อวสาน “ลูกจ้าง WFH” ? ส่อเค้าตกงาน เซ่นเศรษฐกิจถดถอย

อวสาน “ลูกจ้าง WFH” ? ส่อเค้าตกงาน เซ่นเศรษฐกิจถดถอย

จุดจบพนักงาน Work From Home ? นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ประเมิน “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน “แล็ปท็อปคลาส” หรือ พนักงานที่ทำงานที่บ้าน และทำให้นายจ้างกลับมาได้เปรียบในตลาดแรงงานสหรัฐอีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์เชื่อ ตำแหน่งงานยังคงมีเพียงพอสำหรับแรงงานทุกคน

การจ้างงานตลาดแรงงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้บริษัทต่าง ๆ แข่งขันกันเพื่อสรรหาพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานกับบริษัทจนทำให้เกิดเทรนด์การทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลาออกครั้งใหญ่ พนักงานบูมเมอร์แรง Quiet Quitting ที่สร้าง “ความได้เปรียบ” ให้แก่เหล่าพนักงาน จนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ กว่า 90% เชื่อว่าในปีนี้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นทั่วโลก ทำให้แม้แต่สหรัฐที่มีตลาดแรงงานแข็งแรง ต้องเผชิญกับการเลิกจ้างและการหยุดจ้างงานอย่างมาก และส่งผลให้พนักงานจำนวนมากต่างตกอยู่ในความกังวลกับการตกงานและพยายามรักษาตำแหน่งงานของตนไว้ให้นานที่สุด

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวกับสำนักข่าว Bloomberg หวั่นเกรงว่าบริษัทในภาคเทคโนโลยีและการเงินจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และจะทำให้พนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน หรือ “แล็ปท็อปคลาส” (Laptop Class) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ เป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเปิดเผยกับสำนักข่าว Fortune ว่า สถานการณ์นี้ทำให้นายจ้างกลับมามีอำนาจเหนือแรงงานมากอีกครั้ง นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนงานจะยากขึ้นและหน้าที่การงานมีโอกาสแขวนอยู่บนเส้นด้ายมากยิ่งขึ้น

  • แล็ปท็อปคลาส ตกที่นั่งลำบาก

แอรอน เทอร์ราซาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเว็บไซต์หางาน Glassdoor เปิดเผยกับ Fortune ว่า เขายังเชื่อว่า ตลาดแรงงานสหรัฐ ส่วนใหญ่จะยังคงแข็งแกร่ง แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจระดับมหาภาคอยู่บ้าง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Disney, PepsiCo ประกาศปลดพนักงาน

แต่ที่หนักสุดคงจะเป็นบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานกันถ้วนหน้า ไล่มาตั้งแต่ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิงรายใหญ่ Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก Meta บริษัทแม่ของ Facebook โซเชียลมีเดียอันดับ 1 ตามมาด้วย Salesforce บริษัทซอฟต์แวร์คลาวด์ Cisco บริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัลข้ามชาติ และ HP บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ก็ประกาศลดทั้งหมดเช่นกัน และที่น่าเป็นห่วงสุดคงจะหนีไม่พ้น Twitter ที่นับตั้งแต่ อีลอน มัสก์ เข้าซื้อบริษัท ก็มีการปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง

จึงทำให้หลายบริษัทต้องการลดพนักงานที่มีศักยภาพสูงลง โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านเป็นหลัก ที่อาจตกที่นั่งลำบาก เพราะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายมากขึ้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องจ้างพนักงานเหล่านี้อีกต่อไป ซึ่งอาจจะปรับสัญญาจ้างทำงานเพิ่มขึ้น 30-90 วันเท่านั้น

