รวยเพราะขยันกว่า! ทำไม ‘คนจน‘ ชอบแก้ตัวแทน ‘คนรวย‘ ก้มหน้ารับชะตากรรมตัวเอง

รวยเพราะขยันกว่า! ทำไม  ‘คนจน‘ ชอบแก้ตัวแทน  ‘คนรวย‘ ก้มหน้ารับชะตากรรมตัวเอง

เปิดเหตุผล ทำไมคนจนมักแก้ตัวแทนคนรวย จิตวิทยาเผย เกิดจากตรรกะวิบัติ และการเปิดโหมดกลไกป้องกันตัวเองประกอบกัน แก้ต่างเพียงเพราะไม่ต้องการยอมรับความจริง-ปกปิดความอ่อนแอที่ต้องเผชิญหน้าไว้ในใจ

Key Points:

  • ปรากฏการณ์ที่คนจนมักแก้ต่างแทนคนรวยเกิดจากเหตุผลหลักๆ 2 ส่วน คือ ภาวะการรับรู้ไม่ลงรอยกัน (Cognitive Dissonance) และตรรกะวิบัติ (Fallacy)
  • เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับการรับรู้เดิม สมองของเราจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ความรู้ชุดใหม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการรับรู้เดิม
  • ทางแก้ที่ยั่งยืน คือ เราควรลุกขึ้นมาเผชิญหน้า หลีกเลี่ยงการรับรู้ความจริง ตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรม และสิทธิที่ตนเองพึงได้รับ 

รวยเพราะขยันกว่า! ทำไม  ‘คนจน‘ ชอบแก้ตัวแทน  ‘คนรวย‘ ก้มหน้ารับชะตากรรมตัวเอง

คนรวยรวยขึ้นเพราะฉลาด เรียนสูง การศึกษาดี จับตลาดถูกทาง ส่วนคนจนยังคงต้องก้มหน้าใช้แรงงานต่อไป เพียงเพราะไม่ขยันและไม่ฉลาดเท่าคนมีอันจะกิน ตรรกะนี้มีความจริงแท้แค่ไหน?

หนังสือชื่อ “Saving Capitalism” โดยโรเบิร์ต ไรช์ (Robert Reich) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาล บิล คลินตัน (Bill Clinton) กล่าวถึงระบบทุนนิยมที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนแข่งขันกันอย่างเสรีว่า สิ่งที่ผู้คนคาดหวังจากระบบนี้ คือ การเลื่อนสถานะทางสังคมจากการทำงานอย่างหนัก เพื่อที่วันหนึ่งจะได้เปลี่ยนสถานะจากคนจนเป็นคนรวย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น และระบบนี้ก็ไม่ได้เกลี่ยพื้นที่ให้ทุกคนเริ่มจากจุดสตาร์ตเดียวกัน

ไรช์ได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 เป็นต้นมา ค่าตอบแทนของคนทำงานระดับผู้บริหารเพิ่มขึ้นมากถึง 940 เปอร์เซ็นต์ โดยหากย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1968 ระยะห่างระหว่างเงินเดือนผู้บริหารและพนักงานต่างกันราว 20 เท่า และล่าสุด ในปี ค.ศ.2018 ตำแหน่งผู้บริหารได้รับเงินเดือนมากกว่าพนักงานระดับปฏิบัติการถึง 278 เท่าด้วย

ไรช์ชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะยังแก้ต่างแทนผู้บริหารได้หรือไม่ว่า ค่าตอบแทนจำนวนมหาศาลเกิดจากการทำงานหนักและขยันมากกว่าพนักงานที่ต้องทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซ้ำร้าย บางคนอาจต้องทำงานล่วงเวลามากกว่านั้น และได้รับค่าตอบแทนอย่างไม่ได้สัดส่วนด้วยซ้ำไป 

 

  • ปกป้องตัวเองด้วย “Cognitive Dissonance”

เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับความคิดความเชื่อเดิม สมองของเราจะพยายามหาสารพัดเหตุผลมาคัดง้างเพื่อให้เกิดความสบายใจ โดย ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Cognitive Dissonance” หรือภาวะการรับรู้ไม่ลงรอย 

เฟสทิงเกอร์ได้ทำการศึกษา โดยจัดกลุ่มตัวอย่างให้เด็กผู้ชายทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ยากและไม่มีความหมาย ลองจินตนาการถึงกิจกรรมรับน้องโซตัสที่มักให้นักศึกษาใหม่รวมตัวกันทำกิจกรรมสุดหฤโหด ให้ทุกคนผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสนิทสนมกันโดยเร็ว ทั้งที่ไม่มีอะไรมาพิสูจน์ได้เลยว่า กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้ทุกคนรักและสนิทใจกันจริงๆ

การทดสอบของเฟสทิงเกอร์ก็เช่นกัน ท้ายที่สุด เด็กผู้ชายกลุ่มนี้ให้ความเห็นว่า พวกเขารู้สึกว่าตนเองได้รับประสบการณ์ที่ดี รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหลังจากได้ทำกิจกรรมที่เฟสทิงเกอร์จงใจวางไว้อย่างไร้ความหมาย “Cognitive Dissonance” อธิบายว่า เมื่อเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิม สมองจะทำทุกอย่างเพื่อหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองให้ได้มากที่สุด ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เรามักจะนำเรื่องที่ฟังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลมาปะติดปะต่อกันเพื่อลดความ “ไม่ลงรอย” 

