1 เมษายน ‘April Fool’s Day’ ทำไมคนเรา ‘โกหก’ ในวันเมษาหน้าโง่ ?

1 เมษายน ‘April Fool’s Day’ ทำไมคนเรา ‘โกหก’ ในวันเมษาหน้าโง่ ?

เปิดที่มาและหาคำตอบ ทำไมคนเรา "โกหก" ใน "April Fool’s Day" เช็ก 8 ข้อต้องรู้ใน "วันเมษาหน้าโง่" พร้อมส่องเรื่องโกหกยอดนิยมจากทั่วโลก เพื่อให้รู้ตัวก่อนที่จะโดนคนอื่นหลอกอำในวันที่ 1 เมษายนนี้

อย่าเพิ่งโกรธ! ถ้าโดนเพื่อนแกล้งอำในวัน "April Fool's Day" หรือ "วันเมษาหน้าโง่" เพราะถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั่วโลก ซึ่งมักจะแกล้งอำ หรือ "โกหก" กันขำๆ โดยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง แต่ทำได้เฉพาะในวันที่ 1 เมษายนเท่านั้น

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจ็บใจจากการโดนแกล้งในวัน April Fool's Day กันมาไม่น้อย แต่จะโกรธจริงจังเกินไปก็ไม่ได้เพราะวัฒนธรรม "แกล้งอำ" นี้ ผู้คนทั่วโลกมักจะเล่นขำๆ โดยไม่ถือสากันเป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งนี้.. ถ้าอยากจะเล่นจริงๆ ก็อย่าลืมใส่ใจกับคำว่า "กาลเทศะ" เป็นสำคัญ

แม้ว่า "April Fool's Day" จะไม่ใช่วันสำคัญของไทยอย่างเป็นทางการ แต่คนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมนี้เข้ามาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตามวิวัฒนาการทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ..จะว่าไปแล้วที่มาและต้นกำเนิดของ "April Fool's Day" ก็น่าสนใจไม่น้อย ว่ากันว่าการแกล้ง "โกหก" กันแบบนี้มีมาตั้งแต่ยุคโรมันเลยทีเดียว ชวนส่อง 8 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "วันเมษาหน้าโง่" คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เช็กที่นี่!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. April Fool's Day เริ่มมีในศตวรรษที่ 16-19

April Fool's Day หรือ วันเมษาหน้าโง่ ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หลายประเทศทั่วโลกนิยมเฉลิมฉลองวันดังกล่าวด้วยการเล่นมุกตลกด้วยคำ "โกหก" หรือเล่าเรื่องหลอกอำเพื่อแกล้งเพื่อน บางครั้งก็พบว่ามีสำนักพิมพ์หรือสื่อต่างๆ อาจรายงานเรื่องหลอกอำในวันนี้ และออกมาเฉลยในวันต่อมา

มีข้อมูลพบว่าการเล่นแกล้งกันในวัน April Fool's Day นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น กรีก ฝรั่งเศส อีกทั้งมีบันทึกโบราณระบุว่าต้นกำเนิดของ "วันเมษาหน้าโง่" เกิดขึ้นใกล้เคียงกับ "เทศกาลฮิลาเรีย" ของโรมันที่จัดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม ขณะที่ในยุโรปสมัยยุคกลางก็พบว่ามี "เทศกาลคนโง่" จัดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคมด้วย

1 เมษายน ‘April Fool’s Day’ ทำไมคนเรา ‘โกหก’ ในวันเมษาหน้าโง่ ?

2. April Fool's Day กับความเขลาของคนโบราณ

April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับความเขลาที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักฐานจากบันทึกโบราณในตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) โดยถูกเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่

จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายนนั่นเอง 

3. อีกหนึ่งตำนานชี้ว่า April Fool's Day คือวันขึ้นปีใหม่

อีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่า April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนการนับแบบใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลางวันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม

อีกทั้งเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อ! เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พวกเขายังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่นๆ พากันเรียกพวกเขาว่า "พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง

4. ย้อนดู "คำโกหก" ของชาวยุโรปในยุคกลาง

ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ชุดคำพูด "โกหก" ที่ผู้คนสมัยนั้นนิยมนำมาแกล้งอำกัน เช่น พวกอาจารย์มักจะแกล้งบอกกับลูกศิษย์ในโรงเรียนว่า "ดูโน่นสิ! ฝูงห่าน" แล้วชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้า ส่วนกลุ่มนักเรียนจะแกล้งหลอกเพื่อนๆ คนอื่นว่าโรงเรียนงดการเรียนการสอนในวันนั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่เหยื่อตกหลุมพรางตามแผนที่คนแกล้งวางเอาไว้แล้ว คนแกล้งจะตะโกนออกมาว่า "April Fool"

1 เมษายน ‘April Fool’s Day’ ทำไมคนเรา ‘โกหก’ ในวันเมษาหน้าโง่ ?

