ประวัติ 'บุญบั้งไฟ' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

ประวัติ 'บุญบั้งไฟ' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

'บุญบั้งไฟ' ถือว่าเป็นการฉลองและบูชาใน 'วันวิสาขบูชา' กลางเดือนหก ในมิติของศาสนาพราหมณ์ การบูชาเทพเจ้าด้วยไฟ ถือว่าเป็นการบูชา เทพเจ้าเบื้องบนสวรรค์

เทศกาลบุญบั้งไฟ บางคนก็เรียก 'บุญบ้องไฟ' บางทีก็เรียก 'บุญเดือนหก' โดย บุญบั้งไฟ ประจำปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันกลมกลืนกับหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

 

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา อธิบายว่า ประวัติของบุญบั้งไฟในมิติของพระพุทธศาสนา การทำบุญบั้งไฟถือว่าเป็นการฉลองและบูชาในวันวิสาขบูชากลางเดือนหก มีการทำดอกไม้ไฟ ในแบบต่างๆ ทั้งไฟน้ำมัน ไฟธูปเทียน และดิน ประสิว ในงานนี้มีการรักษาศีล การให้ทาน การบวชนาค การอัดทรง และนิมนต์พระเทศน์อานิสงส์ สำหรับประวัติของบุญบั้งไฟในมิติของศาสนาพราหมณ์ การบูชาเทพเจ้าด้วยไฟ ถือว่าเป็นการบูชา เทพเจ้าเบื้องบนสวรรค์ ดังนั้น การจุดบั้งไฟเป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเทพเจ้า เพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนต้องการ

 

ประวัติ \'บุญบั้งไฟ\' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ขนาดของบั้งไฟ 

 

หากหมู่บ้านจะทําบุญนี้ พวกชาวบ้านพร้อมด้วยคณะสงฆ์ก็ปรึกษาให้ตกลงกันก่อนว่าจะประกอบพิธีในเดือนไหน แน่นอนแล้วจึงมีฎีกาบอกบุญไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงเพื่อมาทําบุญร่วมกัน 'บั้งไฟ' นั้นทําด้วยไม้ไผ่บ้าง ทําด้วยลําตาลหรือไม้อื่น ๆ บ้าง แล้วแต่สะดวกในท้องถิ่นและมีอยู่ 3 ขนาด

  • ขนาดใหญ่เรียกว่า 'บั้งไฟแสน'
  • ขนาดกลางเรียกว่า 'บั้งไฟหมื่น'
  • ขนาดเล็กเรียกว่า 'บั้งไฟย้อย'

 

เมื่อทำบั้งไฟขนาดต่าง ๆ ตามความต้องการเสร็จแล้วประดับประดาตกแต่งบั้งไฟด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ปิดสลับเพื่อความสวยงามที่เรียกกันว่า การเอ้บั้งไฟ ในภาษาลาว หรือภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง การประดับตกแต่งให้สวยงาม รวมถึง นางรำในขบวนฟ้อนที่หน้าตาสวยงาม รำสวยโดดเด่นหรือรำในแถวหน้าของขบวนฟ้อน ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคม

 

ประวัติ \'บุญบั้งไฟ\' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

 

'ฮีต 12' หรือ 'งานประเพณี 12 เดือน' ของชาวอีสานนั้น พอถึงเดือน 6 ก็จะมีงานบุญวิสาขบูชาและงาน 'บุญบั้งไฟ' หรือ 'บ้องไฟ' นับเป็นงานบุญท้องถิ่นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็น 'ฮีต' หรือประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานานในจังหวัดภาคอีสานหลายแห่ง โดยมีความเชื่อว่าเป็นการบวงสรวงเทพยดาบนฟ้า (แถน) บันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพื่อที่พืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหลายจะได้อุดมสมบูรณ์

 

'สัญลักษณ์' ที่อยู่กับพิธีนี้ เมื่อเรากล่าวถึง 'บั้งไฟ' เราก็มักนึกถึง 'พญานาค' ควบคู่กันไป จึงทําให้ผู้คนในที่จะตีความ และอธิบายความหมายของนาคในเชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในพิธีดังกล่าว ในหลาย ๆ แง่ มุมแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ยังมีพิธีอื่นที่นาคเคยมีความหมายที่สําคัญในพิธีนั้น เหตุนี้เองนัยยะความหมายของนาคอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือ 'เจ้าแห่งน้ำ' ตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนอีสานในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมอีสาน

