‘กรีดร้องบำบัด’ วิธีระบายความเครียดที่ ‘จอห์น เลนนอน’ ก็ใช้

‘กรีดร้องบำบัด’ วิธีระบายความเครียดที่ ‘จอห์น เลนนอน’ ก็ใช้

ทำความรู้จัก “การกรีดร้องบำบัด” (Scream Therapy) ทางเลือกการบำบัดความเครียดด้วยการกรี๊ด ที่จอห์น เลนนอน ศิลปินระดับตำนานเคยใช้ สามารถลดความโกรธและอาการหัวร้อน และปรับสมดุลทางอารมณ์ได้ แต่แพทย์เตือนไม่ควรใช้ระยะยาว

Key Points:

  • “การกรีดร้องบำบัด” (Scream Therapy) เป็นการระบายความโศกเศร้า ความเครียด และความโกรธ ออกมาด้วยการกรีดร้อง ที่มีมาตั้งแต่ยุค 70
  • การกรีดร้องสามารถช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกโล่งและสงบ ช่วยบรรเทาความเครียด ไม่แตกต่างจากการร้องไห้
  • แต่วิธีนี้ไม่ควรใช้ต่อเนื่องในระยะยาวสามารถใช้ลดความโกรธและหัวร้อนในระยะสั้นได้

 

ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ความดันโลหิตในช่วงที่มีอารมณ์โกรธนั้นจะสูงขึ้นกว่าปรกติเล็กน้อย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เป็นเพียงการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายหรือภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ของเรา และช่วยกระตุ้นการตอบสนองแบบสู้หรือหนี (Fight-or-Flight Response) ดังนั้นอารมณ์โกรธจึงจำเป็นต่อการรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของเรา เพราะเป็นสัญญาณเตือนเมื่อเราก้าวข้ามจากอารมณ์ด้านบวกไปสู่ด้านลบ

แต่เราไม่สามารถปล่อยให้ความโกรธสุมอยู่ในอกได้ จำเป็นจะต้องระบายออกมาบ้าง จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า ความโกรธเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความเครียดของเราเพิ่มสูงขึ้น และในทำนองเดียวกันความเครียดมักจะทำให้มีความโกรธเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้เราเกิด “อารมณ์ชั่ววูบ” เผลอทำอะไรรุนแรง ทะเลาะวิวาท ซึ่งนำมาสู่ความเสียหาย ทั้งเจ็บตัว เจ็บใจ และอาจเสียเงินได้ด้วย 

อย่างที่ทราบกันดีว่าการขจัดอารมณ์โกรธมีด้วยกันหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 คือ “การกรีดร้องบำบัด

  • การกรีดร้องบำบัด คืออะไร?

การกรีดร้องบำบัด” (Scream Therapy) หรือ “ไพรมัล เธอราพี” (Primal Therapy) เป็นแสดงความโศกเศร้า ความเครียด และความโกรธ ออกมาด้วยการกรีดร้อง แทนที่จะเก็บอารมณ์เหล่านั้นไว้ จนมันแน่นอยู่ในอก ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาโดย อาเธอร์ ยานอฟ นักจิตอายุรเวทชาวอเมริกัน มาตั้งแต่ยุค 1970 โดยยานอฟได้ใช้วิธีนี้ในการรักษาอาการของ จอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิกวง The Beatles และ โยโกะ อูโนะ ภรรยาของเขา

เลนนอนเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีนี้ประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งเขากล่าวว่าวิธีนี้ช่วยให้รู้จักตนเองดีขึ้น เป็นตัวของตัวเองได้มากกว่าที่เคย และไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีกต่อไป โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก John Lennon/Plastic Ono Band (1970) และ Imagine (1971) อัลบั้มชุดที่ 2 จากการบำบัดในครั้งนี้หลายเพลงด้วยกัน

ดร.ยานอฟเชื่อว่าการกรีดร้องเป็นการแสดงความรู้สึกแรกที่มนุษย์เรียนรู้ ซึ่งเด็กทารกมักร้องงอแงเวลาที่ต้องการแสดงความรู้สึกออกมา แตกต่างจากผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถแสดงด้านลบออกมาได้ ต้องกลั้นอารมณ์เหล่านั้นไว้ ดังนั้นการบำบัดด้วยวิธีนี้จึงเหมือนกับการทบทวนและปลดปล่อยอารมณ์ที่อัดแน่นภายในจิตใจผ่านการเปล่งเสียงออกมาดัง ๆ

‘กรีดร้องบำบัด’ วิธีระบายความเครียดที่ ‘จอห์น เลนนอน’ ก็ใช้

สำหรับวิธีการบำบัดด้วยการกรีดร้อง บาร์บารา ซานตินี นักจิตวิทยาและผู้ให้คำแนะนำด้านเพศ แนะนำว่าให้เริ่มด้วย การยืนโดยแยกเท้าออกจากกันและยื่นมือออกไปด้านหน้า หรือจะทำท่านักรบ (Warrior Pose) ของโยคะก็ได้ หลังจากนั้นให้กรีดร้องมาด้วยเสียงที่ดังที่สุด ซึ่งเสียงกรีดร้องจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก ทำให้จิตใจและร่างกายสงบลง

