โควิด ทำ “เจน Z” ไม่มีเพื่อนในที่ทำงาน หันพึ่ง “โซเชียลมีเดีย” สร้างสัมพันธ์

โควิด ทำ “เจน Z” ไม่มีเพื่อนในที่ทำงาน หันพึ่ง “โซเชียลมีเดีย” สร้างสัมพันธ์

“โควิด” ทำ “เจน  Z” เสียโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน จึงหันมาใช้ “โซเชียลมีเดีย” หาเพื่อนใหม่แทน ช่วยให้เจอคนที่มีความชอบคล้ายกัน แม้ว่าจะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตาม

การสร้างสัมพันธ์และหาเพื่อนใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเหล่า “แรงงาน” โดยเฉพาะในช่วงที่พึ่งเข้ามาหางานทำในเมืองด้วยตัวคนเดียว และยังไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ จำเป็นต้องทิ้งความสัมพันธ์และความผูกพันที่เคยมีเอาไว้เบื้องหลัง แน่นอนว่าในระยะแรกย่อมต้องรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ความเหงาเข้ามากัดกินหัวใจ แต่เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง และปรับตัวให้เข้ากับสังคมในที่ทำงานใหม่ได้แล้ว ความสัมพันธ์และมิตรภาพเหล่านี้จะช่วยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป อีกทั้งหากความสัมพันธ์พัฒนาไปได้ไกล ก็กลายเป็นเพื่อนรักกันตลอดชีวิตได้อีกด้วย

แต่ชีวิตของชาว “เจน Z” ในปัจจุบันไม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้ง่าย เหมือนรุ่นก่อน ๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป จากที่ต้องเข้าออฟฟิศ ได้ปฏิสัมพันธ์เห็นหน้าคร่าตากันทุกวัน กลายเป็นทำงานแบบไฮบริด เข้าออฟฟิศบ้าง ทำงานจากที่อื่นบ้าง ทำให้จนถึงตอนนี้พนักงานที่เข้าทำงานในช่วงโควิด-19 ยังเจอหน้าเพื่อนร่วมงานไม่ครบทุกคนด้วยซ้ำ

  • โควิด-19 ทำให้หาเพื่อนได้ยาก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของคนลดลงอย่างมาก ส่งผลให้แวดวงทางสังคมของแต่ละบุคคลมีขนาดเล็กลง จนบางครั้งไม่เกิดอาจไม่เกิดความสัมพันธ์รูปแบบใดชึ้นเลยด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนเจน Z ต้องหาช่องทางอื่น ๆ ในการสร้างสังคมใหม่ หนึ่งในช่องทางที่มีถูกใช้มากที่สุด คือ ช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็น “เรื่องใหม่” สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งหากมองอีกแง่หนึ่ง อาจหมายความว่า แรงงานรุ่นใหม่ใช้ความแนวทางใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ในการพบปะผู้คนใหม่ ๆ

จอยซ์ ชูอินคัม ผู้จัดอายุโสฝ่ายวิจัย ของ Talk Shoppe ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยตลาดเปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า “ช่วงโควิดแพร่ระบาดหนัก ๆ คนรุ่นใหม่ขาดการไปพบเจอเพื่อนทั้งจากสถานศึกษาและที่ทำงาน ทำให้ไม่มีการแบ่งปันประสบการณ์และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เหมือนกับคนรุ่นก่อน ๆ”

ขณะที่ มิเรียม เคอร์เมเยอร์ นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เชี่ยวชาญด้านมิตรภาพ กล่าวว่า “คนจำนวนมาก โดยเฉพาะ Gen Z ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการหาเพื่อนในรูปแบบตายตัวเหมือนคนรุ่นก่อนเสมอไป และตอนนี้กำลังเริ่มทำงานโดยที่พวกเขาไม่รู้จักใครเลย”

