'นางสงกรานต์' 2566 นามว่า 'กิมิทาเทวี' พยากรณ์ปีใหม่ไทย ว่าอะไร?

'นางสงกรานต์' 2566 นามว่า 'กิมิทาเทวี' พยากรณ์ปีใหม่ไทย ว่าอะไร?

ชวนอ่านตำนาน "นางสงกรานต์" ที่เป็นความเชื่อคู่กับประเพณี "สงกรานต์" พร้อมรู้จัก "กิมิทาเทวี" นางสงกรานต์ประจำปี 2566 เผยคำทำนายของดวงเมืองปีนี้

เทศกาล "สงกรานต์" ถือเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ตามประเพณีไทย และเป็นวันหยุดราชการ ของประเทศไทยด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจทุกปีนั่นคือ ความเชื่อเกี่ยวกับ "นางสงกรานต์" และคำทำนายดวงเมืองประจำปีในวันปีใหม่ไทย ซึ่งในแต่ละปีจะสลับสับเปลี่ยนกันไปตามวันในหนึ่งสัปดาห์ แล้วแต่ว่าปีนั้นๆ วันมหาสงกรานต์จะตรงกันวันไหน โดยปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี 2566 มีชื่อว่า "กิมิทาเทวี" พร้อมเผยแพร่ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2566 จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง 

'นางสงกรานต์' 2566 นามว่า 'กิมิทาเทวี' พยากรณ์ปีใหม่ไทย ว่าอะไร?

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวนเปิดตำนาน "นางสงกรานต์" กันอีกครั้งและในเทศกาล สงกรานต์ 2566 นี้นาง "กิมิทาเทวี" เผยคำทำนายดวงเมืองปีนี้ว่ายังไงบ้าง?

  • "นางสงกรานต์" 2566 "กิมิทาเทวี" มีลักษณะยังไง?

"กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ

  • เผยคำทำนายฝนฟ้า ธัญญาหาร และดวงเมือง

ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน

- วันที่ 14 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที

- วันที่ 16 เม.ย.  เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้วันเสาร์ เป็น ธงชัย , วันพุธ เป็น อธิบดี , วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ , วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ

"คำทำนาย" เกี่ยวกับ "นางสงกรานต์" 2566 ปีนี้

- เกณฑ์พิรุณศาสตร์ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า

- เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคให้น้ำ 2 ตัว

- เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์

- เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี

 

  • ตำนาน "นางสงกรานต์"

ตามตำนานเล่าว่า นางสงกรานต์ทั้ง 7 เป็นธิดาของ ท้าวกบิลพรหม ท้าวมหาสงกรานต์ เป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 จากทั้งหมด 6 ชั้น) เมื่อท้าวกบิลพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร ก็ต้องตัดเศียรออกบูชาตามสัญญา

แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น ไม่ว่าบนอากาศ บนดิน หรือในน้ำ (ท้าวกบิลพรหม โดยนัยก็คือ พระอาทิตย์)

เทพธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่อัญเชิญ พระเศียร ของพระบิดา ท้าวกบิลพรหมเวียนรอบเขาพระสุเมรุ และอัญเชิญไปประดิษฐานถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ

เมื่อครบ 1 ปี เวียนมาถึง วันมหาสงกรานต์ ธิดาทั้ง 7 ก็ผลัดกันมาอัญเชิญพระเศียรผู้เป็นบิดาออกแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี

โดยมีเกณฑ์ว่า วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้ "นางสงกรานต์" ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ ได้แก่

  • นางสงกรานต์ทุงษะเทวี

ทุงษะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

  • นางสงกรานต์โคราคะเทวี

โคราคะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

  • นางสงกรานต์รากษสเทวี

รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

  • นางสงกรานต์มณฑาเทวี

มัณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

  • นางสงกรานต์กิริณีเทวี

กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา(ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)

  • นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

  • นางสงกรานต์มโหทรเทวี

มโหทรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)