พนักงานหนี้ท่วมหัว ส่งผลต่อองค์กร มากกว่าที่คิด!

พนักงานหนี้ท่วมหัว ส่งผลต่อองค์กร มากกว่าที่คิด!

หนี้สินของพนักงานไม่ได้สร้างภาระต่อแค่ผู้ก่อหนี้และครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบต่อองค์กรอีกด้วย เพราะความกดดันจากการเป็นหนี้ส่งผลให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงมาก จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภาพรวมหนี้ครัวเรือนปี 2566 อาจชะลอลงมาที่กรอบ 84.0-86.5% ต่อจีดีพี กำลังกลายเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของการบริโภคในภาพรวม ซึ่งเป็นผลมาจากค่าครองชีพขึ้นสูง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จำเป็นต้องผ่อนสินค้าตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่อย่าง รถยนต์ และที่อยู่อาศัย และเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกด้วย

การทำงานในแต่ละวันก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว ยิ่งเป็นหนี้ด้วยยิ่งทำให้เครียดมากกว่าเดิม กังวลว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนได้หรือไม่ กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งอยู่บนบ่า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ซ้ำร้ายยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 

ในบางครั้งที่พนักงานเหล่านี้ ต้องหยุดงานเพื่อหนี้การทวงหนี้ หรือเจอการโทรเข้าบริษัทเพื่อทวงหนี้ ร้อนถึงเพื่อนร่วมงานที่จะต้องทำงานแทน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น

ดังนั้นหากมองอีกมุมอาจจะกล่าวได้ว่าหนี้สินของพนักงานเป็นหนึ่งในปัญหาทางธุรกิจที่สร้างต้นทุนให้แก่นายจ้างมากกว่าที่คิด “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมผลกระทบที่เกิดกับบริษัทจากการเป็นหนี้ของพนักงาน ซึ่งการเป็นหนี้สินส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยอีกด้วย

  • รุ่นใหญ่ วัย(เตรียม)เกษียณ

เมื่อเดือน มิ.ย. 2565 หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่าหนี้ของผู้สูงอายุชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา ข้อมูลจากสำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภา (Government Accountability Office) แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันสูงอายุมีหนี้สินรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้สินทั้งหมดในปี 2563 และยังพบว่าผู้สูงอายุในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีหนี้สินมากกว่าชาวสูงอายุผิวขาวประมาณ 2 เท่า

อีกทั้งผู้สูงอายุเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีโรคประจำตัวอย่างน้อย 2 โรค ขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มโรคแพ็คเก็จ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง 

นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพแล้ว หนี้สินยังทำให้แผนการเกษียณหยุดชะงักอีกด้วย จากการสำรวจของ MagnifyMoney เว็บไซต์ข่าวสารและบทวิจารณ์ทางการเงิน ระบุว่า ประมาณ 46% ของคนอเมริกันทั้งหมดจะเกษียณไปพร้อมกับหนี้สิ้น ซึ่งหากรายได้หลังเกษียณและเงินประกันสังคมของพวกเขาไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ พวกเขาก็ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องทำงานต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อใช้หนี้ให้หมด

ทั้งหมดนี้กลายเป็นปัญหาที่มีราคาสูงลิ่วสำหรับนายจ้าง เพราะพนักงานที่ควรเกษียณกลับไม่ได้เกษียณเพราะปัญหาหนี้สิ้น แถมสุขภาพก็ทรุดลงเรื่อย ๆ ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงซึ่งเป็นผลมากจากการขาดงาน ความเครียด สิ่งรบกวนต่าง ๆ 

  • พนักงานรุ่นใหม่

จากการสำรวจในปี 2565 ของ Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ที่ทำการสอบถามความเห็นของพนักงานออฟฟิศชาวอเมริกันจำนวน 20,000 คน พบว่าคนรุ่นใหม่มีความเครียดจากปัญหาทางการเงิน

การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น และความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดลง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นคงทางการเงินได้ยากมากขึ้น โดย 61% ของพนักงานที่ทำแบบสอบถามอายุต่ำกว่า 35 ปี ระบุถึงสิ่งที่กังวลมากที่สุดในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ว่าคือ ปัญหาทางการเงิน ความมั่นคงในหน้าที่การงาน หรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการทำงานได้ 

เห็นได้ชัดว่าปัจจัยเหล่านี้สามารถสร้างปัญหาทางสุขภาพและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้ ซึ่งเป็นปัญหาต่อบริษัทได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งเหนือกว่าพนักงานรุ่นใหญ่ คือคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการทางการเงินที่บริษัทจะมอบให้กับพวกเขา ไม่แพ้กับสวัสดิการอื่น ๆ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน ความช่วยเหลือในการวางแผนฉุกเฉิน หรือโปรแกรมการชำระคืนค่าเล่าเรียน ซึ่งหากบริษัทใดไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะตัดสินใจลาออกจากงาน

ตามข้อมูลจากการสำรวจของ PwC เครือข่ายการให้บริการระดับมืออาชีพ ระบุว่า 72% ของพนักงานที่ทำแบบสำรวจสนใจที่จะร่วมงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ทางการเงินมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่นางจ้างสามารถรลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหนี้ของพนักงาน ได้ด้วยการให้ความรู้และการสนับสนุนทางการเงิน แม้ว่านายจ้างจะไม่สามารถช่วยใช้หนี้แทนให้ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็สร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานได้ว่าพวกเขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวของพนักงานเองด้วยว่าจะสามารถประคองตัวให้ปลอดภัย ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติม เพราะเมื่อหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วก็ไม่มีใครสามารถช่วยคุณได้ แถมอาจจะตกงานเพราะบกพร่องในหน้าที่อีกด้วย

ที่มา: The New York Times