อย่าให้ “ความโกรธ” เป็นนายเรา! 6 วิธีควบคุมอารมณ์โกรธ ซ่อมใจไม่ให้พัง

อย่าให้ “ความโกรธ” เป็นนายเรา! 6 วิธีควบคุมอารมณ์โกรธ ซ่อมใจไม่ให้พัง

“ความโกรธ” เป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะดีกว่าไหม? หากเราสามารถควบคุมมันได้ก่อนจะปล่อยให้อารมณ์ร้ายเป็นนายเรา ด้วย 6 วิธีทางจิตวิทยา

ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ย่อมต้องมีอารมณ์ที่หลากหลายทั้งร้ายและดี รวมถึง “อารมณ์โกรธ” ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักทำให้หลายคน รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ เจ็บปวด หรือผิดหวังตามมา แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถ้าหาก “ความโกรธ” นั้นยังไม่ถึงขั้นส่งกระทบต่อตัวเองและคนรอบข้าง และเราสามารถควบคุมมันได้ทันท่วงที

ความโกรธ (Anger) คือหนึ่งในอารมณ์ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าไม่ว่าจะเป็นจากผู้คนรอบข้างหรือในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อดีคือช่วยให้มีโอกาสปลดปล่อยความรู้สึกทางลบออกมา ไม่เก็บกดอารมณ์เอาไว้ แต่ก็มีผลเสียมากมายเช่นกัน เมื่อมีความโกรธมากเกินไปจนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความโกรธซึ่งแตกต่างไปจากร่างกายในสภาวะปกติ 

ถ้ามีความโกรธเกิดขึ้นมากไปหรือนานเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เช่น ความจำแย่ลง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานแย่ลง เป็นผลจาก “ฮอร์โมนความเครียด” ที่หลั่งออกมามากในชั่วขณะที่เรากำลังโกรธ ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงเชื่อมโยงไปสู่ผลกระทบด้านสังคมและความสัมพันธ์ที่จะทำให้ใช้ชีวิตในสังคมยากขึ้น

  • “ความโกรธ” เกิดจากกอะไร ?

สาเหตุของความโกรธ นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ถูกคุกคาม หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงกรณีที่คนอื่นไม่เคารพความรู้สึกหรือสิทธิของเรา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่มาช่วยกระตุ้นอารมณ์โกรธให้เพิ่มขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเรื่องการเรียนหรือการงาน และเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น รถติด ฝนตก ลิฟต์เสีย ไปจนถึงเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ตกงาน หรือ สูญเสียคนรัก เป็นต้น 

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตวิทยาก็อาจมีอารมณ์โกรธต่างไปจากคนอื่น เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) สมาธิสั้น (ADHD) พฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder) ภาวะระเบิดอารมณ์ชั่วคราว (Intermittent Explosive Disorder) หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ก็ส่งผลให้มีความโกรธมากขึ้นได้เช่นกัน

  • ทำอย่างไรไม่ให้ “อารมณ์โกรธ” เป็นนายเรา

จากบทความของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) ได้ให้คำแนะนำเไว้ดังนี้      

1. ใช้เทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ เช่น การฝึกหายใจ การจินตนาการถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพื่อให้ความโกรธลดลง

2. ปรับมุมมองความคิด เมื่อเราโกรธมักจะใช้คำที่รุนแรงแรงกับผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งคำพูดเหล่านั้นมักสะท้อนภาพความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น วิธีแก้ไขคือ อาจทดแทนความคิดในทางลบด้วยการคิดเชิงบวกมากขึ้น เช่น จากที่เคยคิดว่า “ทำไมมันต้องมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับฉัน” ให้ลองเปลี่ยนเป็น “เกิดเรื่องนี้ขึ้นแล้ว จากนี้จะแก้ไขอย่างไร”

3. ฝึกทักษะการแก้ปัญหา เพราะ ไม่ใช่ทุกความโกรธเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล บางครั้งความโกรธก็เกิดจากสถานการณ์บางอย่างที่หลีกหนีไม่ได้ และไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ถ้ามีการฝึกทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็สามารถช่วยให้จัดการกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และเมื่อจัดการได้ความโกรธจะลดลง

4. ฝึกทักษะการสื่อสาร บางครั้งความโกรธมาจากความรู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าไม่พอใจที่ผู้อื่นไม่ได้ดั่งใจ ส่งผลให้โกรธเพราะรู้สึกไม่พอใจ หากมีการสื่อสารและรับฟังคนอื่นมากขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น ส่งผลให้ความโกรธลดน้อยลง

5. ใช้อารมณ์ขัน หมายถึงการฝึกให้มีเมตตาต่อตัวเอง ให้อภัยตัวเองในวันที่ทำพลาด และยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง

6. พบนักจิตวิทยา เมื่อสุดท้ายแล้วรู้สึกว่ายังทำอย่างไรก็ยังเป็นคนที่โกรธง่ายหายยาก จนกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การไปพบนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยปรึกษาและหาสาเหตุที่แท้จริงของอารมณ์โกรธนี้ เพื่อหาทางรักษาแก้ไขต่อไปอย่างถูกต้อง

  • ความโกรธนั้นทำลาย “สุขภาพจิตใจ”

นอกจากผลกระทบของความโกรธที่จะเกิดกับคนรอบข้างแล้ว ยังส่งผลเสียต่อตนเองด้วย บางคนเกิดความเครียดสะสมส่งผลให้เกิดโรคทางจิตวิทยาตามมา แต่โรคทางกายก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ระบบย่อยอาหารผิดปกติ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ไม่แปลกที่แต่ละคนจะมีความโกรธ เพราะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในด้านอารมณ์ของมนุษย์ แต่ก็ต้องคอยสังเกตตัวเองด้วยว่าความโกรธที่เกิดขึ้นกับตัวเรานั้น เริ่มส่งผลเสียกับเราและคนรอบข้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านอารมณ์ หรือร่างกาย ดังนั้นการพยายามฝึกควบคุมอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งที่จะคอยช่วยให้เราสามารถรับมือได้ดีขึ้น หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุของความโกรธที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ้างอิงข้อมูล : พบแพทย์ และ iSTRONG