“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

ทำความรู้จัก 2 สนามกีฬาหลักของไทย “ราชมังคลากีฬาสถาน” และ “สนามศุภชลาศัย” สถานที่ใช้แข่งขันกีฬาระดับชาติมากมาย และในระยะหลังใช้เป็นสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก ดังเช่นในวันที่ 7-8 ม.ค. จะใช้เป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัล “Golden Disc Awards” และคอนเสิร์ต “BLACKPINK” ตามลำดับ

ตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว จนสามารถให้จัดคอนเสิร์ตได้ ซึ่งนอกจากศิลปินไทยจะพร้อมใจกันประกาศจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีเป็นจำนวนมาก หลังจากอัดอั้นมาหลายปีแล้ว ประเทศไทยยังกลายเป็นจุดมุ่งหมายของศิลปินจากทั่วโลกที่แวะเวียนมาจัดทั้งแฟนมีตติ้งและคอนเสิร์ตระเบิดความมันส์ให้แฟนได้หายคิดถึง จนเรียกได้ว่าประเทศไทยมีการจัดคอนเสิร์ตแทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว แถมบางสัปดาห์ยังไม่ได้มีเพียงแค่คอนเสิร์ตอีกด้วย สมกับที่ชาวเน็ตขนานนามว่า “กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต

ในปี 2566 น่าจะมีคอนเสิร์ตใหญ่จากหลายศิลปินมาให้ซื้อบัตรชมกันอย่างจุใจเช่นเคย เริ่มต้นด้วยสัปดาห์แรกของปีก็ร้อนระอุไม่เกรงใจอากาศเย็นสบายกันเลยทีเดียว เพราะศิลปิน K-POP ตัวท็อปเกือบร้อยชีวิตมาอยู่ในกรุงเทพพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น 4 สาว “BLACKPINK” เกิร์ลกรุ๊ปแห่งยุค ที่กลับมาหาบลิ้งค์ชาวไทยเป็นครั้งที่ 3 กับคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] คอนเสิร์ตเอเชียทัวร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปในวงการ K-POP ที่จะจัดขึ้นถึง 2 รอบในวันที่ 7-8 ม.ค. 2566 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ หรือ สนามศุภชลาศัย

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

ขณะที่อีกงานหนึ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างมากและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย อย่าง 37th Golden Disc Awards งานประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของวงการ K-POP ที่มีผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงตบเท้ามาร่วมงานและโชว์การแสดงสุดพิเศษเกือบ 20 ศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นเหล่าเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ของเจน 4 ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม และมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลใหญ่ของงาน ทั้ง “LE SSERAFIM” “NewJeans” และ “IVE” ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่สมาชิกวง IVE ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงทำให้มีสมาชิกมาร่วมงานในครั้งนี้เพียง 3 คนเท่านั้น ส่วนตัวตึงของเจน 4 อย่าง “(G)-DLE” ก็ไม่พลาดที่จะมาร่วมงานด้วยเช่นกัน

ด้านศิลปินบอยแบนด์ก็ไม่น้อยหน้า ขนกันมาครบทุกค่าย ทั้ง “SEVENTEEN” “ENHYPEN” “TREASURE” “Stray Kids” รวมถึงศิลปินตัวท็อปของวงการอย่าง “PSY” เจ้าของเพลงฮิต “Gangnam Style” และ "J-HOPE” หนึ่งในสมาชิกของวงบอยแบนด์อันดับ 1 ของโลก “BTS” ก็มาร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายชื่อศิลปินที่เข้าร่วมงานเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้เหล่านักแสดงและศิลปินมารับหน้าที่เป็นพิธีกรในงานไม่ว่าจะเป็น “นิชคุณ หรเวชกุล” “อี ดาแฮ” “ซัง ชีคยอง” และ “พัค โซดัม” พร้อมการปรากฏตัวภายในงานของ “จุนโฮ 2PM” และ “ซง จุงกิ” อีกด้วย โดยงานนี้จัดขึ้นที่ราชมังคลากีฬาสถาน ในวันที่ 7 ม.ค. 2566

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

จะเห็นได้ว่าหากประเทศไทยมีจัดคอนเสิร์ตในสเกลขนาดใหญ่ นอกจากจะจัดที่อิมแพ็ค อารีน่า ซึ่งเป็นสถานที่สร้างสำหรับเพื่อจัดคอนเสิร์ตโดยเฉพาะแล้ว ประเทศไทยก็มีเพียงสนามกีฬาขนาดใหญ่อย่าง “ราชมังคลากีฬาสถาน” และ “สนามศุภชลาศัย” เท่านั้นที่จะสามารถรองรับผู้ชมจำนวนมากได้

กรุงเทพธุรกิจ พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสนามกีฬาหลักทั้ง 2 ของไทยว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ตลอดจนสามารถเดินทางไปได้อย่างไร

  • ราชมังคลากีฬาสถาน

ราชมังคลากีฬาสถาน” เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นสนามหลักภายในสนามกีฬาหัวหมาก ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เมื่อปี 2531

ปัจจุบัน ราชมังคลากีฬาสถาน ยังใช้เป็นสนามเหย้าของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย โดยใช้สำหรับจัดแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดและพิธีปิดในการแข่งขันกีฬาระดับชาติและภูมิภาค อาทิ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13, กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 32, การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงอายุไม่เกิน 20 ปี 2004, เอเชียนคัพ ครั้งที่ 14, การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24, เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014, ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 44, ฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2020

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

สำหรับการเปิดใช้สนามครั้งแรกนั้นใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2541 และหลังจากนั้นมีการปรับปรุงต่อเติมที่ทำการสมาคมกีฬา ห้องประชุม ตลอดจนสำนักงานฝ่ายต่าง ๆ ของ กกท.โดยรอบใต้ถุนอัฒจันทร์ ทำให้ยอดงบประมาณการก่อสร้างสนามแห่งนี้ รวมทั้งสิ้น 1,255,569,337 บาท จากนั้นมีการปรับปรุงเพื่อความสวยงามและให้ได้มาตรฐานเรื่อยมา โดยมีการปรับปรุงพื้นสนามหญ้าให้ได้มาตรฐานเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการแข่งขัน ฟุตบอลกระชับมิตร THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ระหว่าง สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ สโมสรลิเวอร์พูล

นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับจัดการแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้ง มีจำนวนที่นั่งบนอัฒจันทร์ทั้งหมด 51,522 ที่นั่ง โดยที่ผ่านมาใช้จัดคอนเสิร์ตของศิลปินระดับตำนานของไทยหลายคน เช่น คาราบาว และ อัสนี วสันต์ ส่วนศิลปินระดับโลกที่เคยมาจัดคอนเสิร์ตที่นี่ก็มีด้วยกันหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Lady Gaga, One Direction (ก่อนที่ Zayn จะออกจากวง) Ed Sheeran, BTS, GOT7 รวมถึง Maroon 5 ที่พึ่งมาเล่นคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา และคอนเสิร์ตของ Harry Style ก็กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่ในวันที่ 11 มี.ค. ที่จะถึงนี้

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

ส่วนข้อเสียเปรียบที่สำคัญที่สุดของราชมังคลากีฬาสถาน คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเดินทาง ที่ไม่สะดวกสบายเท่าไรนัก เพราะไม่มีที่จอดรถ ต้องไปจอดสถานที่ใกล้เคียงเช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มีสถานที่จอดรถจำกัด หรือไม่ก็ต้องไปจอดตามห้างสรรพสินค้าโดยรอบ ซึ่งห่างออกไปอย่างน้อยหลายกิโลเมตร

ขณะที่ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็ยังมาไม่ถึง ใกล้ที่สุดคือแอร์พอร์ตลิงค์สถานีหัวหมาก หรือ รามคำแหง ส่วนเรือด่วนคลองแสนแสบก็ต้องลงที่ท่าเรือมหาดไทย หรือท่าเรือมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วเดินหรือนั่งวินมอเตอร์ไซค์ต่อไป 

รถเมล์เป็นเพียงระบบขนส่งมวลชนเดียวที่สามารถเดินทางไปถึงราชมังคลากีฬาสถานได้เพียงต่อเดียว โดยสายที่ผ่านที่นี่ประกอบไปด้วย 22, 36ก, 40, 60, 71, 92, 93, 113, 115, 122, 126, 137, 168, 182, 207, 501 นอกจากนี้ยังมีรถตู้โดยสารบางสายให้บริการด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เวลาเลิกคอนเสิร์ตผู้คนต่างต้องเดินกันหลายกิโลเมตรเพื่อเดินไปหารถแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ในการเดินทางกลับบ้าน

 

  • สนามศุภชลาศัย

สนามศุภชลาศัย เป็นสนามกีฬาหลักของกรีฑาสถานแห่งชาติ มีลู่วิ่งสังเคราะห์สำหรับจัดการแข่งขันกรีฑา ใช้ในการแข่งขันกีฬานัดสำคัญ มีหลังคา 1 ด้าน พร้อมทั้งอัฒจันทร์โดยรอบ ปัจจุบันมีความจุผู้ชมรวม 19,793 ที่นั่ง มีชื่อเดิมว่า “สนามกรีฑาสถาน” อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดใช้ครั้งแรกในปี 2481 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี 2481 ซึ่งย้ายสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง

ต่อมาในปี 2484 กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “สนามศุภชลาศัย” ตามชื่อของ “หลวงศุภชลาศัย” ผู้จัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ และได้ใช้เป็นสถานที่แข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ กีฬาซีเกมส์ การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ไทยลีกคัพ ไทยเอฟเอคัพ ตลอดจน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ และ ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี อีกด้วย

สำหรับการจัดงานคอนเสิร์ต นอกจาก BLACKPINK แล้ว “ไมเคิล แจ็คสัน” ราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับ ยังเคยมาจัดคอนเสิร์ตที่สนามศุภชลาศัยเมื่อวันที่ 24 และ 27 สิงหาคม 2536 ในคอนเสิร์ต Dangerous World Tour

ในปี 2551 มีการปรับปรุงบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติครั้งใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการเปิดใช้ ซึ่งประกอบด้วย ส่วนหน้าปะรำที่ประทับ ในสนามศุภชลาศัย ประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง หน้ามุขทางขึ้น ตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่สหราชอาณาจักร ปลูกต้นไม้รอบบริเวณสนาม ติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ทั้งหมด และปรับพื้นสนามหญ้าใหม่ 

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย

ส่วนสนามเทพหัสดิน อาคารกีฬานิมิบุตร และ อาคารจันทนยิ่งยง มีการปรับปรุงตกแต่ง ทาสี ติดตั้งเก้าอี้ ทำพื้นสนามหญ้า ตลอดจนปรับปรุงพื้นถนนภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติทั้งหมด

ด้วยที่ตั้งของสนามศุภชลาศัยนั้น ถือว่าอยู่ใจกลางของกรุงเทพฯ ทำให้สัญจรไปมาได้สะดวก สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติได้เลย หรือสามารถรถเมล์สาย 48, 508, 73, 73ก, 204, 15, 47, 11 ก็ลงหน้าสนามได้ทันที ส่วนวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ก็สามารถเรียกใช้บริการได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ภายในกรีฑาสถานแห่งชาตินั้นมีพื้นที่จอดรถจำนวนจำกัด แต่สามารถจอดที่บริเวณห้างสรรพสินค้าหรือคอมมูนิตี้ มอลล์ บริเวณโดยรอบได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม (ข้อมูลวันที่ 5 ม.ค. 2566)

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี

“ราชมังคลากีฬาสถาน” VS “ศุภชลาศัย” เทียบความอลัง 2 สนามกีฬาไทย