4 พฤษภาคม ‘วันฉัตรมงคล’ เปิด 7 เรื่องควรรู้ อย่าสับสนกับ ‘วันพืชมงคล’

4 พฤษภาคม ‘วันฉัตรมงคล’ เปิด 7 เรื่องควรรู้ อย่าสับสนกับ ‘วันพืชมงคล’

"วันฉัตรมงคล" ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม แต่หลายคนอาจสับสนกับ "วันพืชมงคล" ที่เป็นวันสำคัญในเดือนเดียวกัน ชวนส่องความแตกต่างของทั้งสองวันดังกล่าว พร้อมเปิดประวัติความสำคัญของวันฉัตรมงคลที่คนไทยควรรู้

เป็นอีกหนึ่งช่วงวันหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ชาวออฟฟิศจะได้หยุดพักผ่อน 4 วันติดต่อกัน โดยเป็นวันหยุดที่มีวันสำคัญอย่าง “วันฉัตรมงคล” ที่ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม และยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญในเดือนนี้นั่นคือ “วันพืชมงคล” ที่ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 17 พฤษภาคม (ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่ไม่ใช่วันหยุดของบริษัทเอกชนและธนาคาร) ซึ่งหลายคนอาจยังสับสนและจำวันผิด 

กรุงเทพธุรกิจ ชวนส่อง “ประวัติวันฉัตรมงคล” ที่มีความสำคัญในการสะท้อนประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงชวนรู้ความแตกต่างระหว่างวันฉัตรมงคลและวันพืชมงคลที่ควรรู้ ดังนี้ 

1. "วันฉัตรมงคล" VS "วันพืชมงคล" ต่างกันอย่างไร?

เริ่มจาก วันฉัตรมงคล คือวันที่รำลึกถึง "พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร" หรือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยทั่วไป "วันฉัตรมงคล" จะถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ต่อมามี กำหนดให้วันที่ 4 พฤษภาคม ในปีต่อๆ ไป เป็น "วันฉัตรมงคล" และถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ขณะที่ "วันพืชมงคล" คือวันแห่งการจัด "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เพื่อความเป็นสิริมงคล บำรุงขวัญในแก่เกษตรกร และเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา โดยกำหนดจัดขึ้นในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี แต่จะกำหนดวันที่แตกต่างกันไปตามฤกษ์ยามที่เหมาะสมใน "ปฏิทินหลวง" ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมแก่การเริ่มต้นการทำนาของปีนั้นๆ โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม 2566

สำหรับวันพืชมงคล ถือเป็น "วันหยุด" สำหรับหน่วยงานภาครัฐ แต่ไม่เป็นวันหยุดสำหรับหน่วยงานเอกชนและธนาคาร อีกทั้ง สิ่งสำคัญในวันพืชมงคลที่ประชาชนต่างรอคอยก็คือ  "คำทำนาย" จาก "พระโคแรกนา" สำหรับพระโคในทางศาสนาพรามหณ์ เปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ โดยทั่วไปมีคำทำนายต่างๆ ดังนี้ 

  • ถ้าพระโคกินข้าว, ข้าวโพด : ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกินถั่ว, งา : ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกินน้ำ, หญ้า : น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
  • ถ้าพระโคกินเหล้า : การคมนาคมจะสะดวก การค้าขายกับต่างประเทศดี เศรษฐกิจรุ่งเรือง

2. "วันฉัตรมงคล" คือ พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร 

วันฉัตรมงคล (Coronation Day) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก มีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นขั้นตอนตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ ด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ 1)พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ 2)พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

4 พฤษภาคม ‘วันฉัตรมงคล’ เปิด 7 เรื่องควรรู้ อย่าสับสนกับ ‘วันพืชมงคล’

3. "วันฉัตรมงคล" กำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (วันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก) และในปีถัดไปจึงถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล 

4. ย้อนดูประวัติศาสตร์ "พิธีบรมราชาภิเษก"

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของ "ศาสนาฮินดู" และ "ศาสนาพุทธ" เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อป่าวประกาศให้เหล่าเทวดาฟ้าดินรับรู้ว่า บัดนี้จะมีพระมหากษัตริย์หรือพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่งแล้ว

โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก, พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก, พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินีและพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง

ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

5. พิธีบรมราชาภิเษก เริ่มมีตั้งแต่สุโขทัย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าการประกอบพระราชพิธีในสมัยนั้น มีขั้นตอนอย่างใด

6. พิธีบรมราชาภิเษก ปรับขั้นตอนตามกาลสมัย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ พ.ศ. 2325 ครั้งหนึ่งก่อน แล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน แล้วตั้งแบบแผนพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นตำรา

จากนั้นจึงทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของรัชกาลต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาลก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยให้เหมาะแก่กาลสมัย

7. ในพิธีฯ ใช้ภาษาบาลี-ทมิฬ ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาไทย

ส่วนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูลของพราหมณ์และราชบัณฑิตขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย

ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่าพระราชพิธีนี้ มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนบทมนต์ต่างๆ ของพราหมณ์นั้น นักวิชาการภาษาตะวันออกโบราณ วินิจฉัยว่าเป็นภาษาทมิฬโบราณ

------------------------------------

อ้างอิง : Phralan, ฉัตรมงคล