รวมไปถึง พนักงานชนชั้นแรงงาน หรือ Blue Collar ที่ถูกเลิกงานไปหลายล้านตำแหน่ง เช่น เหมืองแร่ ธุรกิจบริการ การผลิต และการขนส่ง และยังคงหางานทำไม่ได้ แต่สำหรับพนักงานหน้างาน (Frontline Workers) และแรงงานทักษะสูง (Skilled Trade) ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตาม เทอร์ราซาส ระบุว่า บริษัทที่มองการณ์ไกลจะใช้โอกาสที่บริษัทอื่น ๆ ปลดพนักงานที่มีศักยภาพสูง จากภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ ในการเลือกรับพนักงานเหล่านี้เข้าทำงานแทน แต่เขาเชื่อว่าไม่นานหลังจากนี้ โมเมนตัมจะแกว่งกลับมาหนุนให้แรงงานกลับมามีอำนาจอีกครั้ง จากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการย้ายถิ่นฐานของประชากรที่ช้าลง 

  • ตลาดงานยังไปต่อได้

แม้ว่าบริษัทหลายแห่งต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง แต่ตลาดแรงงานของอเมริกายังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเภทงานที่มีการจ้างเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ งานด้านดูแลสุขภาพ พนักงานของรัฐ พนักงานการบิน และงานบริการและการต้อนรับที่แม้ว่าในอุตสาหกรรมนี้ยังมีการจ้างงานต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดถึง 980,000 ตำแหน่งก็ตาม ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นที่กำลังฟื้นตัว

ริชาร์ด บี ฟรีแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงานจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ระบุว่า “ตลาดงานจะเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ หากมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่านี้และใช้นโยบายทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดแรงงาน เพราะอันที่จริงแล้ว การจะหยุดอัตราเงินเฟ้อได้จะต้องทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจะทำให้คนตกงานและไม่มีเงินในที่สุด แต่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในขณะนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่ปัจจัยแรงงาน ทั้งปัญหาซัพพลายเชน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และสงครามรัสเซีย-ยูเครน”

ในบริบทนั้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่ฟรีแมนคาดการณ์ว่า ตลาดแรงงานจะยังคงมีความยืดหยุ่นและไปต่อได้ เพราะตลาดแรงงานไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายหาวิธีการใหม่สำหรับใช้ในการแก้ปัญหานี้ และเขาไม่คิดว่าการที่สหรัฐและประเทศพันธมิตรให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน จะทำให้เกิดปัญหาภาษี

อดัม แบลนดิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ตั้งข้อสังเกตว่า ต่อให้ตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยในปี 2566 แต่แรงงานก็มีแนวโน้มที่จะรักษาความได้เปรียบในตลาดงานได้ 

“ขณะนี้ ตลาดงานมีตำแหน่งงานว่างมากกว่าแรงงานที่ว่างงานถึง 2 เท่า ซึ่งในปีนี้ตำแหน่งจะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากตำแหน่งที่ว่างเหล่านั้นจะถูกเติมเต็มและตำแหน่งบางส่วนก็จะหายไป จากผลพวงมาตรการของเฟด แต่เนื่องจากนโยบายการเงินดำเนินไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้แรงงานยังมีสถานะเหนือกว่านายจ้างเกือบทั้งปี แม้ว่าการจ้างงานอาจจะลดลงไปบ้างก็ตาม แต่ก็ยังมีงานมากพอที่จะรองรับแรงงาน”

คาริน แวน วูเรน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Greenhouse บริษัทสตาร์ทอัพในนิวยอร์ก เปิดเผยว่า ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจมหภาคจะเป็นอย่างไร บริษัทต่าง ๆ ยังคงต้องแข่งขันกันเพื่อหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้าทำงานในปีนี้อยู่ดี

การลาออกครั้งใหญ่ รวมถึง Quiet Quitting และการรับสมัครงานในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ พิสูจน์ให้เห็นว่าสงครามแย่งชิงพนักงานที่มีศักยภาพได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยผู้ชนะในสงครามนี้คือ “แรงงานที่มีคุณภาพ” ซึ่งยังคงมีอำนาจต่อรองในมือ และพวกเขาจะยังคงเลือกว่าจะทำงานให้กับใครและที่ใด นี่อาจเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกที่เราเห็นว่า ผู้หางานเป็นฝ่ายชนะ”


ที่มา: FortuneMoneywiseYahoo