีอาจจะต้องพึ่งพาบุคคลที่ 3 เช่น คนในทีม ผู้จัดการอาวุโส หรือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เข้ามาช่วยพูดคุย เพราะเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ดังนั้นเราต้องรู้สึกมีความสุขและปลอดภัยเมื่ออยู่ที่นั่น


ที่มา: ForbesImageLinkedIn