 

ประวัติ \'บุญบั้งไฟ\' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

 

ความสำคัญของ 'บุญบั้งไฟ'

 

ความสําคัญของบุญบั้งไฟนั้น จะเห็นได้ชัดว่าเป็นประเพณีหรือพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในวงกว้างและตรงกับช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมต่อกับมิถุนายน (เดือนหก) ของทุกปี หมู่บ้านอีสานโดยส่วนใหญ่จะต้องจัดประเพณีบุญบั้งไฟก่อนฤดูทํานา จึงกล่าวได้ว่าบุญบั้งไฟเป็นปรากฏการณ์ หรือพฤติกรรมที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่า ทําไมก่อนฤดูทํานาทุกปี ชาวอีสานจึงต้องทําบุญบั้งไฟก่อน

 

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และตํานานของบุญบั้งไฟก็มีเรื่องราว ความเป็นมาของตัวเองที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และความเชื่อของคนอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ดังปรากฏในตำนานพื้นบ้านหลายเรื่อง เช่น 'ผาแดงนางไอ่' 'ตํานานหนองหาน' และ 'นิทานเรื่องพญาคันคาก' ฯลฯ

 

ดังนั้น ในแง่นี้ความสําคัญของบุญบั้งไฟ จึงไม่เพียงแต่เป็นปรากฏการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอีสานในวงกว้างเท่านั้น หากยังเป็นปรากฏการณ์ที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และตั้งอยู่บนพื้นฐานทางความเชื่อ ค่านิยม และโลกทัศน์อันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตโดยรวมของคนอีสานอีกด้วย

 

ประวัติ \'บุญบั้งไฟ\' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

 

อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อไปว่า กรมการศาสนาได้จัดทำ 'โครงการจัดทำองค์ความรู้ นาค : ตำนานและความเชื่อในคติศาสนา' เป็นหนังสือพร้อมภาพ ประกอบด้วยความรู้ เกี่ยวกับนาค ได้แก่ นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ การกำเนิดนาคในพระพุทธศาสนาตำนานของนาค ในพระพุทธศาสนา นาคในสังคมไทย ศิลปกรรมเกี่ยวกับนาคในประเทศไทย จากตำนานสู่ความเชื่อของคนไทย นาค : เส้นทางความเชื่อความศรัทธา สำหรับองค์กรเครือข่าย และประชาชนผู้สนใจ

 

รวมถึง 'โครงการมหัศจรรย์วัดไทย' รวบรวมวัดที่เป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนทั่วไทยที่มีความพร้อมด้านสถาปัตยกรรม พระพุทธรูปประจำวัด สภาพภูมิทัศน์ เอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และได้รับความนิยมจากศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มากกว่า 250 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการท่องเที่ยว ในรูปแบบหนังสือ และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่ายที่ e-book กรมการศาสนา คลิก สอบถามได้ที่ 02 209 3699 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปีนี้

 

ประวัติ \'บุญบั้งไฟ\' ในมิติศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และหลักความเชื่อ

 

อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวทิ้งท้ายว่า บุญบั้งไฟที่จัดอย่างยิ่งใหญ่มีหลายจังหวัด ในภาคอีสาน เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด และยโสธร ถือเป็นประเพณีและวัฒนธรรม เกิดจากความเชื่อและ ความศรัทธาทางศาสนา ยึดหลักการปฏิบัติธรรมและการบูชา เพื่อให้เห็นคุณค่าและการสืบเนื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งได้สร้างสรรค์ออกมาเป็น 'ศาสตร์และศิลป์' และ 'ศาสตร์และศาสน์' 

 

และขอเชิญชวนเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่สนใจท่องเที่ยวในมิติศาสนา ท่องเที่ยววัดสวยทั่วไทยภายใต้ โครงการมหัศจรรย์วัดไทย และเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีแหล่งท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาที่น่าสนใจ มีวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อเกี่ยวกับนาค เพื่อขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ด้วยการนำ Soft Power ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน