"ดอกอัญชัน" กินได้! รวมลิสต์ "ดอกไม้กินได้" ที่บางคนอาจยังไม่เคยรู้

"ดอกอัญชัน" กินได้! รวมลิสต์ "ดอกไม้กินได้" ที่บางคนอาจยังไม่เคยรู้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! มีคนบางกลุ่มยังไม่รู้ว่า “ดอกอัญชัน” กินได้! ทั้งๆ ที่ในบ้านเรารู้จักการกิน “ดอกไม้กินได้” (Edible Flower) หลากหลายชนิดมานานแล้ว แถมยังมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

Key Points: 

  • ดราม่าโซเชียลกรณีมีหญิงสาวไม่รู้ว่า “ดอกอัญชัน” กินได้ โดยเจ้าตัวได้โพสต์ข้อความบนโลกโซเชียลในทำนองตำหนิหนุ่มที่ไปออกเดทด้วยว่า รู้สึกอายที่เขากินดอกไม้วางประดับจาน
  • ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับดอกอัญชันในโลกโซเชียลอย่างหลากหลาย โดยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดอกอัญชันกินได้!
  • “ดอกอัญชัน” สามารถกินได้ทั้งดอกสดและดอกแห้ง โดยเมนูที่หลายคนคุ้นเคยกันดีก็คือน้ำสมุนไพรดอกอัญชันหรือน้ำอัญชันมะนาว เป็นต้น โดยมีสรรพคุณมากมาย เช่น ลดความเครียด ช่วยนอนหลับ ลดน้ำตาลในเลือด ฯลฯ 

จากกรณีหนุ่มสาวคู่หนึ่งไปเดทในร้านอาหาร แล้วมีเมนูหนึ่งที่มี “ดอกอัญชัน” วางมาด้วย เมื่อชายหนุ่มหยิบดอกอัญชันกินเข้าไป ทำให้หญิงสาวไม่พอใจและนำมาโพสต์ในโลกโซเชียลว่ารู้สึกอายที่เขากินดอกไม้ประดับจาน ใครเขากินกัน? จากนั้นก็เกิดดราม่าจากโพสต์ดังกล่าวกระจายออกไปในวงกว้าง ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่า ดอกอัญชันกินได้ ไม่ใช่แค่ดอกไม้ประดับจาน

นำไปสู่การพูดคุยและแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่า จริงๆ แล้ว “ดอกไม้กินได้” หรือ Edible Flower ในเมืองไทยไม่ได้มีแค่ดอกอัญชัน เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายดอกที่คนรุ่นใหม่บางคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมดอกกินได้มาให้รู้กันบางส่วน พร้อมสรรพคุณดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้ 

1. ดอกอัญชัน

นิยมนำมาใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอาง หรือใช้เป็นสีผสมอาหารและเครื่องดื่ม และยังนำมารับประทานสดๆ ได้ด้วย มีข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า สารสกัดชนิดต่างๆ ที่ได้จาก ลำต้น ใบ ดอก และรากของอัญชัน มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ขณะที่ในด้านเครื่องสำอางก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า สารสกัดจากอัญชันมีฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นขนอีกด้วย

วิธีกิน : ไม่มีรส ดอกสดเหมาะกับจิ้มน้ำพริก, ชุบแป้งทอด, สลัด, ยำต่างๆ , ดอกแห้งทำน้ำสมุนไพร, น้ำคั้นจากดอกสดใช้เป็นส่วนผสมของขนมไทยได้หลากหลายชนิด

สรรพคุณ : กระตุ้นความจำ ลดความเครียด ช่วยนอนหลับ ลดน้ำตาลในเลือด ช่วยระบบไหลเวียนเลือด ขับปัสสาวะ ต้านการอักเสบ

