เช็คความพร้อม‘ตลาดแรงงาน’เมื่ออินเดียมีประชากรมากสุดในโลก

เช็คความพร้อม‘ตลาดแรงงาน’เมื่ออินเดียมีประชากรมากสุดในโลก

อินเดียมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆว่าจะมีประชากรแซงหน้าจีน และกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก หลังจากจีนรายงานตัวเลขจำนวนประชากรลดลงเป็นครั้งแรกปี 2565 เมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) และการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้  จีนยังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดในรอบไม่ถึง 100 ปี เน้นย้ำถึงความท้าทายที่จีนต้องเผชิญอย่างมาก เนื่องจากแรงงานลดลงและคนเกษียณจากงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอินเดียนั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า Demographic Dividend หรือ การปันผลทางประชากรอาจช่วยหนุนการเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วได้

Demographic Dividend คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นจากโครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลง จากอัตราการเจริญพันธุ์และอัตราการตายสูงไปสู่อัตราการเจริญพันธุ์และอัตราการตายต่ำ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างอายุของประชากรในแต่ละประเทศ

Demographic Dividend จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออายุเฉลี่ยประชากรในวัยทำงานมีเป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงพลังในการทำงานจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยคนวัยแรงงานซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นกำลังหลักในการผลิต

แต่มีความกังวลว่า อินเดียอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด  เนื่องจากอินเดียไม่สามารถสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนหนุ่มสาวหลายล้านคนที่เข้าตลาดแรงงานในแต่ละปีได้
 

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เมื่อปี 2565 ระบุว่า ประชากรวัยทำงานของอินเดียมีมากกว่า 900 ล้านคน และรัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่าในอีก 10ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านคน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า จำนวนคนวัยทำงานอาจกลายเป็นยอดหนี้สินแทน หากว่าผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถสร้างงานในประเทศได้มากพอ

อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรอินเดียที่เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยหางานทำ ส่งผลให้ชาวอินเดียขาดโอกาสและค่าจ้างแรงงานตกต่ำ

ข้อมูลจากธนาคารโลกในปี 2565 ระบุว่า อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานอินเดียอยู่ที่ 46% ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดในเอเชีย และน้อยกว่าอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานในจีนที่ 68% และสหรัฐที่ 61%

ขณะที่แรงงานผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานในอินเดียในปี 2565 น้อยมากคือมีแค่ 19% เท่านั้น ลดลงจากปี 2547 ที่ 26%
 

“จันทรเสกขาร์ ศรีภาดา” ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมองค์กร จากโรงเรียนธุรกิจแห่งอินเดีย (ไอเอสบี) กล่าวว่า “อินเดียกำลังนั่งอยู่บนระเบิด สังคมอาจเกิดความไม่สงบสุข ถ้าประเทศไม่สามารถสร้างงานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ได้”

"มเหศวร วียาส" ประธานคณะเจ้าหน้าที่(ซีอีโอ)ศูนย์ติดตามเศรษฐกิจอินเดียเขียนบนบล็อคเมื่อปีก่อนว่า อินเดียมีประชากรหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก ไม่มีทางขาดแคลนแรงงาน และอินเดียควรคว้าโอกาสนี้ รวมทั้งเงินทุนต่าง ๆ เพื่อหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนว่าอินเดียจะพลาดโอกาสนี้ไป

ทั้งนี้ ปัญหาขาดแคลนการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตว่างงานในอินเดีย โดยศรีภาดา มองว่า อินเดียมีความล้มเหลวเกี่ยวกับระดับการศึกษาอย่างใหญ่หลวงจากผู้กำหนดนโยบาย สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญกับการท่องจำมากกว่าความคิดสร้างสรรค์

ผลการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดการจ้างงาน ทำให้นักศึกษาจบใหม่หลายพันคน รวมถึงผู้ที่จบปริญญาเอก เลิกสมัครงานราชการที่ต่ำต้อย เช่น งานออฟฟิศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 300 ดอลลาร์/เดือน แต่มีข่าวดีว่า ผู้กำหนดนโยบายตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับทักษะความคิดสร้างสรรค์แล้ว

อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลของนโยบายใหม่นี้ ดังนั้น ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานด้านเกษตรกรรม และตระหนักถึงศักยภาพของเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า แรงงานอินเดียมากกว่า 45% ประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรม

รายงานจากสถาบันโกลบอลแมคคินซีย์เมื่อปี 2563 ระบุว่า อินเดียจำเป็นต้องสร้างงานนอกเหนือจากภาคเกษตรกรรมอย่างน้อย 90 ล้านตำแหน่งงาน ภายในปี 2573 เพื่อรองรับแรงงานใหม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า งานเหล่านี้สามารถสร้างได้จากอุตสาหกรรมโรงงานและการก่อสร้าง

ด้านธนาคารโลก ระบุว่า ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างจีนและภูมิภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น อินเดียก็มีความคืนหน้าในการเพิ่มโรงงานโดยการดึงดูดบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ เช่น แอ๊ปเปิ้ล เพื่อเพิ่มการผลิตในประเทศ แต่โรงงานหลายแห่งก็ช่วยหนุนจีดีพีอินเดียได้เพียง 14% และจากตัวเลขคาดการณ์จีดีพีโต 6.8% ในไตรมาสแรกของปี 66 ทำให้อินเดียมองแง่ดีว่า จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก