เปิดขั้นตอนและมารยาทการ "ลาออก" ของ "ผู้บริหาร" และมนุษย์งานตำแหน่งสูง

เปิดขั้นตอนและมารยาทการ "ลาออก" ของ "ผู้บริหาร" และมนุษย์งานตำแหน่งสูง

เปิดฮาวทูวิธี "ลาออก" จากตำแหน่งระดับสูงแบบมืออาชีพ โดยเฉพาะระดับ "ผู้บริหาร" ต้องทำอย่างไร? เมื่อการลาออกที่ดี สามารถพิสูจน์คุณค่าต่ออาชีพการงานของคุณได้ในระยะยาว

Key Points:

  • การ “ลาออก” ของผู้บริหารระดับสูง มีความซับซ้อนมากกว่าการลาออกของพนักงานระดับปฏิบัติการทั่วไป เนื่องจากมีรายละเอียดสัญญาจ้างงานที่แตกต่างกัน และต้องบริหารจัดการขั้นตอนต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพราะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ
  • การลาออกของผู้บริหารระดับสูง จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบของบริษัทเดิม เพื่อเป็นการแสดงความเคารพแก่องค์กร และแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ
  • หากในสัญญาจ้างระบุว่า ต้องรักษาความลับของบริษัท หรือห้ามเริ่มงานกับบริษัทคู่แข่งภายใน 1 ปีหลังจากลาออก ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบในสัญญานั้นด้วย 

หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานใน “ระดับปฏิบัติการ” ทั่วไป การลาออก หรือการเปลี่ยนผ่านย้ายที่ทำงานใหม่ สามารถทำได้ตามขั้นตอนและมารยาทมาตรฐานที่หลายคนรู้กันอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่การทบทวนอ่านสัญญาจ้าง, การแจ้งลาออกกับหัวหน้างานโดยตรง, การยื่นใบลาออกกับฝ่ายบุคคล รวมไปถึงการสอนงานหรือส่งต่องานต่อให้คนอื่นๆ ในทีม เป็นต้น

แต่รู้หรือไม่? หากผู้ที่ “ลาออก” อยู่ในตำแหน่งงานระดับสูงอย่าง “ผู้บริหาร” การลาออกจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น และอาจไม่ง่ายเหมือนการลาออกของมนุษย์งานทั่วๆ ไป เนื่องจากมีรายละเอียดสัญญาจ้างงานที่แตกต่างกับระดับปฏิบัติการ อีกทั้งต้องมีการบริหารจัดการขั้นตอนต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพราะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง และคุณค่าต่ออาชีพการงานในอนาคต

แล้วขั้นตอนและมารยาทใน “การลาออกของผู้บริหารระดับสูง” ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง และมีข้อปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างไร? จึงจะเรียกว่าเป็นการลาออกที่ดีและเป็นมืออาชีพ? กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมข้อมูลและสรุปมาให้แล้ว ดังนี้

 

  • ขั้นตอนที่ 1 : แจ้งผู้บังคับบัญชาโดยตรง และประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ

หากตอบตัวเองได้แน่ชัดแล้วว่า ต้องการลาออกจากที่ทำงานเดิม เพื่อขยับขยายไปทำงานกับบริษัทใหม่ อาจเริ่มต้นจากการแจ้งหัวหน้าสายงานโดยตรง แต่มีข้อควรระวังอย่างแรกคือ อย่าเพิ่งเซ็นใบลาออกจากที่เดิม จนกว่าคุณจะเซ็นสัญญาจ้างงานกับที่ทำงานใหม่ เนื่องจากการตกลงรับงานใหม่แบบปากเปล่าสามารถยกเลิกได้เสมอ!

แม้ว่าคุณจะรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เริ่มงานในตำแหน่งใหม่แค่ไหน แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการลาออกของบริษัทเดิม เพื่อเป็นการแสดงถึงมารยาทและความเคารพแก่องค์กร โดยสิ่งที่ควรทำในขั้นตอนนี้ ได้แก่

1. ต้องรักษาความลับของบริษัท : หากในสัญญาจ้างของที่ทำงานเดิมระบุว่า ต้องรักษาความลับของบริษัท หรือห้ามเริ่มงานกับบริษัทคู่แข่งภายใน 1 ปีหลังจากลาออก ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบในสัญญานั้นด้วย เพื่อรักษาบทบาทผู้นำที่ซื่อสัตย์และมีความโปร่งใส

2. ต้องแจ้งลาออกกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง : วิธีการแจ้งลาออกที่เหมาะสมและเป็นมืออาชีพ คือ ควรแจ้งกับหัวหน้าด้วยตนเองแบบตัวต่อตัว (หัวหน้าของคุณควรเป็นคนแรกที่รู้เรื่องนี้) โดยขณะสนทนาให้พูดไปในประเด็นเชิงบวก เช่น แสดงความขอบคุณ และกล่าวถึงคุณค่าที่ได้รับจากการทำงานที่นี่ พร้อมบอกเหตุผลที่ชัดเจนในการลาออก แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตำแหน่งงานและชื่อบริษัทใหม่ที่จะย้ายไปทำ

เปิดขั้นตอนและมารยาทการ \"ลาออก\" ของ \"ผู้บริหาร\" และมนุษย์งานตำแหน่งสูง

3. แจ้งเหตุผลให้เหมาะสมอย่างมืออาชีพ : การมีความชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลที่คุณออกจากตำแหน่งปัจจุบัน มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อลาออกจากตำแหน่งระดับสูง จึงควรแจ้งเหตุผลให้ชัดเจนและเหมาะสม เช่น เหตุผลด้านค่าตอบแทน, ด้านวัฒนธรรมองค์กร, ด้านบทบาทหน้าที่และเส้นทางอาชีพ (Career Path), ด้านความสมดุลของงานและชีวิต เป็นต้น 

