30 แต่โสด แปลกเหรอ? ปรากฏการณ์ Waithood เมื่อ 'คนรุ่นใหม่' ไม่รีบแต่งงาน

30 แต่โสด แปลกเหรอ? ปรากฏการณ์ Waithood เมื่อ 'คนรุ่นใหม่' ไม่รีบแต่งงาน

ใครรีบไปก่อนเลย! อายุ 30 ปีแต่ยัง "โสด" แปลกเหรอ? ปรากฏการณ์ Waithood เมื่อ "คนรุ่นใหม่" ไม่รีบแต่งงาน เพราะไม่อยากสิ้นเปลืองและเพิ่มภาระ ขอโสดให้สนุกใช้ชีวิตให้สุดก่อนดีกว่า

Key Points:

  • ปรากฏการณ์ Waithood ถูกนิยามขึ้นมาโดยนักมานุษยวิทยาตั้งแต่ปี 2018 หมายถึง สังคมที่หนุ่มสาววัย 30 ปีขึ้นไป ยังครองตัวเป็นโสด ไม่รีบแต่งงาน ไม่อยากมีภาระ แต่อยากใช้ชีวิตให้เต็มที่ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงการศึกษาสูง
  • เทรนด์ Waithood กำลังมาแรงทั่วโลก แม้จะผ่านมาถึงปี 2023 แล้ว แต่เทรนด์นี้ก็ยังอยู่ โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หนุ่มสาวทั่วโลกไม่รีบสร้างครอบครัว คือ ติดขัดเรื่องการเงิน, มีปัญหาการหาคู่, ผู้หญิงเรียนสูงขึ้น รายได้ดี ไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย ฯลฯ
  • เทรนด์นี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เมื่อผู้คนแต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง บ้างก็ไม่อยากมีลูก ทำให้อัตราการเกิดน้อย-ประชากรลดลง กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม 

ไม่ใช่เพิ่งมี แต่เทรนด์ "Waithood" หรือกระแสคนรุ่นใหม่ไม่รีบแต่งงาน เกิดขึ้นมา 4-5 ปีแล้ว ล่าสุดประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะคนโสดในปี 2023 ก็ยังถูกบูลลี่เรื่องนี้ไม่หยุด และไม่ได้เกิดแค่ในสังคมไทย แต่ทั่วโลกก็กำลังเกิดปรากฏการณ์นี้ไม่ต่างกัน “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนไปย้อนรอยเทรนด์นี้กันอีกครั้ง

ปรากฏการณ์ Waithood ถูกรายงานครั้งแรกในการประชุมผลงานการวิจัยด้านสังคมและมานุษยวิทยา ของนักวิชาการ 14 คนจากสหรัฐอเมริกา สเปน แคนาดา สิงคโปร์ และฝรั่งเศสในหัวข้อ “Waithood: Gender, Education, and Global Delays in Marriage” เมื่อปี 2018

 

  • เทรนด์ Waithood ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ คืออะไร?

ผู้บรรยายหลักในการประชุมครั้งนั้น คือ  Marcia C. Inhorn ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจาก Yale University และ Nancy J. Smith-Hefner รองศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาจาก Boston University อธิบายว่า ได้ค้นพบปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก นั่นคือ “การแต่งงานที่ล่าช้า” หรือ “Waithood” โดยเฉพาะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง 

30 แต่โสด แปลกเหรอ? ปรากฏการณ์ Waithood เมื่อ \'คนรุ่นใหม่\' ไม่รีบแต่งงาน

พวกเขาพบว่าปรากฏการณ์นี้ถูกรายงานผ่านสื่อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, รวันดา ไปจนถึงญี่ปุ่น ทำให้นักมานุษยวิทยามองว่า เรื่องนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ และอาจเป็นปัญหาระดับโลกที่กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของหลายประเทศ

Smith-Hefner ชี้ว่า วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ในเมืองใหญ่ของอินโดนีเซียอย่าง “ยอกยาการ์ตา (Yogyakarta)” และในสหรัฐอเมริกาหลายๆ เมือง มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของค่านิยมการแต่งงานช้าลง เนื่องจากติดขัดเรื่องการเงิน (บางวัฒนธรรมมีค่านิยมจัดงานแต่งงานราคาแพง) และ/หรือ ประสบปัญหาการหาคู่

ขณะที่ Marcia C. Inhorn เสริมว่า ในบางประเทศที่แม้ไม่มีวัฒนธรรมจัดงานแต่งงานราคาแพง เช่น กรีซ สเปน และฝรั่งเศส แต่พวกเขาก็เลือกอยู่เป็นโสด โดยพบอัตราการแต่งงานช้าลงเช่นกัน และกำลังเผชิญกับปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ตามวัยถดถอย

 

  • อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดเทรนด์ Waithood ของคนหนุ่มสาว?

