ที่อื่นมีปัญหา แต่มาไทย..ไม่เหลือ! 'เอเลียนสปีชีส์' ที่ ‘คนไทย’ ฟาดเรียบ

ส่อง ‘เอเลียนสปีชีส์’ ที่กลายเป็นอาหารคนไทย

เปิด “เอเลียนสปีซีส์” ที่คนไทยนิยมนำมากินเป็นอาหารจนกลายเป็นสตรีทฟู้ดที่รู้จักไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตั๊กแตนปาทังก้า หอยเชอรี่ และอื่น ๆ อีกมากมาย

เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) หรือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นชื่อเรียกของสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ถูกนำมาจากถิ่นอื่น ที่สามารถอาศัยและขยายพันธุ์ในธรรมชาติ และกลายเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ แต่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศและชนิดพันธุ์ท้องถิ่น 

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสัตว์หลากหลายชนิดที่เป็นเอเลียนสปีชีส์ที่เข้ามารุกรานในประเทศไทย แต่ด้วยภูมิปัญญาของคนไทย ยอดนักสู้ สามารถแก้ไขปัญหาสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาสร้างความเสียหายให้แก่ธรรมชาติของไทย ด้วยการ “บริโภค” จนหลายชนิดกลายเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ"

กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวมเอเลียนสปีชีส์ที่คนไทยหันมาบริโภคจนกลายเป็นเมนูที่คนไทยรู้กันดี

  • ตั๊กแตนปาทังก้า

ตั๊กแตนปาทั้งก้า” ขึ้นชื่อว่าเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจที่สร้างความเสียหายมาแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาที่ฝูงตั๊กแตกทำลายผลผลิตทางการเกษตรจนทำใ้ห้ชาวแอฟริกาอยู่ในภาวะอดอยากกว่า 8 ล้านคน เริ่มลุกลามเข้ามาสู่อินเดียและปากีสถาน

จนกระทั่งช่วงปี 2525-2530 ตั๊กแตนปาทังก้าฝูงใหญ่อพยพเข้าสู่ประเทศไทย ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง ถูกทำลายได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง หลายจังหวัดถูกประกาศให้เป็นเขตระบาดของตั๊กแตน ที่จริงรัฐบาลในสมัยนั้นมีแผนจะพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำราบเหล่าแมลงร้ายให้สิ้นซาก แต่ดูเหมือนจะไม่ทันการณ์ เพราะชาวบ้านค้นพบวิธีการที่รวดเร็วกว่า

หลังจากการระบาดไม่นาน ชาวบ้านสามารถกำจัดตั๊กแตนปาทังก้าสามารถได้ด้วยวิธีแสนง่าย คือการจับลงทอดในน้ำมันร้อน ๆ เหยาะซอสปรุงรส พร้อมโรยพริกป่นอีกสักหน่อย ก็อร่อยเหาะ แถมยังทำให้ศัตรูตัวฉกาจของเกษตรกรกลายเป็นแหล่งทำรายได้ในทันที  ตั๊กแตนปาทังก้าถูกจับขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สร้างรายได้ทดแทนจากผลิตทางการเกษตรได้

ด้วยรสชาติที่มันอร่อยเคี้ยวเพลิน เนื้อตั๊กแตนอวบอิ่มชุ่มฉ่ำ แถมโปรตีนสูง จะกินเพลิน ๆ เป็นอาหารว่าง หรือจะเป็นกับแกล้มก็เข้าที ทำให้ตั๊กแตนกลายเป็นอาหารยอดนิยม และฝูงตั๊กแตนปาทังก้าก็หายเรียบไปในเวลาไม่นาน และไม่เคยกลับมาแพร่ระบาดในไทยอีกเลย ส่วนชาวไทยที่ติดรสชาติไปแล้ว ยังมีความต้องการบริโภคอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องนำเข้าตั๊กแตนปาทังก้าจากต่างประเทศ และทำฟาร์มเพื่อการค้าโดยเฉพาะอีกด้วย