การกรีดร้องสามารถช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกโล่งและสงบ ไม่แตกต่างจากการร้องไห้เมื่อเราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถแบกรับอะไรต่อไปได้อีกแล้ว ดร.รีเบคก้า เซมเมนส์-วีลเลอร์ อาจารย์อาวุโสด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี้ ระบุว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าเมื่อการตะโกนออกดัง ๆ หลังจากที่ร่างกายบาดเจ็บ สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ อีกทั้งยังสามารถช่วยบรรเทาความเครียดในระยะสั้นได้อีกด้วย

 

  • กรี๊ดอย่างเดียวไม่พอ

การบำบัดด้วยการกรีดร้องไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างถาวร แต่สามารถใช้ในการระบายอารมณ์และความเครียดแบบปัจจุบันทันด่วน โดย เซมเมนส์-วีลเลอร์ กล่าวเพิ่มว่า “วิธีบำบัดนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่แสดงอารมณ์ หรือมีปัญหาด้านการแสดงอารมณ์ เพราะจะช่วยให้เราได้สำรวจอารมณ์และเสริมพลังได้มากขึ้น ไม่มีผลเสียหรือต้องเสียค่าใช้จ่าย”

ดร.สาริตา โรบินสัน รองหัวหน้าฝ่ายจิตวิทยาและวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์  กล่าวว่า ห้องระบายความโกรธ หรือ “Rage Rooms” สำหรับเอาไว้สำหรับระบายอารมณ์ที่รุนแรง กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหราชอาณาจักร โดยภายในห้องจะมีอุปกรณ์สำหรับทำลายข้าวของ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไม่ได้แล้ว เช่น ค้อน ไม้เบสบอล ขวาน เป็นต้น

“อันที่จริงเรารู้โดยสัญชาตญาณว่าการปลดปล่อยความโกรธออกมา จะช่วยให้ปรับอารมณ์ให้สมดุลและควบคุมอารมณ์ของเราได้ แต่ก็ต้องระวังให้ดีเพราะหากใช้ห้องระบายความโกรธมากเกินไป อาจจะทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวได้” 

สอดคล้องกับความเห็นของ เซมเมนส์-วีลเลอร์ “แม้ว่าห้องระบายความโกรธจะมีไว้สำหรับจัดการอารมณ์โกรธ ในครั้งแรก ๆ คุณอาจจะรู้สึกว้าวและตื่นเต้นที่ได้ทุบของเหล่านั้น หรือได้แผดเสียงในห้องนั่งเล่น แต่ถ้าหากคุณใช้มันอยู่เสมอมันจะยิ่งตอกย้ำการแสดงพฤติกรรมเหล่านั้น และฉันไม่คิดว่าการแสดงความโกรธเกรี้ยวและก้าวร้าวบ่อย ๆ จะเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ” 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักจิตวิทยาหลายคนตั้งคำถามถึงประสิทธิผลของการบำบัดด้วยวิธีการดังกล่าว ทำให้วิธีบำบัดนี้อาจไม่ถูกยอมรับในวงกว้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีนี้จะไม่มีประโยชน์ในการรักษาเลย สามารถใช้เป็น “ทางเลือก” ควบคู่ไปกับการบำบัดอื่น ๆ เช่น บำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT)

‘กรีดร้องบำบัด’ วิธีระบายความเครียดที่ ‘จอห์น เลนนอน’ ก็ใช้

  • ทำสมาธิขจัดความโกรธ

ถ้าหากคุณยังคงโกรธเกรี้ยวอยู่บ่อยครั้ง จนอารมณ์เริ่มครอบงำจิตใจ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คุณอาจจะต้องเริ่มสำรวจตัวเองถึงสาเหตุที่ทำให้คุณของขึ้นได้ง่ายและมีอารมณ์ท่วมท้นขนาดนี้ ซึ่งอาจจะต้องปรึกษากับจิตแพทย์ ในการหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการหัวร้อน เพื่อจะได้หาทางออกได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ทั้งเซมเมนส์-วีลเลอร์ โรบินสัน และ ซานตินี ต่างเห็นตรงกันว่า การฝึกเจริญสติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ฝึกทำสมาธิ การกำหนดลมหายใจ โยคะ หรือหันเหความสนใจไปไว้ที่อื่น เป็นวิธีที่ดีสำหรับการจัดการความโกรธในระยะยาว มากกว่าการกรีดร้องหรือทำลายข้าวของในห้องระบายอารมณ์ 

แต่ถ้าหากวันใดที่เป็นรู้สึกอึดอัด อัดอั้น หัวร้อนเหลือเกิน ความโกรธพร้อมจะปะทุอยู่ทุกเมื่อ การเอาหมอนปิดหน้าแล้วกรีดร้องออกมา หรือตะโกนดัง ๆ ขณะที่น้ำเย็นจากฝักบัวกำลังรดศีรษะ ก็เป็นทางเลือกที่ไม่แย่และสามารถปลดปล่อยอาการหัวร้อนได้อย่างรวดเร็ว


ที่มา: Glamour MagazineIndependent