5. April Fool's Day เผยแพร่จากยุโรปไปสู่ทั่วโลก

จากการล้อเลียนคนที่ฉลองปีใหม่ผิดวันในประเทศแถบยุโรปในวันที่ 1 เมษายน ต่อยอดสู่วัฒนธรรมการแกล้งโกหกกันในวัน April Fool's Day ของทุกๆ ปี ซึ่งการเล่นนี้ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอเชียและประเทศไทยด้วย

ในประเทศอังกฤษจะแกล้งกันอย่างเปิดเผยด้วยการตะโกนว่า "เอพริลฟูล" ใส่คนที่ถูกหลอกตรงๆ เพื่อชี้เป้าว่าใครกำลังโดนแกล้งและถูกเพื่อนๆ เรียกว่า "คนโง่เดือนเมษา" ส่วนในประเทศฝรั่งเศส จะแกล้งเพื่อนด้วยการเอากระดาษรูปปลาไปแปะไว้ข้างหลัง เมื่อฝ่ายที่ถูกแกล้งรู้ตัว คนแกล้งจะตะโกนว่า "Poisson d'Avril!" (April Fish!) ซึ่งเป็นคำที่คนฝรั่งเศษใช้เรียกคนที่ถูกหลอกหรือถูกแกล้งนั่นเอง

สำหรับชาวอเมริกันก็นิยมหยอกล้อเพื่อนฝูงเช่นกัน เช่น การชี้ไปที่รองเท้าของเพื่อนและพูดออกมาว่า "เชือกรองเท้าของเธอหลุดแน่ะ" หรือ แกล้งเทเกลือลงในโถใส่น้ำตาล หรือแอบหมุนเข็มนาฬิกาของเพื่อนให้เดินช้า 1 ชั่วโมง เป็นต้น

6. เรื่อง "โกหก" ยอดฮิตตลอดกาล 

- เรื่องที่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาตนเอง : เช่น ‘ฉันดูดีที่สุดในโลก’ ‘วันนี้หุ่นดีจัง’ คือหัวข้อยอดฮิตที่ผู้คนมักจะพิมพ์โกหกลงโลกโซเชียลมีเดีย เพราะในชีวิตประจำวัน น้อยคนที่จะโพสต์ชื่นชมตนเองแต่พอมาถึงวัน April Fool's Day เป็นโอกาสที่พูดโกหกเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่รู้สึกผิดมากนัก 

- เรื่องสถานะทางการเงิน : เช่น ‘ถูกลอตเตอรรี่ 100 ล้าน’ ‘เป็นเจ้าของกระเป๋าแบรนด์เนม’ ‘เพิ่งถอยรถมาใหม่’ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถทำให้เนียนได้ง่ายๆ เพียงมีเทคนิคเสริมอย่างการลงรูปให้น่าเชื่อถือ 

- เรื่องสถานะความสัมพันธ์ : เช่น ‘เราเลิกกัน’ ‘ฉันท้อง’ ‘ฉันเป็นสาวประเภทสอง’ ‘ฉันคบกับ.....’ ‘แกล้งบอกเลิก’ ระดับความน่าเชื่อถือของคำโกหกอยู่ในระดับปานกลางที่พอให้สะดุ้งกันอยู่บ้าง เพราะเรื่องสถานะความสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องยอดนิยมตลอดกาลที่คนรอบข้างในความสนใจ แต่การโกหกประเภทนี้ก็ต้องเตรียมรับผลลัพธ์ให้ดีเพราะเป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ 

7. แกล้งอำได้แต่ต้องไม่อันตราย

หัวใจของการโกหกในวัน April Fool's Day คือความตลก โดยเรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าไม่ทำอันตรายให้คนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย เพราะฉะนั้นกลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะต้องทำให้ทุกคนหัวเราะได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของวันแห่งความสนุกสนานนี้

--------------------------

อ้างอิง : wikipediaKidsangsan language school