  • หอยเชอรี่

หอยเชอรี่” เป็นหอยน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ โดยประเทศไทยรับหอยชนิดนี้มาจากญี่ปุ่นและไต้หวันอีกที เพื่อนำมากำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา และกลายเป็นไอเท็มฮอตฮิตที่นิยมเลี้ยงกันในช่วงปี 2530 ภายหลังมีคนคิดจะเพาะพันธ์ขายเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค เนื่องจากสถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติของแคนาดา ระบุว่า หอยเชอรี่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากมาย แต่กลับไม่เป็นที่นิยม จึงนำหอยเชอรี่ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ 

หอยเชอรี่กลายเป็นปัญหา สร้างความปวดหัวให้แก่ชาวนา ชาวไร่อย่างมาก เพราะหอยเชอรี่สามารถกัดกินต้นกล้าข้าวในนาได้เป็นไร่ แถมขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมดไม่สิ้น

แต่แล้วจุดเปลี่ยนของหอยเชอรี่ก็มาถึง เมื่อชาวบ้าน “เปิดใจ” ลองลิ้มชิมรสหอยเชอรี่ เอาไปใส่ใน “ตำป่า” ปรากฏว่า เนื้อสัมผัสของหอยนุ่มหนึบ ซึมซาบน้ำส้มตำได้ดี จากวันนั้นจนถึงวันนี้หอยเชอรีก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเมนูตำป่าอีกเลย แถมในปัจจุบันยังนำหอยเชอรี่ไปทำเมนูต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

หอยเชอรี่จึงกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจไปในทันที มีการจับขายส่งพ่อค้าคนกลาง ตลอดจนเปิดฟาร์มเลี้ยงหอยเชอรี่เพื่อการบริโภค สร้างรายได้ให้แก่ชาวนาได้อีกทาง 

 

  • ปลาซักเกอร์

สัตว์อีกหนึ่งชนิดที่มาจากอเมริกาใต้และเข้ามาในฐานะสัตว์ทำความสะอาดตู้ปลา คือ “ปลาซักเกอร์” หรือ “ปลาเทศบาล” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาใหญ่ของสัตว์ชนิดนี้คือมีนิสัยดุร้ายหากมีอาหารไม่เพียงพอ พวกมันจะเข้าทำร้ายและกินสัตว์ชนิดอื่น นอกจากนี้ปลาซักเกอร์ยังโตเต็มที่ได้ถึง 2 เมตร 

ดังนั้นเมื่อเหล่าปลาซักเกอร์ตัวใหญ่ขึ้น หรือ สร้างปัญหาใน “ตู้ปลา” หลายคนจึงเลือกจะนำเหล่าปลาเทศบาลไปปล่อยลงตามแหล่งน้ำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะทางนิเวศ

เหล่าปลาซักเกอร์ดูจะไม่ทุกข์ร้อนจากการโดนปล่อย  เนื่องจากพวกมันสามารถทนต่อสภาพแวดล้อม ปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกแหล่งที่อยู่ กินได้ทุกอย่างสมกับชื่อปลาเทศบาล แถมแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกต่างหาก ซ้ำร้ายยังคอยไล่ล่าสัตว์น้ำท้องถิ่น กลายเป็นการทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำในไทย ภาครัฐจึงแนะนำให้กำจัดปลาซักเกอร์หากพบเจอในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงรณรงค์ไม่ให้ปล่อยปลาซักเกอร์ลงในแหล่งน้ำอีกด้วย

อันที่จริง ปลาซักเกอร์ก็สามารถนำมากินได้ และทำอาหารได้หลากหลาย แต่ว่าอาจจะยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่าหอยเชอรีเนื่องจากรูปร่าง หน้าตาของพวกมันไม่ได้น่ารักเสียเท่าไหร่ แต่ถ้าใครได้ลองชิมแล้วติดใจทุกคน

 

