‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน 'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน 'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา

เปิดกล่องเก็บความภาคภูมิใจหลังใหม่ของครอบครัวคนทำขนมเปี๊ยะ ‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ สาขาแสนภูดาษ กลุ่มอาคารจีนที่หลอมรวมร้านขายของฝาก คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่สันทนาการเข้าไว้ด้วยกัน บนเนื้อที่ 4 ไร่ ริมถนนบางปะกง-ฉะเชิงเทรา

ใหญ่โตโอฬารมองเห็นโดดเด่นมาแต่ไกล ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อร้าน หรือว่าซุ้มประตูขนาดใหญ่ที่เรากำลังถกกันว่านี่คือ สถาปัตยกรรมจีน หรือ เกาหลี กันแน่

ก็ได้คำตอบจากคุณ ปิยะพร ตันคงคารัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ ร้านขายขนมเปี๊ยะชื่อดังแห่งบางคล้า ว่าเป็นรูปแบบที่ลดทอนรายละเอียดที่ทำให้ดูมีความโมเดิร์นขึ้น ส่วนใครจะมองว่าเป็นศิลปะจีน หรือ เกาหลี นั้นก็เปิดให้จินตนาการได้โดยอิสระ

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ซุ้มประตูทางเข้าร้านตั้ง เซ่ง จั้ว สาขาแสนภูดาษ

การได้พบกันโดยบังเอิญ ทำให้เราได้รับทราบถึงที่มาของแนวคิดในการออกแบบร้านขายขนมเปี๊ยะ รวมไปถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของการดีไซน์ที่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ไกลเกินกว่าที่คิด

ซึ่งมีบทพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้วที่ร้าน ตั้ง เซ่ง จั้ว ที่ตั้งอยู่ กม.13 ทางหลวงสายฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

“ร้านเดิมเราอยู่ในบางคล้า ลูกค้าจะซื้อต้องขับรถเข้าไป 6 กิโลเมตร แล้วขับออกมาอีก 6 กิโลเมตร ลูกค้าบอกว่าน่าจะออกมาตั้งริมถนน  พอดีผมเรียนสถาปัตย์ภายใน (คณะสถาปัตยกรรมศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ผมรู้จักบริษัทต้นศิลป์ ก็ไปหาคุณ ชาตรี ลดาลลิตสกุล บอกว่าเราอยากจะทำร้านขนมเปี๊ยะ มีงบประมาณ 1 ล้านบาท” คุณปิยะพร เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อราวปี 2543 ให้เราฟัง

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ตั้ง เซ่ง จั้ว แห่งแรกที่คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบ และได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ปี 2547

“คุณชาตรีใจดีมากครับ ออกแบบให้อลังการมาก ผมเห็นแล้วคิดว่าจะเป็นไปได้เหรอ มันใหญ่ขนาดนั้น แต่คุณชาตรีมองได้ไกลกว่าเรา เขาบอกว่าถ้าจะเป็นร้านของฝาก มันจะต้องมีสเกลประมาณนี้ ถ้าเงินไม่พอก็ไม่เป็นไร ตอกเสาเข็มไปก่อน ค่อยๆ ทำทีหลัง แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จ คนผ่านไปผ่านมาแล้วเห็น มันจะต้องทำใหญ่ขนาดนี้ สุดท้ายทำไป 18 ล้านบาท 

เป็นเงินที่เราไม่ได้เตรียมจะจ่ายเอาไว้ แต่สิ่งที่ทำให้ครอบครัวเราตัดสินใจที่จะทำ คือ คุณชาตรีบอกว่าไม่ได้อยากทำร้านขนมเปี๊ยะให้เรา แต่เขาอยากทำกล่องเก็บความภาคภูมิใจให้ครอบครัวคนทำขนมเปี๊ยะ” 

ในช่วงแรกคุณปิยะพรคิดว่า เมื่อร้านสร้างเสร็จแล้วคงจะสวยและมีชื่อเสียงในระดับจังหวัด “แต่คุณชาตรีบอกว่าไม่ใช่หรอก มันจะต้องมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาทำให้เราเห็นถึงพลังของการออกแบบที่ขับเคลื่อนพวกเราให้ไปไกลได้มากกว่าที่คิด"

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ภายในอาคารร้านขายของฝาก ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ ชั้นล่างเป็นร้านขายขนมเปี๊ยะและของฝากจากฉะเชิงเทรา ชั้นบนจัดเป็นพื้นที่สำหรับคาเฟ่ที่สามารถชมวิวได้อย่างชัดเจน

คุณ ชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี 2562 (สถาปัตยกรรม) กล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบร้านตั้ง เซ่ง จั้ว กม.13 ทางหลวงสายฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม ไว้ในหนังสือ ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรม ชาตรี ลดาลลิตสกุล/ ต้นศิลป์ สตูดิโอ เอาไว้ว่า

“ร้านขนมเปี๊ยะ เป็นกลุ่มอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 4 ไร่ ตั้งใจให้เป็นจุดแวะพักของผู้ผ่านทางที่อบอุ่นและเป็นกันเอง มีโรงดื่มน้ำชา กาแฟ เล็กๆ ไว้บริการข้างๆ แต่เนื่องจากเขตทางกว้างมาก ทั้งยังอยู่กลางทุ่ง ไม่มีสัญญาณของจุดสนใจอื่นใด และรถขับผ่านด้วยความเร็วสูง

โจทย์แรกของผมคือ ความจำเป็นในการปรากฏตัวและเรียกร้องความสนใจ ทำให้ผมตัดสินใจให้อาคารมีลักษณะเชิงประติมากรรมเพื่อเป็นจุดที่สังเกตที่เด่นชัด เราต้องการให้กลุ่มอาคารนี้มีการจัดการที่ว่าง (Space) ที่บอกถึงคำยินดีต้อนรับ

การเลือกสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมจีน เป็นคำตอบที่พอดีของทุกคำถามที่นึกถึง ผมอยากให้อาคารสื่อสารกับผู้คนที่อยู่ต่อหน้ามัน กล่าวคำทักทาย(เป็นภาษาจีน) ที่เป็นมิตร เล่าถึงความภูมิใจและความเป็นมาของครอบครัวหนึ่ง และขนมเปี๊ยะของเขา ซึ่งมีตำนานข้ามน้ำข้ามทะเล และดำเนินกิจการมา 3 ชั่วอายุคน”

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา เรือนจำลองบ้านอากงที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติความเป็นมาของครอบครัวคนทำขนมเปี๊ยะแห่งบางคล้า  ภายในบริเวณร้าน ตั้ง เซ่ง จั้ว สาขาแสนภูดาษ

หลังจากกลุ่มอาคารชุดนี้สร้างแล้วเสร็จในปี 2546 ก็ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น เหรียญทอง ประเภทอาคารพาณิชยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยามในปีถัดมา

พลังของการออกแบบทำงานขับเคลื่อนให้ ตั้ง เซ่ง จั้ว เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ต่างให้ความสนใจในการนำเสนอข่าวสารกันอย่างแพร่หลาย

“เมื่อมาถึงวันที่เราอยากทำร้าน ตั้ง เซ่ง จั้ว ที่ตำบลแสนภูดาษ คุณชาตรีบอกว่า อยากจะทำร้านที่จริงกว่าปกติ เมื่อก่อนเรางบน้อย เราใช้การทาสีแทนที่วัสดุจริง แต่ครั้งนี้จะใช้วัสดุที่เป็นของจริง เช่น ใช้ไม้จริง ปูนจริง 

อยากสร้างพื้นที่ให้คนที่มาฉะเชิงเทราได้มีจุดแวะพัก นอกจากร้านขายของฝาก เรายังมีส่วนที่เป็นคาเฟ่  มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม เช่น เวิร์คช็อปการปั้นขนมเปี๊ยะ และมีพิพิธภัณฑ์ที่จำลองบ้านอากงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับของเดิมจัดแสดงเรื่องราวของอากง ฮก แซ่ตั้ง เจ้าของตำนานขนมเปี๊ยะบางคล้าให้ชมกันด้วยครับ” 

