‘PINK VENOM’ กระหึ่มโซเชียล ซอฟต์พาวเวอร์ทรงพลัง จาก ‘BLACKPINK’
รวมกระแสโซเชียลสุดปังของ ‘BLACKPINK’ กับเพลงใหม่ ‘PINK VEMOM’ ฐานแฟน "Blink" มีส่วนร่วม พูดถึงอย่างไร แล้วแบรนด์สินค้าไหน ที่ทำคอนเทนท์เกาะเทรนด์ โกยเอ็นเกจเมนต์ และยอดขายบ้าง "ไวซ์ไซท์" ฟังเสียงผู้บริโภค เก็บสถิติมาแชร์
เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย เมื่อ “ลิซ่า” ศิลปิน K-Pop หนึ่งในสมาชิกวง “BLACKPINK” สร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปินเดี่ยวคนแรกที่คว้ารางวัล Best K-Pop Artist จากเวที 2022 MTV VMAs หลังปล่อยซิงเกิ้ล “LALISA” ออกมาให้แฟนคลับทั่วโลกได้ฟัง
นอกจากปล่อยซิงเกิล LALISA ออกมาแล้ว ปีนี้ “ลิซ่า” ยังสร้างความปังต่อเนื่อง เพราะ “BLACKPINK” ได้คัมแบ็กในรอบ 2 ปี พร้อมกับปล่อยเพลง PINK VEMOM จากอัลบั้มล่าสุดอย่าง Born Pink ซึ่งผลลัพธ์ความปังไม่ต้องพูดถึง เพราะโกยยอดวิวถล่มทลายบนแพลตฟอร์มยูทูบ
ยิ่งกว่านั้น กระแส PINK VEMOM ในไทยยังเห็นแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ ให้ความสนใจทำการตลาดเพิ่มอิงเทรนด์ดังกล่าวแบบทันท่วงที (Real Time Marketing)
Soft Power ของ 4 สาว BLACKPINK และเพลง PINK VEMOM ทรงพลังแค่ไหนบนสื่อสังคมออนไลน์ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม 2565 พบกระแสและปรากฏการณ์มากมายเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการขึ้นแท่น MV ที่มียอดวิวสูงสุดประจำปี 2022 บน YouTube มียอดการเข้าชมทั้งหมด 90.4 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมงแรก
นอกจากนี้ เหล่า ‘Blink’ แบรนด์สินค้ามีการพูดถึง Pink Venom ทั้งหมด 68,141 ข้อความ จากเกือบ 14,000 บัญชี (แอคเคาท์) แบ่งเป็นคนทั่วไป 72.6% และแบรนด์ 27.4% กวาดเอ็นเกจเมนต์รวมทั้งสิ้น 15,690,893 เอ็นเกจเมนต์ ใน 1 สัปดาห์ของการเก็บข้อมูล
เมื่อเปรียบเทียบการพูดถึงเพลง PINK VEMOM ก่อนวันปล่อยเพลง วันที่ 18 สิงหาคม 2565 และในวันที่ปล่อยเพลง 19 สิงหาคม 2565 พบว่า จำนวนการพูดถึงเพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยหลังจากปล่อยเพลง ข้อความส่วนมากจะถูกพูดถึงอยู่บน Twitter ก่อนแพลตฟอร์มอื่นๆ คิดเป็น 49.1% จากนั้นถูกนำมาพูดถึงใน Facebook คิดเป็น 45.1% และช่องทางอื่นๆ
ทั้งนี้ สัดส่วนของการพูดถึง มาจากเพศหญิง 76.09% และเพศชาย 23.91% ส่วนช่วงอายุที่มีการพูดถึงสูงสุดยังคงเป็น 18-24 ปี สัดส่วน 54.64% ซึ่งเป็นกลุ่มช่วงอายุที่ใช้ Twitter ในการสื่อสารหลักบนโซเชียลนั่นเอง
สถิติมีไว้ทำลาย เพราะยังมี 3 ประเด็นที่น่าสนใจจากการปล่อยเพลง PINK VEMOM ดังนี้
1. กระแสเจนนี่ BLACKPINK ใส่เสื้อทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แม้เจนนี่จะใส่เสื้อออกมาเพียงไม่กี่วินาที แต่สร้างปรากฎการณ์ให้เสื้อยืด Manchester United Teamgeist Jersey ขายหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว หลายคนตั้งคำถามว่าสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดต้องการตีตลาดในเอเชีย หรือแท้จริงแล้ววง BLACKPINK เองก็ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในกลุ่มแฟนๆ ที่ติดตามกีฬาหรือไม่ ถือเป็นการ “กระโดดข้าม” (Crossover ) ของ 2 วงการ อย่าง “K-Pop” และ “กีฬา” ได้อย่างลงตัว เพราะทำให้เพจแฟนแมนยู หรือเพจอัปเดตฟุตบอลออกมาพูดถึง BLACKPINK กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากลยุทธ์นี้ win-win ทั้ง 2 วงการเลยทีเดียว
2. การเกาะกระแสแบบเรียลไทม์ของแบรนด์ในประเทศไทย แบรนด์ต่างๆ บนโซเชียลล้วนกระโดดเข้ามาจับกระแสเพลง Pink Venom แทบจะทันทีที่เพลงถูกปล่อยออกมา เมื่อดูสถิติจากเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในหมวด Categories พบว่า 3 อันดับธุรกิจที่มีการพูดถึงเพลงนี้มากที่สุด คือ 1. ธุรกิจค้าปลีก อาทิ อีคอร์มเมิร์ซและห้างสรรพสินค้า 2. ธุรกิจสื่อและบันเทิง 3. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ หลายแบรนด์จับกระแสด้วยประโยค ‘ถ้าเพลงใหม่ #Blackpink ถึง xxx ล้านวิวจะ…’ เพื่อแจกรางวัลหรือโปรโมชั่นเรียกยอดไลค์ แชร์ คอมเมนต์ จากลูกเพจและแฟนคลับ BLACKPINK โดย 3 อันดับแบรนด์ที่โพสต์และได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด ได้แก่
-นันยาง กับการประกาศผลิตช้างดาวสีชมพู-ดำ หากเพลง Pink Venom มียอดเข้าชม 80 ล้านใน 1 วัน โพสต์นี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวโซเชียลโดยมีหลายคนรอให้สินค้าผลิตและวางจำหน่ายโดยเร็วที่สุด ไปจนถึงแนะนำดีไซน์ ขนาด รูปแบบรองเท้า และวัสดุที่นำมาผลิตตามที่ตนต้องการ แค่โพสต์นี้เพียงโพสต์เดียวสามารถกวาดไปมากกว่า 100,000 เอ็นเกจเมนต์
-แอดไวซ์ กับการแจกคอมเซ็ต พร้อม Gaming Gear สีดำ-ชมพู หาก BLACKPINK มียอดเข้าชมเกิน 100 ล้านใน 48 ชั่วโมง โพสต์นี้กวาดไปมากกว่า 80,000 เอ็นเกจเมนต์ และมีลูกเพจ รวมถึง คนที่ไม่ได้เป็นผู้ติดตามเพจฯ เอง เข้ามาคอมเมนต์ว่า ‘รอ’ เป็นจำนวนมาก
-โคเรียดอง ร้านอาหารเกาหลีดองชื่อดังก็ไม่น้อยหน้า ปล่อยโปรโมชั่นลดราคา หากจำนวนการเข้าชมถึง 100 ล้านภายใน 48 ชั่วโมง คอมเมนต์ภายใต้โพสต์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ‘รอ’ และ ‘99 สาธุ’ เป็นเคล็ด เพราะจำกัดเพียงแค่ 1,200 สิทธิ์เท่านั้น
สถิติกล่าว เป็นสิ่งที่ “แบรนด์สินค้า” ต้องหมั่นจับตามอง เพื่อให้ไม่ตกขบวน สามารถทำตลาดให้แบรนด์อยู่ในใจกลุ่มเป้าหมาย(Top o f Mind) อย่างต่อเนื่อง ที่ขาดไม่ได้คือการ “ฟังเสียงผู้บริโภค” ให้มาก เพราะทุกครั้งที่ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม ปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ถือเป็นการ “สำรวจตลาด” หยั่งความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
สุดท้าย สิ่งเหล่านั้น นำไปสู่การ “สร้างยอดขาย” มหาศาล ในเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ลงทุนไม่มาก เพราะทุกการโพสต์คอนเทนท์ สื่อสารกับ “ฐานลูกค้า” ด้วยการเกาะกระแสความดัง ปังของบางเรื่องราว ยังโกยมูลค่าโฆษณาผ่านสื่อแบบฟรีๆ (Earn Media) โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อโฆษณาเพื่อเข้าถึงคนหมู่มากด้วย
ตัวอย่าง "นันยาง" เมื่อยอดวิวเพลง PINK VENOM ทะลุเป้า ก็ทำตามสัญญา โดยเปิดให้แฟนๆ "สั่งซื้อสินค้า" เป็นการเปิดรับพรีออเดอร์ สั่งก่อนแล้วผลิตตามจำนวนความต้องการ ไม่ต้อง "สต็อก" สินค้า แล้วลุ้นว่ารุ่นที่ออกมาจะขายได้ ขายหมดในระยะเวลาเท่าไหร่ เป็นการคำนวณต้นทุน ยอดขาย ปริมาณการผลิตได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
การเกาะกระแส PINK VENOM ยังทำให้ "นันยาง" สร้างสรรค์สินค้าใหม่ "ชมพูดำ" ออกสู่ตลาด สร้างความแตกต่างจากตลอดเวลาหลายทศวรรษ ที่บริษัทจำหน่ายรองเท้าแตะช้างดาวมานับ "ร้อยล้านคู่" ล้วนเป็นรุ่นที่มีสีพื้นฐาน 2-3 สีเท่านั้น
ขึ้นชื่อว่าแบรนด์ ทุ่มเททำการตลาดแล้ว ไม่ได้ยอดขาย ได้แค่สร้างการรับรู้แบรนด์ ขึ้นเทรนด์ คงไม่เพียงพอ ต้องทำเงินสร้างการเติบโตของรายได้ด้วย