พิธาใส่เสื้อผู้หญิงร่วม Pride Month สะท้อนแฟชั่นไม่มีเพศ ‘Gender Fluidity’

พิธาใส่เสื้อผู้หญิงร่วม Pride Month สะท้อนแฟชั่นไม่มีเพศ ‘Gender Fluidity’

แฟชั่นแนว “Gender Fluidity” เสื้อผ้าไม่ระบุเพศ เทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็ใส่เสื้อเชิ้ตผู้หญิงไปร่วมงาน “Bangkok Pride 2023”

แฟชั่นแนว “Gender Fluidity” เสื้อผ้าไม่ระบุเพศ เทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็ใส่เสื้อเชิ้ตผู้หญิงไปร่วมงาน “Bangkok Pride 2023

กลายเป็นกระแสความสนใจในโลกออนไลน์หลังได้เห็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ปรากฏตัวในงาน “Bangkok Pride 2023” ขบวนพาเหรดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ โดยพิธาใส่เสื้อเชิ้ตหลากสีจากแบรนด์ “PAUL SMITH” คอลเลคชัน SPRING - SUMMER 2022 ซึ่งอยู่ในไลน์เสื้อผ้าของผู้หญิง

พิธาใส่เสื้อผู้หญิงร่วม Pride Month สะท้อนแฟชั่นไม่มีเพศ ‘Gender Fluidity’

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ถือเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ชูนโยบายเรื่องความหลากหลายมางเพศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาใน 100 วันแรกซึ่งเรื่องดังกล่าวยังค้างอยู่ในสภาฯ 

การหยิบเสื้อเชิ้ตผู้หญิงมาใส่ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังสอดรับกับเทรนด์ “แฟชั่นเสื้อผ้าไม่ระบุเพศ” (Gender Fluidity) ที่ได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งในไทยก็มีดารานักแสดงหลายคนที่แต่งตัวแนวแฟชั่นไม่จำกัดเพศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “เจมส์ - ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ” “ตน - ต้นหน ตันติเวชกุล” “เขื่อน - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ” รวมถึง “พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” ที่ทำให้แฟชั่นแนวนี้เป็นที่พูดถึงในไทยเป็นอย่างมาก

  • เมื่อผู้หญิงใส่กางเกง

แฟชั่นไม่ระบุเพศ (Gender Fluidity หรือ Androgynous) มีมาตั้งแต่ปี 2456 โดย “โคโค ชาแนล” ตัดเย็บกางเกงสำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องลำบากสวมใส่กระโปรงยาวแบบยุควิคตอเรียน 

หลังจากนั้น ในยุคทศวรรษที่ 1930 ดาราดังของวงการฮอลลีวูดอย่าง “แคทารีน เฮปเบิร์น” และ "มาร์เลเนอ ดีทริช" ได้แต่งตัวด้วยชุดสูทพร้อมหมวกทรงสูงแบบผู้ชาย ไม่เพียงแต่การใส่เสื้อผ้าผู้ชายเท่านั้น ทั้งคู่ยังมีทัศนคติหัวก้าวหน้า และท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงในสมัยนั้น เห็นได้จากวลีเด็ดของเฮปเบิร์นที่กล่าวกลับ เคลวิน ไคลน์ว่า “ทุกครั้งที่ฉันได้ยินผู้ชายพูดว่า เขาชอบให้ผู้หญิงใส่กระโปรง ฉันก็จะพูดว่า เอาสิ ลองใส่กระโปรงดู” ขณะที่ดีทริซมีฉากจุมพิตผู้หญิงโดยที่เธอสวมชุดสูทของผู้ชาย ในภาพยนตร์เรื่อง “Morocco” (2473) ซึ่งได้กลายเป็นฉากที่หนึ่งที่น่าจดจำจากยุคสมัยนั้น

เมื่อเข้าสู่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงต้องกลับไปสวมกระโปรง และทำหน้าที่แม่บ้านอีกครั้ง ตามนโยบายสร้างชาติของสหรัฐ ซึ่งทำให้กลุ่มเฟมินิสต์ คลื่นลูกที่ 2 (Second-wave Feminism) ออกมาเรียกร้องเรื่องเสื้อผ้าที่สามารถใช้ร่วมกันทุกเพศ (Unisex) และไม่ได้ต้องการภาพเหมารวมที่มองว่าผู้หญิงจะต้องเป็นทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือนเท่านั้น