4. มารยาทการแจ้งลาออกของผู้บริหารที่ต้องมี : โดยปกติหากผู้ที่ดำรงตำแหน่งงานระดับสูงลาออก จะต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (มักระบุไว้ในสัญญาจ้างแต่แรก) การประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่มารยาททางวิชาชีพที่คุณต้องให้เกียรติองค์กรเดิมเท่านั้น แต่หากไม่ทำตามระเบียบนี้ คุณอาจเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย หรือสูญเสียผลประโยชน์จากการเลิกจ้างอีกด้วย

 

  • ขั้นตอนที่ 2 : วิธีแจ้งเขียนจดหมายลาออก

วิธีเขียนจดหมายลาออกของผู้ที่ดำรงตำแหน่ง C-suite (ระดับงานที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “Chief”) หรือ CEO ที่เหมาะสมคือ ควรเขียนอย่างเรียบง่าย กระชับ และเป็นไปในเชิงบวก โดยสิ่งที่ควรทำในขั้นตอนนี้ ได้แก่

1. เขียนเหตุผลที่ชัดเจน และแสดงทัศนคติเชิงบวก : โดยทั่วไปควรเขียนขอบคุณบริษัทเดิมที่ให้โอกาสในการทำงาน ยกย่องข้อดีของบริษัท และแสดงให้เห็นว่าประสบการณ์ที่ได้รับจากที่นี่ ทำให้คุณเติบโตในสายอาชีพได้อย่างไร และขอให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

2. หลีกเลี่ยงเหตุผลเชิงลบ : ในจดหมายลาออกควรหลีกเลี่ยงการระบุเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกโดยชี้ไปที่ข้อเสียของเพื่อนร่วมงานหรือเวลาที่เสียไป อีกทั้งในจดหมายควรระบุวันที่ทำงานวันสุดท้ายกับบริษัทเดิม และวันที่เริ่มงานกับบริษัทใหม่ให้ชัดเจน โดยต้องยื่นจดหมายลาออกจาก “ตำแหน่งผู้บริหาร” ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างงาน

3. อาจได้รับข้อเสนอจากที่เดิม ต้องใช้ไหวพริบขั้นสูงสุด : บ่อยครั้งในระหว่างขั้นตอนการลาออก นายจ้างปัจจุบันจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้คุณอยู่ต่อโดยยื่นข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจ แต่ต้องระวัง! คำสัญญาที่สวยหรูอาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสมอไป หากนายจ้างสัญญาว่าจะจัดการเรื่องนี้ในระหว่างขั้นตอนการยื่นข้อเสนอ อย่าตกลงใดๆ จนกว่าจะมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

เปิดขั้นตอนและมารยาทการ \"ลาออก\" ของ \"ผู้บริหาร\" และมนุษย์งานตำแหน่งสูง

 

  • ขั้นตอนที่ 3 : เตรียมตัวก้าวลงจากตำแหน่งระดับสูง

การ “เตรียมพร้อมที่จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหาร” จะช่วยให้คุณเปลี่ยนผ่านงานได้อย่างราบรื่น ไม่ทำให้งานเดิมหยุดชะงัก จัดการงานค้างได้อย่างเป็นระเบียบ เมื่อเวลานั้นมาถึงคุณจะสามารถลาออกจากงานด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ โปร่งใสและเป็นมืออาชีพ โดยสิ่งที่ควรทำในขั้นตอนนี้ ได้แก่

1. สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมอย่างจริงใจ : เมื่อออกจากตำแหน่งผู้นำ สิ่งสำคัญคือต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนและเหมาะสมในการลาออก ต้องบอกทีมให้ชัดเจน เช่นเดียวกับการแจ้งต่อหัวหน้าสายงานหรือผู้บังคับบัญชา

2. ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานด้วยการส่งมอบงานให้ได้มากที่สุด : โดยต้องรับผิดชอบงานเดิมที่ค้างอยู่ให้สำเร็จก่อนที่จะออกไปเริ่มงานกับที่ใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะเชิงลบที่เรียกว่า “การเผาสะพานกับบริษัทเดิม” เนื่องจากในอนาคตคุณอาจได้ร่วมงานกันอีกครั้ง หรือยังคงเป็นคอนเนคชันที่ดีในสายงานเดียวกันต่อไป

3. แสดงน้ำใจต่อทีมและบริษัท : สนับสนุนบริษัทในการจัดหาบุคลากรมาทดแทนในตำแหน่งที่ตนเองเคยทำอยู่

4. รักษาคอนเนคชันของสายอาชีพ : ด้วยแจ้งข่าวการย้ายงานให้ลูกค้า นายหน้า หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสายงานของคุณให้รับทราบ และยินดีที่จะร่วมงานกับพวกเขาต่อไปแม้จะย้ายไปบริษัทใหม่ก็ตาม

สุดท้ายแล้ว ในโลกการทำงานของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงอย่าง “ผู้บริหาร” ก็คงไม่มีใครตอบได้ชัดๆ ว่าช่วงเวลาใดเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะลาออกจากงาน แต่การรู้วิธีลาออกด้วยความเป็นมืออาชีพ ถือเป็นทักษะที่สำคัญที่คนทำงานในระดับผู้บริหารต้องมี เพื่อคงความน่าเชื่อถือและช่วยสร้างคุณค่าให้กับตัวผู้บริหารเอง

--------------------------------------

อ้างอิง : RutherfordSearch, RobertWalters