“เหตุใดคนรุ่นใหม่ไม่อยากแต่งงาน? ทำไมอัตราการแต่งงานช้าลงเพิ่มขึ้นทั่วโลก และมีบุตรช้าลง? ฯลฯ คำตอบของคำถามเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่มันกลายเป็นกระแสทั่วโลก” ศาสตราจารย์ Inhorn ย้ำอีกครั้ง และได้สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Waithood ดังนี้

30 แต่โสด แปลกเหรอ? ปรากฏการณ์ Waithood เมื่อ \'คนรุ่นใหม่\' ไม่รีบแต่งงาน

1. งานแต่งงานตามประเพณีมีราคาแพง

ในบางประเทศพบว่า การจัดงานแต่งงานตามประเพณีมีราคาแพงเกินไป งานวิจัยจาก Diane Singerman รองศาสตราจารย์สาขาการปกครองรัฐ จาก American University วอชิงตัน ดี.ซี. ได้ยกตัวอย่างเรื่องนี้ไว้ว่า คนหนุ่มสาวในตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ ก็มีแนวโน้มแต่งงานช้าลง โดยสาเหตุหลักๆ มาจากงานแต่งงานตามประเพณีราคาแพงเกินไปสำหรับคนหนุ่มสาว ขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานที่สูง และค่าจ้างต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเริ่มสร้างครอบครัวได้ ในขณะที่การมีลูกก่อนแต่งก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงไม่แปลกที่หนุ่มสาวอยู่เป็นโสดมากขึ้น

2. ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น และประสบความสำเร็จแซงหน้าผู้ชาย

ในหลายพื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาและอาชีพระดับสูงได้ เมื่อพวกเธอเรียนจบสูงและทำงานอย่างกระตือรือร้น จึงมักจะประสบความสำเร็จแซงหน้าผู้ชาย ไม่ได้บอกว่าผู้ชายไม่เก่ง แต่อัตราการสำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย เมื่อประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีรายได้ดี ก็มักพึ่งพาตัวเองมากกว่าจะแต่งงานเพื่อพึ่งพาผู้ชาย

3. เทรนด์การแต่งงานช้าของผู้หญิงที่การศึกษาสูง มีอิทธิพลต่อผู้หญิงกลุ่มอื่นๆ 

จากการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า แม้ว่าผู้หญิงบางกลุ่มจะไม่ได้รับการศึกษาสูง แต่พวกเธอก็มีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลง หากเห็นว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงรอบๆ ตัวเลือกทำแบบนั้น ผู้หญิงเหล่านี้หลายคนต่อต้านรูปแบบการแต่งงานแบบดั้งเดิมในช่วงวัยรุ่น (บางประเทศมีวัฒนธรรมคลุมถุงชนให้ลูกสาวที่อายุยังน้อย) เนื่องจากอยากใช้เวลาหาประสบการณ์ชีวิตก่อน 

4. ค่านิยมของผู้หญิงมักเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่เรียนสูงกว่า

ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น เมื่อบวกกับค่านิยมที่มักจะเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่มีการศึกษาสูงกว่า หรือมีเงินเดือนที่มากกว่าตัวเอง และผู้ชายต้องเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก ค่านิยมนี้อาจไม่ถูกต้องเสมอไป แต่มันฝังลึกในสังคมหลายๆ ประเทศ โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดความเป็นชาย (หาเลี้ยงและปกป้องครอบครัว) ดังนั้นพวกเธอจึงพบว่า ตัวเองไม่สามารถหาคู่ครองที่ต้องการได้ บางคนถึงขั้นใช้บริการ “ธนาคารฝากไข่” เพราะยังไม่อยากแต่งงานมีลูก หากยังไม่เจอคนที่ใช่จริงๆ 

30 แต่โสด แปลกเหรอ? ปรากฏการณ์ Waithood เมื่อ \'คนรุ่นใหม่\' ไม่รีบแต่งงาน

 

  • การแก้ปัญหาเรื่องนี้ อาจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการ "แต่งงาน"

ในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์” คือทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ แต่ในเมื่อประชากรหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่อยากแต่งงาน แต่งงานช้า มีลูกช้าลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถหาคู่ครองที่ต้องการได้ หรือเพราะอุปสรรคด้านการเงินก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ทำให้ศาสตราจารย์ Inhorn มองว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาระดับโลก

สำหรับวิธีแก้ปัญหานี้เธอมองว่า อาจต้องปรับค่านิยมทางสังคมใหม่ เมื่อการแต่งงานอย่างเป็นทางการไม่ใช่โครงสร้างเดียวในการมีครอบครัว และแน่นอนว่ายุคสมัยนี้มีวิธีอื่นๆ ที่หนุ่มสาวทำได้เพื่อก้าวไปสู่ขั้นต่อไปของชีวิต เช่น การแต่งงานแบบไม่มีลูก, การแต่งงานแบบมีลูก แต่เลี้ยงดูพวกเขาในบริบทดั้งเดิมที่น้อยลง, ไม่แต่งงานแต่มีลูก เช่น การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ Smith-Hefner สะท้อนมุมมองในทิศทางเดียวกัน โดยชี้ว่าวิธีแก้ปัญหานี้อาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับบทบาททางเพศ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอาจต้องเริ่มคิดอย่างจริงจังว่าพวกเขาต้องการอะไรจากการแต่งงาน?

ทางออกหนึ่งที่ชัดเจนคือ ผู้หญิง ผู้ชาย และบุคคลที่มีอิทธิพลรอบตัวพวกเขา เช่น พ่อแม่ ต้องยอมรับแนวคิดที่ว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวได้, ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่อายุน้อยกว่าตัวเองได้, ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายผู้ชายที่มีการศึกษาน้อยกว่าได้ ฯลฯ เพื่อให้การแต่งงานและการสร้างครอบครัวสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยเหมาะสม (อายุยังไม่มากสามารถมีลูกที่สุขภาพแข็งแรงได้) ดังนั้นสังคมจะต้องเอาชนะอคติเหล่านี้ให้ได้ 

------------------------------------

อ้างอิง : CEAS.yale, QUARTZ, Dailymail