2. ดอกลีลาวดีพันธุ์ขาวพวง

ดอกลั่นทมเป็นดอกไม้กินได้ แต่กินได้เฉพาะสายพันธุ์ขาวพวง โดยใช้ดอกที่ร่วงจากต้นแล้วจะดีที่สุด หากเก็บดอกจากต้นสดๆ ต้องนำมาห่อใบตองทิ้งไว้ 1 คืนก่อน จากนั้นตัดปลายก้านดอกแต่ละดอก แล้วแช่น้ำผสมเกลือไว้ก่อน 30 นาที เพื่อให้ยางละลายออกไปหมด แล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ซับให้แห้ง แล้วจึงนำไปทำอาหาร

วิธีกิน : รสมัน เหมาะกับชุบแป้งทอด

สรรพคุณ : ในสมัยโบราณจะนำดอกมาทำยา ใช้ผสมกับพลูทำเป็นยาแก้ไข้, แก้ไข้มาลาเรีย แต่ปัจจุบันนิยมนำดอกมาทำเป็นธูปหอม แต่ก็สามารถนำดอกมารับประทานได้เช่นกัน 

\"ดอกอัญชัน\" กินได้! รวมลิสต์ \"ดอกไม้กินได้\" ที่บางคนอาจยังไม่เคยรู้

3. ดอกกระเจียว

ดอกกระเจียวมักมีให้กินในช่วงต้นฤดูฝน มีทั้งสีขาวและสีแดง โดยบางสายพันธุ์ก็มีรสจืดมัน บางสายพันธุ์ก็มีรสเผ็ดปร่าเหมือนดอกข่า แต่ทั้งคู่สามารถกินได้และนิยมทั้งแบบดอกสดและลวกสุก 

วิธีกิน : ดอกสดหรือลวกกินกับลาบ, ส้มตำ, น้ำพริก, ใส่ในแกงส้ม, ใส่ในแกงผักหวานและปลาย่าง, ใส่ในแกงส้ม, แกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย หรือนำไปคั้นทำเป็นน้ำสมุนไพรก็ได้

สรรพคุณ : ขับลม-ลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ป้องกันมดลูกอักเสบหลังคลอด

4. ดอกเฟื่องฟ้า

ดอกเฟื่องฟ้าได้รับสมญานามว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ ดอกไม้แห่งความรุ่งเรือง และยังแสดงถึงความสว่างไสว ความเบิกบาน ความก้าวหน้าแห่งชีวิต ยังเป็นดอกไม้มงคลของคนไทยโบราณและชาวจีนอีกด้วย สำหรับกลีบดอกสามารถกินได้ มีรสชาติค่อนข้างฝาดจึงนิยมนำไปชุบแป้งทอด รับประทานคู่กับน้ำจิ้มเพื่อเพิ่มรสชาติ 

วิธีกิน : ชุบแป้งทอด

สรรพคุณ : บำรุงหัวใจและบำรุงระบบขับถ่าย แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

5. ดอกบัวหลวง

เป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์หลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วนในดอกทั้งราก เม็ด กลีบดอก ฯลฯ 

วิธีกิน : เมี่ยงกลีบดอกบัว, ยำเกสรดอกบัว, น้ำสมุนไพร 

สรรพคุณ : กลีบดอกบัวช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่น ช่วยลดอาการใจสั่น บำรุงกำลัง ส่วนรากบัวและเม็ดบัว มีรสหวานเย็นและมันเล็กน้อย ช่วยบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง

6. ดอกกุหลาบมอญ

ดอกไม้ประดับสวยงามและสามารถกินได้ แต่ต้องเป็นดอกกุหลาบที่ปลูกโดยปราศจากยาฆ่าแมลง โดยทั่วไปมีรสฝาด หากนำมาทำอาหารจะต้องแช่หรือล้างด้วยน้ำผสมเกลือหรือน้ำมะนาวก่อน 

วิธีกิน : ชุบแป้งทอด, ใส่ไข่เจียว, ยำ, ดอกแห้งนำมาทำเป็นชากุหลาบ, กลีบดอกคั้นน้ำแล้วนำมาเป็นส่วนผสมของขนม หรือใส่เป็นกลีบดอกสดๆ ก็ได้