รวยเพราะขยันกว่า! ทำไม  ‘คนจน‘ ชอบแก้ตัวแทน  ‘คนรวย‘ ก้มหน้ารับชะตากรรมตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น คนเจเนอเรชันก่อนๆ มักจะบอกกับเด็กรุ่นใหม่ว่า พวกเขาประสบความสำเร็จได้เพราะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อน หรือกระทั่ง คนจนที่มักแก้ต่างแทนการกระทำอันไม่ชอบด้วยศีลธรรมของคนรวยว่า เป็นเพราะคนกลุ่มนี้เรียนมาสูงกว่า ฉลาดกว่า ขยันกว่า ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีกลุ่มคน “คอปกน้ำเงิน” หรือผู้ใช้แรงงานอีกมากมายที่ทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่กลับได้ค่าตอบแทนไม่ถึงครึ่งของบรรดาผู้บริหารด้วยซ้ำไป 

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เพราะการยอมรับระบบที่ไม่เป็นธรรม-ลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริง เท่ากับเรายอมรับว่ากำลังถูกเอาเปรียบ เมื่อยอมรับแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป จะก้มหน้าแกล้งไม่รับรู้ก็ดูอ่อนแอ หรือหากลุกขึ้นมาท้าทายก็เกรงว่าจะถูกกีดกันจากสังคม ฉะนั้น มนุษย์จึงใช้แนวคิดแบบ “Cognitive Dissonance” เพื่อสลายความไม่ลงรอยกันของชุดข้อมูลเดิม

นอกจากนี้ นิยามคำว่า “ชนชั้นกลาง” ยังเป็นอีกส่วนที่มีข้อถกเถียงอยู่มาก คนส่วนใหญ่คิดว่า ตนเองเป็นชนชั้นกลาง แต่หากพิจารณาจากโครงสร้างรายได้ตามรายงานสถิติของภาครัฐแล้วจะพบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ชนชั้นกลาง และคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นคนชนชั้นกลางด้วย แต่หากยอมรับตามข้อมูลดังกล่าวก็เท่ากับเรากำลังดันตัวเองลงไปสู่นิยามการเป็น “ชนชั้นล่าง” หรือไม่ เมื่อไม่ใช่นิยามที่หลายคปรารถนา พวกเขาจึงใช้วิธีปกปิดภาวะความไม่ลงรอยตรงนี้อีกที ด้วยการ “หลอกตัวเอง” ว่า เรายังเป็นชนชั้นกลาง ไม่รวยมาก แต่ก็ไม่ใช่คนจนในสังคม

 

  • โยงทุกตรรกะ “Fallacy” เพื่อความสบายใจ

นอกจากการคิดเข้าข้างตัวเอง การใช้ตรรกะวิบัติหรือ “Fallacy” ก็เป็นอีกส่วนประกอบของการให้เหตุผลเพื่อหลบหลีกความจริง โดยองค์ประกอบของตรรกะวิบัติมีทั้งการพยายามวางตัวเป็นกลาง ตัดตัวเลือกอื่นๆ ออกไปทั้งหมด เหมารวมสิ่งที่คิดเองว่าถูกต้อง อ้างอิงเหตุผลในการแก้ต่างแบบคลุมเครือ รวมถึงการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เอาเอง โดยที่ทั้งหมดอาจจะไม่เกี่ยวข้องกัน เพื่อใช้ในการยืนยันหลักการให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่เมื่อถามในเชิงลึก ให้อธิบายเพื่อความกระจ่าง ผู้พูดจะไม่สามารถตอบและให้เหตุผลที่เชื่อมโยงกันได้ คำอธิบายในลักษณะนี้จึงเป็น “ตรรกะวิบัติ” อย่างชัดเจน

เหตุผลก็คล้ายกันกับภาวะ “Cognitive Dissonance” คือ หากยอมรับเราก็จะพบว่า ชีวิตเต็มไปด้วยความโกลาหล ไม่สามารถควบคุมเรื่องทั้งหมดได้ สำหรับบางคนแล้ว การยอมรับเรื่องเลวร้ายเป็นสิ่งที่น่ากลัว คนกลุ่มนี้จึงใช้เหตุผลวิบัติเพื่อ “เบลอ” สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เลือกก้าวข้ามมากกว่ายอมรับเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะน่ารังเกียจแค่ไหนก็ตาม

เราให้เหตุผลของการขึ้นค่าแรงต่ำว่า ประเทศยังไม่พร้อม ทักษะยังไม่ถึง ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นภายในเร็ววัน ฯลฯ มากกว่าที่จะลุกขึ้นมาเผชิญกับความจริงที่ว่า เรากำลังถูกกดขี่ ขายแรงแลกเงินด้วยสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว วิธีคิดในลักษณะนี้ก็จะถูกท้าทายอยู่เรื่อยๆ และทางออกก็ไม่ใช่การหันหลังหนี แต่ต้องยอมรับความจริง และตระหนักให้ได้ว่าต้นเหตุแห่งปัญหาคืออะไร เพราะทุกคนสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่า และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

อ้างอิง: Ex Capsa PoliticsInvesterestThe MomentumProspect MagazineMedium