รู้จัก "Career Cushioning" เทรนด์หางานสำรอง เผื่อตกงานไม่รู้ตัว

รู้จัก "Career Cushioning" เทรนด์หางานสำรอง เผื่อตกงานไม่รู้ตัว

ทำความรู้จัก "Career Cushioning" เทรนด์ใหม่วัยทำงาน ที่มาพร้อมกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่อพนักงานเริ่มหางานสำรอง เพราะกลัวโดนไล่ออกจากงานในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง

แม้ว่าในปัจจุบันตลาดงานยังคงแข็งแกร่งจากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การเลิกจ้างและระงับการจ้างงานเพิ่ม (hiring freeze) กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง Meta เจ้าของโซเชียลมีเดียดังอย่าง Facebook และ Messenger รวมถึง Twitter ที่มีปัญหามาตั้งแต่ “อีลอน มัสก์” เข้าซื้อกิจการ ขณะที่ HP บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศ และ Google บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ก็ได้ปลดพนักงานจำนวนหนี่งเช่นกัน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานบางส่วนเกิดความตื่นหนกเกี่ยวกับความมั่นคงทางหน้าที่การงาน ซึ่งทำให้พนักงานหลายคนเริ่มมองหาแผนสำรอง (Plan B) ไว้สำหรับกรณีที่พวกเขาตกงาน และมองหาโอกาสที่มั่นคง จนเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ของคนวัยทำงานที่เรียกว่า “Career Cushioning

บรีน ฮอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลของ NerdWallet บริษัทบริหารการเงินส่วนบุคคล เปิดเผยกับสำนักข่าว Insider ว่า “ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งถาโถมเข้าใส่กับพนักงาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ รูปแบบการทำงาน สถานการณ์โลก จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนเริ่มวางแผนล่วงหน้า เผื่อพวกเขามีความเสี่ยงที่จะตกงานกะทันหัน

ขณะที่ ชาร์ลอตต์ เดวีส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของ LinkedIn ระบุว่า “การวางแผนสำรองไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อบทบาทการทำงานในปัจจุบัน เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุไม่คาดคิดกับเส้นทางอาชีพของพวกเขาในอนาคต”

พนักงานส่วนใหญ่เสาะแสวงหางานใหม่ที่องค์กรมีความยืดหยุ่นและสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ซึ่งหากพวกเขาได้งานใหม่ตามที่ฝันก็พร้อมจะทิ้งงานเดิม

  • Career Cushioning คืออะไร

แนวคิด “Career Cushioning” มาจาก รูปแบบความสัมพันธ์ของคนในยุคสมัยนี้ ที่เรียกว่า “Cushioning” หรือ “คุยเผื่อเลือก” หากโดนเทจากคนคุยคนแรก ก็กระโจนไปหาคนใหม่ได้อย่างไม่เจ็บปวดมากนัก ในทำนองเดียวกัน เมื่อนำมาใช้กับการทำงาน จะหมายถึงการหางานสำรอง หรือสมัครงานใหม่ทั้ง ๆ ที่ยังทำงานอยู่กับบริษัทเดิม โดยภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นในภาวะที่ไม่มีความแน่นอนทางเศรษฐกิจ

การหางานสำรองไว้ไม่เพียงแต่จะเป็นหลักประกันและสร้างความปลอดภัยให้แก่หน้าที่การงานของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอารมณ์อ่อนไหวหรืออารมณ์ด้านลบจากการถูกเลิกจ้างได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสร้างคอนเน็กชันให้แก่พวกเขา ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งงาน หากพวกเขาบังเอิญตกงาน

เดวีส์ เสริมว่า สำหรับคนจำนวนมากแล้ว Career Cushioning เป็นแบบฝึกหัดช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ และควรฝึกหาทักษะเพิ่มเติมหากมีความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องงาน

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกผิด และมองว่าเป็นการเอาเปรียบนายจ้าง ที่จะหางานใหม่ทั้ง ๆ ที่ยังทำงานรับเงินเดือนจากที่เดิมอยู่ แอบบี มาร์ติน นักกลยุทธ์ด้านอาชีพกล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า จริง ๆ แล้ว เป็นสิ่งที่ลูกจ้างทำได้และไม่ควรรู้สึกผิด แต่เธอเตือนให้พนักงานทำอะไรที่อยู่ภายใต้กรอบศีลธรรม เช่น อาจจะหางานใหม่ในช่วงพักกลางวัน ไม่ให้กระทบกับงานที่ทำอยู่

  • ศาสตร์ของการหางานสำรอง

แคทเธอรีน ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพ สรุปขั้นตอนการวางแผนสำรอง หรือวิธีการเข้าสู่เทรนด์ Career Cushioning ไว้ว่า ขั้นตอนแรกที่จะต้องทำคือ อัปเดต LinkedIn ของคุณ ให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็น “ทรัพย์สินทางวิชาชีพที่สำคัญที่สุดของคุณ” 

ประการที่สอง ทบทวนทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับงานที่คุณกำลังมองหา และขั้นตอนสุดท้าย วางแผนหาเป้าหมายขั้นต่อไปในชีวิตคุณ และหาวิธีที่จะไปให้ถึงจุดนั้น

ขณะที่ ไดแอน กิลเลย์ หุ้นส่วนของ Odgers Berndtson บริษัทจัดหางานด้านเทคนิค กล่าวว่า “คุณยังคงมุ่งมั่นกับงานประจำของคุณ แต่ขณะเดียวกันคุณก็ต้องสนใจถึงสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณ คิดว่าความสนใจของคุณอยู่ที่เรื่องไหน อีกทั้งดูว่าเครือข่ายทางสังคมและประสบการณ์ที่คุณมีจะพาคุณไปยืนอยู่ที่จุดใด”

ส่วน มาร์ติน ให้คำแนะนำที่ไปในทางเดียวกันว่า “การเตรียมแผนสำรอง เป็นเหมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันของคุณ และทำให้ขอบเขตความฝันของคุณขยายออกไปยิ่งขึ้น มันไม่ใช่เรื่องแย่เลย หากคุณจะมีแผนสำรองไว้บ้าง แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำงานกับอีลอนก็ตาม” 

Career Cushioning เป็นสิ่งที่เหมาะสมในยุคที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าคุณกังวลเรื่องการถูกให้ออกจากงาน หรือไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ก็ตาม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องรีบวางแผนในทันที

“คุณควรเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าองค์กรของคุณมีปัญหาทางด้านการเงิน และอาจกำลังวางแผนปลดพนักงาน นี่คือช่วงเวลาที่คุณควรมองหาแผนสำรองให้กับตัวเอง” สุมิต สภาวัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Teamlease HR-Tech บริษัทบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของอินเดีย กล่าว

ไม่ว่าจะมีการปลดพนักงานครั้งใหญ่หรือไม่ แต่มันคงจะดีกว่าถ้าคุณมองหาทางหนีทีไล่ไว้ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา และแน่นอนว่าการหางานเผื่อเอาไว้ต้องทำควบคู่กันไปกับการพัฒนาทักษะของตนเองควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ

 

ที่มา: BloombergBusiness InsiderEntrepreneurFortuneYahoo