  • ปลาดุกบิ๊กอุย

“ปลาดุก” เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด ผิวหนังลื่น อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ โดยในประเทศไทยมีด้วยกันหลากหลายชนิด ปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน ปลาดุกดัก ปลาดุกมอด และปลาดุกลำพัน แต่ในปัจจุบันสามารถพบเห็นและเพาะเลี้ยงขายได้ เหลือเพียงแค่ 2 ชนิดเท่านั้น คือ ปลาดุกด้าน และปลาดุกอุย ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ปลาทั้ง 2 ชนิดเป็นสายพันธุ์เดียวกัน 

ต่อมา กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ของกรมประมง ได้นำ “ปลาดุกเทศ” หรือ “ปลาดุกแอฟริกา” ซึ่งเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก สามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด มีความต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมสูง เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ แต่ปลาดุกชนิดนี้มีเนื้อเหลว และมีสีซีดขาว ไม่น่า รับประทาน มาผสมพันธุ์กับปลาดุกอุยของไทย 

ผลปรากฏว่าสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ดี มีอัตราการเจริญเติบโต รวดเร็ว ทนทานต่อโรคสูง มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาดุกอุย จึงทำให้เกษตรกรนำวิธีการผสมข้ามพันธุ์ไปปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย โดยเรียกว่า “ปลาดุกบิ๊กอุย” และกลายเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจของไทย แต่ไม่ควรนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำเนื่องจาก ปลาดุกบิ๊กอุยถือว่าเป็นเอเลียนสปีซีส์ มีการเจริญเติบโตเร็ว เป็นหมัน กินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งพืชและสัตว์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ

 

  • กุ้งเครย์ฟิช

กุ้งเครย์ฟิช” เป็นสัตว์น้ำอีกหนึ่งชนิดที่ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กุ้งเครย์ฟิชถูกเลี้ยงเพื่อเก็งกำไรเมื่อลูกกุ้งเจริญเติบโต จนทำให้มีราคาซื้อขายพุ่งสูง และในที่สุดความนิยมนั้นก็ทำให้ผลผลิตล้นตลาด จนทำให้แพร่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีคนเคยพบกุ้งชนิดนี้น้ำตกศรีดิษฐ์ จ. เพชรบูรณ์ 

กุ้งชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป โอเชียเนีย และได้รับขนานนามว่า “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” ทำให้มีพละกำลังในการจับสัตว์น้ำท้องถิ่นกินเป็นอาหาร และเป็นอันตรายที่มีต่อระบบนิเวศ ทั้งการแย่งอาหารและที่อยู่อาศัย โดยกรมประมงแนะนำว่าหากพบกุ้งชนิดนี้สามารถนำไปประกอบอาหารได้เลย

 

  • ปลานิล

หากพูดถึงปลาที่คนไทยนิยมบริโภคในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ “ปลานิล” อยู่ด้วยอย่างแน่นอน แต่ความจริงแล้วปลานิลก็คือว่าเป็นเอเลียนสปีชีส์ด้วยเช่นกัน เพราะมีถิ่นกำเนิดอยู่ลุ่มแม่น้ำไนล์ โดย

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 

เนื่องด้วยปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าถึงประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้น พบว่าปลานิลเป็นกลุ่มพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง หรือชัดเจนนัก เนื่องจากใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่นหรือสมดุลของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามสภาพของนิเวศที่เปลี่ยนไป อาจมีผลให้ชนิดพันธุ์ดังกล่าวเจริญแทนที่ และขัดขวางการฟื้นตัวของสมดุลนิเวศในบางครั้งสัตว์น้ำในประเภทนี้ 

 

ที่มากรมประมงเทคโนโลยีชาวบ้านมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรBrand ThinkGourmet And Cuisine

กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา

ที่อื่นมีปัญหา แต่มาไทย..ไม่เหลือ! \'เอเลียนสปีชีส์\' ที่ ‘คนไทย’ ฟาดเรียบ