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา บรรยากาศของคาเฟ่ที่ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา

กาแฟร้อนกับเค้กกล้วยหอมแมคคาเดเมียลูกพลับจีน
‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ

“ผมอยากให้อาคารสื่อสารกับผู้คนที่อยู่ต่อหน้า กล่าวคำทักทายที่เป็นมิตร เล่าถึงความภูมิใจและความเป็นมาของครอบครัวคนทำขนมเปี๊ยะ” ชาตรี ลลาลลิตสกุล สถาปนิกกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบ

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ความรื่นรมย์ภายในห้องสุขา

ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ บนพื้นที่ 4 ไร่ เท่ากับร้านที่ กม.13 ทางหลวงสายฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม เพิ่มเติมคือสัดส่วนของอาคารที่ใหญ่โตขึ้น ใช้วัสดุจริง ในขณะเดียวกันก็ลดทอนรายละเอียดของสถาปัตยกรรมจีนลงทำให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

พลังของการออกแบบครั้งนี้จะส่งแรงกระเพื่อมให้ธุรกิจได้มากแค่ไหน โปรดจับตามองกันต่อไป แต่ที่แน่ๆร้านเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 

เพียงสองเดือนแรกของปี 2566 ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ เป็นจุดเช็คอินยอดฮิตของฉะเชิงเทราไปแล้ว 

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา เกี่ยวกับขนมเปี๊ยะ ตั้ง เซ่ง จั้ว : สายน้ำแห่งความสำเร็จ คือ ความหมายของคำว่า 'ตั้ง เซ่ง จั้ว' ร้านขนมเปี๊ยะที่ถือกำเนิดโดย นายฮก แซ่ตั้ง เมื่อปี 2475 เดิมเรียกกันว่าขนมเปี๊ยะบางคล้า เพราะว่ามีอยู่ร้านเดียวในตลาดบางคล้า

ด้วยความที่นายฮกเคยเป็นลูกจ้างร้านขนมเปี๊ยะที่เมืองจีนมาก่อน เมื่อมาก่อร่างสร้างตัวในเมืองไทย ก็นำสูตรขนมเปี๊ยะเก่าแก่ของชุมชนแต้จิ๋วในเมืองจีน ซึ่งมีกรรมวิธีการทำที่ละเอียดประณีต มาเปิดร้านขาย ทำให้รสชาติและคุณภาพของขนมเปี๊ยะมีเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าอย่างแพร่หลาย จนได้รับเชลล์ชวนชิม จาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในปี 2524 

ขนมเปี๊ยะ ตั้ง เซ่ง จั้ว มีการพัฒนาไส้ต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ได้แก่ บัวหิมะ มะตูม มอคค่า ช็อกโกแลต หมูหยอง ฝอยทอง องุ่น ทุเรียน เป็นต้น ทว่าไส้ที่ขายดีตลอดกาลยังคงเป็นไส้คลาสสิก คือ ไส้ฟักถั่ว  ส่วนหีบห่อนั้นกล่าวได้ว่าสวยงามทันสมัยเป็นของฝากที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

‘ตั้ง เซ่ง จั้ว’ แสนภูดาษ ร้าน \'ขนมเปี๊ยะ’ สุดอลังการริม ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา ตั้ง เซ่ง จั้ว แสนภูดาษ 

  • ที่ตั้ง : ถนนบางปะกง-ฉะเชิงเทรา ติดกับเทศบาลตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • เปิดบริการ : จันทร์ – พฤหัสฯ 08.00-17.30 น. ศุกร์ – อาทิตย์ 08.00 – 18.00 น.
  • ติดต่อ : โทร.09 5887 6103  เฟซบุ๊ก ตั้งเซ่งจั้วแสนภูดาษ