จากงานวิจัยของ เจนิซ แมคเคบ รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ ที่ทำการศึกษาผ่านนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 3 แห่งในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ตั้งแต่ปี 2559-2564 แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลต่อการรักษามิตรภาพและการหาเพื่อนใหม่ได้ยากยิ่งขึ้น 

การไม่มีความสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนเก่าและคนใหม่ ๆ ทำให้สุขภาวะที่ดี ของคนแย่ลงด้วย แต่คงไม่มีใครต้องเจอเรื่องแย่ไปกว่าชาวเจน Z อีกแล้ว เพราะพวกเขาเผชิญหน้ากับโควิดในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านสำคัญในชีวิต ตั้งแต่เริ่มเรียนจบ ออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน และได้งานทำ

ชูอินคัม ชี้ให้เห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ทำให้พวกเขาต้องการสร้างสังคมในพื้นที่ใหม่ที่อาศัยอยู่ และจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งการมีเพื่อนใหม่ช่วยพวกเขาในเรื่องเหล่านี้ ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่และแตกต่างจากการเรียนรู้เพียงลำพัง แต่ทั้งหมดนี้ถูกทำลายลงไปเพราะโควิด-19

ด้าน แมคเคบ กล่าวว่า ในตอนนี้คนหนุ่มสาวต่างกำลังมองหามิตรภาพที่แท้จริง ซึ่งเพื่อนเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นคนที่ดีขึ้นหรือแย่ลง “เราสามารถมองเห็นตัวเองผ่านเพื่อนได้ เราจึงค้นหา คนที่เราอยากจะเป็นและเป็นเพื่อนกับเราได้”

 

  • ใช้โซเชียลมีเดียหาเพื่อน

เจน Z อาจไม่รู้สึกเชื่อมโยงเข้าสู่สังคมที่ทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะในช่วงที่ผ่านมาพวกเขาไม่มีประสบการณ์ในการหาเพื่อนใหม่เพราะโควิด-19 เป็นตัวขัดขวาง ทำให้ขาดทักษะในการสร้างสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้คนหนุ่มสาวจึงพยายามเปลี่ยนรูปแบบการเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์

จากการวิจัยของ Talk Shoppe พบว่า ชาวเจน Z นิยมใช้แอปพลิเคชันและช่องทางออนไลน์ เช่น กลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook Group) ในการหาเพื่อนมากกว่าชาวมิลเลนเนียล แต่ถึงกระนั้นชาวเจน Z ส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกไม่ค่อยดีกับการใช้แอปพลิเคชันเพื่อนัดพบกับเพื่อนใหม่แบบตัวต่อตัวในครั้งแรก เพราะสร้างแรงกดดันให้กับพวกเขา ไม่แตกต่างจากการไปเดท 

แตกต่างจากกลุ่มเฟซบุ๊กที่มักจะเป็นชุมชนของคนที่ชอบทำงานอดิเรกหรือมีไลฟ์สไตล์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาเจอกับเพื่อนได้ง่ายกว่า และรู้สึกสบายใจที่จะออกไปพบปะกันในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าใช้แอปพลิเคชันหาเพื่อน

ในปัจจุบันเราสามารถทำความรู้จักกับผู้คนต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้หมด แม้ว่าจะมีเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา หรือประเทศที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันก็ตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากชาวเจน Z จะเปลี่ยนโซเชียลมีเดียให้กลายเป็น "ศูนย์กลางแห่งการสร้างมิตรภาพและการสร้างเครือข่ายทางสังคม" แทนที่สถานที่ทำงานซึ่งเคยเป็นเจ้าของตำแหน่งนี้มาก่อน

ถึงแม้ว่าชาวเจน Z จะเสียโอกาสในการใช้ชีวิตและสร้างความสัมพันธ์ได้ยากลำบากขึ้น แต่พวกเขาก็ได้ “สร้างโอกาส” ขึ้นมาใหม่ จากสิ่งที่มีอยู่ในมือด้วยตัวพวกเขาเอง

 

ที่มา: BBC