สรรพคุณ : บรรเทาอาการหวัด รักษาอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ แก้กระเพาะอักเสบ แก้ท้องเสีย เพิ่มการไหลเวียนระบบเลือด

7. ดอกดาหลา

เป็นดอกสีสันสวยงามตระกูลเดียวกับขิงและข่า ดอกมีกลิ่นหอมเฝื่อนๆ และรสชาติอมเปรี้ยว จึงมักนิยมนำกลีบดอกไปยำ หน่ออ่อนและดอกตูม มีรสเผ็ดเล็กน้อย 

วิธีกิน : ดอกสดหรือลวกกินกับน้ำพริก, ยำกลีบดอก, ใส่ในข้าวยำ, แกงกะทิ, แกงคั่ว

สรรพคุณ : แก้ลมพิษ แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

\"ดอกอัญชัน\" กินได้! รวมลิสต์ \"ดอกไม้กินได้\" ที่บางคนอาจยังไม่เคยรู้

8. ดอกโสน

ดอกไม้พื้นบ้าน มีรสหวานเล็กน้อย ประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน โดยส่วนใหญ่นิยมกินแบบสุกมากกว่าดอกสด

วิธีกิน : ลวกจิ้มน้ำพริก, ใส่ในแกงส้ม, ใส่ในไข่เจียว, ดอกสดคั้นน้ำแล้วใช้เป็นสีประกอบอาหารและขนมต่างๆ, ขนมดอกโสน ใช้ดอกโสนนึ่งและนำไปคลุกกับแป้งข้าวเหนียวและน้ำตาล

สรรพคุณ : อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและสมอง มีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิต มีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงผิวพรรณ ช่วยให้เจริญอาหาร มีสารเควอซิติน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง

9. ดอกขจร

เป็นดอกไม้พื้นบ้านของไทยอีกหนึ่งชนิดที่อยู่ในหมวด "ดอกไม้กินได้" ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย บางบ้านก็นำมาปลูกเป็นผักสวนครัวด้วย

วิธีกิน : มีฤทธิ์เย็น รสชาติขมนิดๆ แต่เมื่อปรุงสุกแล้วจะหวาน นิยมนำไปลวกจิ้มน้ำพริก, ใส่ในแกงจืด, ดอกขจรผัดไข่เค็ม, แกงส้มดอกขจร, ไข่เจียวดอกขจร

สรรพคุณ : ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ มีวิตามิน C วิตามิน B3 ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา ป้องกันหวัด ช่วยขับเสมหะ บำรุงปอด

10. ดอกเข็ม

ดอกเข็มมีหลายชนิด แต่ชนิดที่กินได้นั้นเป็นชนิดดอกเข็มเล็ก เช่น เข็มแดง เข็มขาว เข็มชมพู โดยสามารถรับประทานได้ทั้งดอกสด และดอกสุก

วิธีกิน : นิยมนำไปชุบแป้งทอด, ไข่ตุ๋นดอกเข็ม, กินสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก

สรรพคุณ : มีฤทธิ์เย็น ช่วยขับพิษ แก้ร้อนใน แก้ท้องเสีย ช่วยต้านมะเร็งได้ ส่วน “เกสรดอกเข็ม” มีรสชาติหวาน ช่วยขับเสมหะและทำให้ชุ่มคอ

หากศึกษาให้ดีจะพบว่ายังมีดอกไม้กินได้อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นดอกซ่อนกลิ่น, ดอกมะลิ, ดอกพวงชมพู, ดอกดาวเรือง, ดอกคาร์โมมายด์ ดอกลาเวนเดอร์ เป็นต้น และไม่ควรด่วนตัดสินว่าดอกไม้ที่วางมาบนจานอาหารนั้นเป็นเพียงดอกไม้ประดับไปเสียทั้งหมด เพราะดอกไม้บางชนิดสามารถกินคู่กับอาหารต่างๆ เข้ากันได้อย่างดี แถมมีประโยชน์เพียบ!

---------------------------------

อ้างอิง : Thaifarmer ม.เกษตรศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดลบ้านและสวนHealth&CuisineSGEthai