10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2566

10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2566

สดร.เปิดโผ 10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2566 โบราณดาราศาสตร์ (Archaeoastronomy) ดาราศาสตร์ย้อนรอยโบราณคดี วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทพิมาย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เปิดเผย 10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2566 เรื่องที่ 8 โบราณดาราศาสตร์ ดาราศาสตร์ย้อนรอยโบราณคดี ผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า

โบราณดาราศาสตร์ (Archaeoastronomy) เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์แบบองค์รวม นำความรู้ทางโบราณวิทยา และดาราศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงดาราศาสตร์กับวิถีชีวิตของคนในอดีต “วิถีชีวิต” ในที่นี้รวมทุกสหวิทยาการทั้งความเชื่อ ประเพณี สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ เพื่อศึกษาระบบดาราศาสตร์สมัยโบราณ ทั้งที่เป็น และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร สาขาวิชาที่ศึกษาทางดาราศาสตร์ในสมัยโบราณ อาทิ ดาราศาสตร์โบราณคดี (Astroarchaeology) ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ (History of astronomy) ดาราศาสตร์ชาติพันธุ์ (Ethnoastronomy) เป็นต้น

NARIT โดยกลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์ และมรดกดาราศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยโบราณดาราศาสตร์ เกี่ยวกับการวางทิศของศาสนสถาน และโบราณสถาน ได้แก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทพิมาย พบว่าเชื่อมโยงกับดวงอาทิตย์และกลุ่มดาวต่าง ๆ ดังนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

  • วัดพระธาตุดอยสุเทพ

การวางทิศของ วัดพระธาตุดอยสุเทพ มีความเชื่อมโยงกับปฏิทินพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ กลุ่มดาวมงกุฎเหนือ และวันวิสาขบูชา เชื่อมโยงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ยึดหลักเดียวกันกับการวางทิศของมหาสถูปสาญจีที่ใช้ดาวคันชั่งในการวางทิศ แต่วัดพระธาตุดอยสุเทพจะวางทิศโดยเล็งไปที่ดาวมงกุฎเหนือแทน เนื่องจากดาวมงกุฎเหนือ คือดาวขอบด้ง ถือเป็นดาวประจำวิสาขฤกษ์ของล้านนา

การวางตัวของวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารมีมุมทิศ 59.74° หรือเฉียงจากทิศตะวันออกไปทางเหนือ 30.26° วางทิศตรงกับดาวมงกุฎเหนือขณะขึ้นจากขอบฟ้าพอดีหลังจากดวงอาทิตย์ตก ในปีที่บูรณะพระธาตุประมาณ พ.ศ. 2043 พร้อมทั้งมีการสร้างวิหารในแนวแกนทิศเดียวกันในยุคของพระเมืองเกษเกล้า

  • ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้งวางตัวเฉียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือ 5.4° ทำให้ประตูหน้าตรงกับมุมทิศ 84.6° และประตูหลัง ตรงกับมุมทิศ 264.6°

การวางทิศเป็นการเล็งดาวรวงข้าว หรือดาวจิตรา (Spica) ทางทิศตะวันตก เชื่อมโยงกับวันปีใหม่ของทมิฬ ที่นับวันขึ้นปีใหม่ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 นั่นคือวันที่ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดาวรวงข้าว และเมื่อดวงอาทิตย์มาอยู่ตรงข้ามกับดาวรวงข้าว ถือเป็นวันนับศกใหม่ตามปฏิทินมหาศักราชและจุลศักราช เรียกว่า วันเถลิงศกสงกรานต์ เป็นวันปีใหม่ทางสุริยคติ

งานวิจัยพบว่าเหตุการณ์นี้ตรงกับช่วงเวลาประมาณ ค.ศ. 760-850 (ราว พุทธศตวรรษที่ 14) สอดคล้องกับการกำหนดอายุใน “จารึกปราสาทพนมรุ้ง 1” และสอดคล้องกับการจัดพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย (พิธีโล้ชิงช้า) เพื่อบูชาพระศิวะเป็นเทพสูงสุด แบบพราหมณ์ในเมืองพาราณสีที่จัดเฉลิมฉลองในช่วงเดือน 5 จิตรามาส รวมไปถึงในจารึกสด๊กก๊อกธมที่สันนิษฐานว่า ปราสาทพนมรุ้งถูกสร้างโดยโยคีคนสำคัญในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 2

  • ปราสาทพิมาย

จากการศึกษาซึ่งยึดแนวอาคารปัจจุบัน พบว่าปราสาทพิมายวางตัวเฉียงจากทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือ 20.5° ทำให้ประตูปราสาทมีมุมทิศ เท่ากับ 69.5° มีการวางทิศโดยเล็งไปยังกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) ขณะขึ้นจากขอบฟ้าหลังจากดวงอาทิตย์ตก ในช่วงราวปี ค.ศ. 1010-1150

ตามบันทึกของทูตโจวต้ากวานระบุว่า วันขึ้นปีใหม่ของเขมรตรงกับวันเพ็ญเดือนกัตติก (ปัจจุบัน เรียกว่า วันลอยกระทง) ถือเป็นวันสิ้นปีนักษัตรและวันถัดไปจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ วันนี้สังเกตได้จากเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ใกล้กับกระจุกดาวลูกไก่ทางทิศตะวันออกพอดี จากหลักฐานในจารึกพิมาย 2 ระบุว่า ปฏิทินที่ใช้ในช่วงเวลานั้น ระบบปีเป็นชื่อปีนักษัตร โดยของพิมายเป็นมะเส็งนักษัตร (ของจีนจะเป็นปีชวด) สอดคล้องกับปฏิทินที่พบใช้ในนครศรีธรรมราช จึงเชื่อว่าปราสาทพิมายถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

การศึกษาโบราณดาราศาสตร์ นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะนำมาช่วยในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ โดยใช้ความรู้ทาง "ดาราศาสตร์" ในการระบุอายุของศาสนสถานและสอบเทียบวันเดือนปีในจารึกต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยมีการสอบเทียบวันเดือนปีในปฏิทินสากลได้ สามารถจำแนกความเชื่อ การเผยแผ่ศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธ์ุ ผ่านคัมภีร์ที่ใช้ในคำนวณปฏิทินและการวางผังของศาสนสถาน โบราณสถาน และการวางผังเมืองโบราณที่สำคัญ งานวิจัยดังกล่าวเป็นถือเป็นการนำร่อง และนับเป็นงานวิจัยรุ่นบุกเบิกที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาทุกศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้องของชาติในอนาคต

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้การวิจัยแบบสหวิทยาการ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ เนื่องด้วยเป็นงานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้อย่างกลมกลืน ชัดเจนและเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังให้ได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในการ สืบทอดและรักษาไว้ซึ่งศาสนสถานและโบราณสถานของชาติสืบไป