ถัดมาปี 2509 “อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์” ได้ให้กำเนิดชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงเป็นครั้งแรก ทำให้ผู้หญิงมีอิสระในการแต่งกาย และเห็นว่าผู้หญิงก็สามารถมีความแข็งกร้าว และมีความเป็นชายได้เช่นกัน และหลังจากนั้นผู้หญิงสามารถสวมใส่กางเกงได้เป็นปรกติ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป มาจนถึงปัจจุบัน

พิธาใส่เสื้อผู้หญิงร่วม Pride Month สะท้อนแฟชั่นไม่มีเพศ ‘Gender Fluidity’

สูทผู้หญิงของ Yves Saint Laurent ในยุคแรก

  • เมื่อผู้ชายใส่ชุดผู้หญิง

ขณะเดียวกัน ผู้ชายเริ่มมีแนวคิดการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่จำกัดเพศด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “Peacock Revolution” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 จนถึง ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1970 ที่ผู้ชายเริ่มไว้ผมยาว กรีดอายไลเนอร์ แต่งตัวด้วนสีสันจัดจ้าน สดใส ผ้าพิมพ์ลายต่าง ๆ ขนนก ตลอดจนชุดกรุยกราย หรือชุดที่มีความเป็นหญิง นำทัพโดยนักร้องชื่อดังแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น “เดอะ บีเทิลส์”, เดวิด โบวี และ “จิมมี เฮนดริกซ์” 

ในช่วงดังกล่าว เป็นยุคที่การเป็นคนรักเพศเดียวกันไม่ได้ถือว่าเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป มีการนำสไตล์การแต่งตัวของกลุ่มเกย์มาปรับใช้กับกลุ่มชายแท้ ซึ่งเป็นการท้าทายต่อบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมได้กำหนดไว้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสำรวจและค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอีกด้วย

ถัดมาในยุค 80 คงจะไม่มีใครโดดเด่นเท่ากับ “ปรินส์” นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดัง  และ “เกรซ โจนส์”  นางแบบชาวจาเมก้า ผู้ปฏิวัติวงการเพลงและวงการแฟชั่นที่อยากจะใส่อะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ทำลายเส้นแบ่งของเพศชายและเพศหญิงไปอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ 

ภาพของ เคิร์ท โคเบน นักร้องนำผู้ล่วงลับ แห่งวงเนอร์วานา ไว้ผมยาว กรีดอายไลเนอร์ และสวมชุดเดรสตุ๊กตา พร้อมคีบบุหรี่ในมือ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ Gender Fluidity ของยุค 90 นี่สิ่งที่โคเบนตั้งคำถามถึงข้อจำกัดที่สังคมได้กำหนดเอาไว้ให้แต่ละบุคคล การแต่งกายของโคเบนจึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับชายแท้ อีกทั้งโคเบนและวงเนอร์วานายังเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ทำให้แนวคิดการต่อต้านการเหยียดเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และการไม่กีดกันทางเพศได้รับความสนใจขึ้นด้วย

พิธาใส่เสื้อผู้หญิงร่วม Pride Month สะท้อนแฟชั่นไม่มีเพศ ‘Gender Fluidity’

 

ในปัจจุบันแบรนด์ต่าง ๆ ก็ต่างรับกระแสนี้ด้วยเช่นกัน แบรนด์หรูอย่างกุชชี (Gucci) ได้ออกเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า และกระเป๋าที่ไม่มีกรอบของเพศครอบอยู่ ภายใต้ชื่อ “Gucci MX” ขณะที่ “Eytys” แบรนด์รองเท้าสัญชาติสวีเดน ได้ยกเลิกการระบุเพศในสินค้าของตน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามต้องการ มีอิสระมากขึ้น

อีกทั้งเหล่าบรรดาเซเลบริตี้ใส่เสื้อผ้าแนวนี้ไปงานประกาศรางวัล และงาน “เมตกาลา” (Met Gala) งานการกุศลที่ใหญ่ที่สุดของวงการแฟชั่น แต่ที่เกิดกระแสไปทั่วโลกคือการที่ “แฮร์รี สไตลส์” ใส่ชุดราตรีขึ้นปกนิตยสาร Vogue 

พิธาใส่เสื้อผู้หญิงร่วม Pride Month สะท้อนแฟชั่นไม่มีเพศ ‘Gender Fluidity’

การเข้ามาของแฟชั่นแบบ Gender Fluidity จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร แฟชั่นแบบนี้ทำให้เกิดความตระหนักและท้าทายมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะจริง ๆ แล้วเสื้อผ้าไม่ได้มีเพศ ใคร ๆ ก็ต่างสามารถหยิบมาใส่ได้ตามต้องการ และแสดงตัวตนของผู้สวมใส่ได้