"Chitbeer" กับความฝันส่ง "คราฟต์เบียร์ไทย" ขึ้นแท่น "Soft Power" บนเวทีโลก

"Chitbeer" กับความฝันส่ง "คราฟต์เบียร์ไทย" ขึ้นแท่น "Soft Power" บนเวทีโลก

แม้ว่าคราฟต์เบียร์ไทยชื่อดังอย่าง “Chitbeer” จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ผู้ก่อตั้งอย่าง “วิชิต” ยังฝันให้เบียร์ไทยก้าวไปไกลบนเวทีโลกด้วยการเป็น “Soft Power” สุดปัง!

แน่นอนว่าสำหรับสายดื่มที่นิยม “คราฟต์เบียร์” โดยเฉพาะที่เป็นแบรนด์ไทย ย่อมรู้จัก “Chitbeer” เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นหนึ่งในคราฟต์เบียร์ไทยเจ้าแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับและความนิยมอย่างแพร่หลายไปถึงต่างประเทศ แต่สำหรับ วิชิต ซ้ายกล้า ผู้ก่อตั้งยังมองว่าเครื่องดื่มคราฟต์แบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์หรือสุรายังสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้ หากผลักดันให้เป็นหนึ่งใน “Soft Power”

ก่อนอื่นขอพาย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของ “Chitbeer” กันสักนิด ว่ากันว่าเบียร์สูตรนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ซึ่ง วิชิต เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ช่วงที่ตนอยู่ต่างประเทศได้ทดลองต้มเบียร์เล่นๆ ดู ทำให้ได้รู้ว่าคนธรรมดาก็ต้มเบียร์กินเองได้ และเมื่อกลับมาไทยก็ยังคงทำต่อแม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร และมองว่าคนไทยหลายคนมีความรู้เรื่องการต้มเบียร์ และหากสามารถทำเป็นธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมาย ก็จะช่วยให้อีกหลายคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้

  • Chitbeer ไม่ได้มองนายทุนเป็นคู่แข่ง

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีนายทุนใหญ่หลายเจ้าที่ทำธุรกิจเบียร์ด้วยราคาและช่องทางการขายที่เข้าถึงง่าย แต่สำหรับ Chitbeer กลับมองว่ากลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ใช่คู่แข่งทางการตลาด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นคนละกลุ่มกัน สำหรับ “คราฟต์เบียร์” ถือว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ชอบความแปลกใหม่และความเป็นเอกลักษณ์ 

นอกจากนี้วิชิตยังมองว่ากลุ่มชนชั้นกลางในยุคปัจจุบันไปจนถึงอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจมีเพียงร้อยละ 5 จากประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งคนกลุ่มนี้คือเป้าหมายหลักของธุรกิจคราฟต์เบียร์ ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ได้มีเยอะมากเหมือนกับต่างประเทศ

“วิธีเดียวที่ทำให้แบรนด์แข็งแรงได้คือต้องมีคอมมูนิตี้ด้วย เพื่อให้มีการสอนวิธีต้มเบียร์ต่อไป มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ช่วยกันทำการตลาด ไม่ได้มาแข่งขันกัน แต่อยากทำให้คนรู้ว่ามีเบียร์ทางเลือก ให้ผู้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม” วิชิตกล่าว

  • คราฟต์เบียร์ไทย โกอินเตอร์ได้ หากผลักดันเป็น Soft Power

สำหรับหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทยวิชิตมองว่าคือ “อาหาร” และ “เครื่องดื่ม” ซึ่งถือเป็น Soft Power ที่สำคัญของไทยและโด่งดังมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่น ส้มตำ ต้มยำกุ้ง ดังนั้นหากนำเบียร์คราฟต์ที่ถือเป็นเครื่องดื่มศิลปะเข้ามาผสมผสานและผลักดันให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ไปทั่วโลกได้ ก็จะช่วยให้นานาประเทศ รับรู้และเข้าถึงเครื่องดื่มชนิดนี้ของไทย และสร้างเม็ดเงินให้เข้าสู่ประเทศไทยได้อีกทาง

คราฟต์เบียร์และสุราพื้นบ้านอาจเริ่มต้นนับหนึ่งยาก หากจะตั้งร้านขายขึ้นมาเดี่ยวๆ แต่ถ้าใช้วิธีส่งไปขายกับร้านอาหารไทยที่มีอยู่แล้วมากมายหลากหลายสาขาทั่วโลก ผู้ประกอบการคราฟต์เองก็ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ และร้านอาหารเองก็จะได้มีเครื่องดื่มไปขายคู่กัน เป็นการยกระดับอาหารไทยและ Soft Power ไทย และตนเองก็อยากทำให้ภาครัฐได้เห็นว่าเครื่องดื่มคราฟต์ท์ไทยก็โด่งดังไปไกลได้ เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยก็เพราะสนใจใน “อาหารไทย” เป็นอันดับต้นๆ

“อาจลองเริ่มทำคราฟต์เบียร์ด้วยการทำเป็นงานอดิเรก ถ้ารักมันจริงๆ ผลตอบรับดี เราค่อยผลักดันเป็นธุรกิจ หากพื้นฐานเริ่มต้นจากความรักแล้วจะสำเร็จ” วิชิต กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทย

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็น Chitbeer หรือคราฟต์เบียร์ไทยอื่นๆ แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ความจริงผู้ที่สนใจในธุรกิจดังกล่าวยังไม่ได้มีเยอะมากถึงขั้นต้องแย่งส่วนแบ่งการตลาดกัน ดังนั้นใครที่มีใจรักและอยากทดลองทำเครื่องดื่มใหม่ๆ นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสายดื่มที่อยากผันตัวมาจับธุรกิจเครื่องดื่มคราฟต์แบบไทยๆ ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว