ทำไมช่วงสิ้นปีกระตุ้น “ภาวะโหยหาอดีต” บรรยากาศพาไป หรือคิดถึงอะไรกันแน่?

ทำไมช่วงสิ้นปีกระตุ้น “ภาวะโหยหาอดีต” บรรยากาศพาไป หรือคิดถึงอะไรกันแน่?

เชื่อว่าหลายคนกำลังเฝ้ารอ “วันขึ้นปีใหม่” เพื่อเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ แต่บางคนมักจะมองย้อนไปในอดีตในช่วงเวลาสิ้นปี ไม่ใช่แค่คิดถึง แต่อยู่ใน “ภาวะโหยหาอดีต” จนอยากย้อนเวลากลับไปแม้จะทำ ไม่ได้ก็ตาม

“...ไม่เคยรู้เวลาที่เรามีกันนั้นดีเท่าไร ไม่เคยรู้ว่าความคิดถึงมันทรมานแค่ไหน ไม่เคย ไม่เคย ไม่เคย…”

ท่อนเพลงติดหูจากเพลง ไม่เคย ของวง 25hours ที่ปล่อยมาพร้อมเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความรู้สึก คิดถึง โหยหา เจ็บปวด ผิดหวัง รวมถึงอารมณ์โกรธ ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างเหงาๆ เมื่อช่วงกลางปี 2558 กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่บ่งบอกถึงความคิดถึงที่สะท้อน ภาวะโหยหาอดีต ได้สวยงามที่สุดเพลงหนึ่ง และเพลงนี้ก็วนเวียนกลับมาให้เราได้คิดทบทวนตัวเองและย้อนมองกลับไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า ชีวิตเราอาจทำใครบางคนหล่นหายไประหว่างทาง แต่ภายในใจเรายังคงคิดถึงพวกเขาอยู่เสมอโดยเฉพาะในช่วงเวลาสิ้นปี

แท้จริงแล้ว “ภาวะโหยหาอดีต” หรือ Nostalgia เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีคำอธิบายเชิงจิตวิทยาเอาไว้ว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องเกิดกับคนสูงอายุหรือคนที่สูญเสียคนสำคัญเสมอไป

ภาวะโหยหาอดีตนั้นเริ่มมีการศึกษาทางจิตวิทยาเมื่อปลายศตวรรษที่ 17 หลังมีเหตุการณ์ที่ทหารรับจ้างกลุ่มหนึ่งมีอาการป่วยที่แสนประหลาด คือ เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ อาหารไม่ย่อย และมีไข้ขึ้นสูง ซึ่งไม่ได้เกิดจากอาการป่วยด้วยโรคทางกาย แต่เป็นปมมาจากสภาวะจิตใจที่ “โหยหาอดีต” คิดถึงบ้านเกิด หรือคนสำคัญ คิดถึงความสงบสุขก่อนช่วงสงคราม ต่อมาเริ่มมีความเข้าใจเชิงจิตวิทยาว่า ความคิดถึงทำร้ายเรา เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยอาการดังกล่าวเทียบเคียงได้กับ “โรคซึมเศร้า”

ดังนั้นการที่เราคิดถึงใครหรือช่วงเวลาใดในชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องผิดหรือเป็นเรื่องที่แย่เสียทีเดียว หากเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับความคิดถึงกับชีวิตปัจจุบันได้อย่างมีความสุข เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครสามารถย้อนเวลากลับไปได้

  • ทำความเข้าใจ “ภาวะโหยหาอดีต” ไม่ได้ทำร้ายเราเสียทีเดียว

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันสักนิดว่า “ภาวะโหยหาอดีต” นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความคิดถึง” ซึ่งเป็นหนึ่งในอารมณ์ของมนุษย์ทั่วไป ส่งผลทั้งทางบวกและทางลบ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจากความผูกพันที่เรามีต่อทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งผู้คน สถานที่ หรือสิ่งของ มีการศึกษาเรื่องความคิดถึงอย่างจริงจังเมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่เป็นการศึกษาในเชิงผลเสียของมัน หลังจากนั้นในทางจิตวิทยาคลินิกได้นิยามความคิดถึงไว้ว่า “Nostalgia” โดยมีรากศัพท์จากภาษากรีก คำว่า “nosto” ที่แปลว่า การกลับบ้าน กับคำว่า “algos” ที่แปลว่า ความเจ็บปวด

สำหรับผลเสียของความคิดถึงที่เป็นเชิงลบ ได้แก่ นอนไม่หลับ, ความวิตกกังวล และ ความผิดหวัง ทำให้นักจิตวิทยาหลายคนลงความเห็นว่า “Nostalgia” เข่าข่ายเป็นโรคประเภทหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ความคิดถึง” หรือ “ภาวะโหยหาอดีต” ไม่ได้มีแค่ผลเสียเพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งความคิดถึงก็ส่งผลบวกทางจิตใจ เพราะเมื่อเรานึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต จะส่งผลให้เกิดรู้สึกถึงความอบอุ่นไปกับช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงมองเห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตในแง่ดีมากขึ้น ช่วยให้เราไม่ต้องจมอยู่กับเรื่องแย่ๆ ในอดีตเพียงอย่างเดียว

  • เพราะเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง จึงทำให้เราโหยหาอดีต ?

สำหรับใครหลายคน “ความคิดถึง” มักจะขยันทำงานในช่วงเทศกาลมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการได้รวมตัวกับครอบครัวและเพื่อนฝูงอีกครั้ง เช่น เทศกาลสงกรานต์ หรือช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงไม่แปลกที่เมื่อถึงวันหยุดยาวหลายคนเลือกที่จะเดินกลับบ้านต่างจังหวัด แม้จะต้องเผชิญกับการจราจรที่ติดขัดแสนสาหัส หรือค่าโดยสารต่างๆ ที่พร้อมใจกันขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดในช่วงเทศกาล เพราะไม่ว่าปัจจุบันเราจะเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน แต่เมื่อกลับบ้านไปเราก็คือคนสำคัญเสมอ

ดังนั้นเมื่อใกล้ช่วงเทศกาลหลายคนจึงมักเริ่มมีภาวะโหยหาอดีต คิดถึงความสุขเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ได้กินข้าวพร้อมหน้า ได้เล่นเกม หรือจับของขวัญในวันปีใหม่ และเป็นความทรงจำที่เมื่อมองย้อนกลับไปทีไรก็ยังจะเต็มไปด้วยความสุขมากกว่าความเศร้า

  • เมื่อ “ความคิดถึง” กลายเป็นส่วนประกอบหลักของสื่อ

ที่ผ่านมามีศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ที่มักหยิบเอา ความคิดถึง และ ความเหงา มาเป็นส่วนประกอบหลักของเพลงและมิวสิกวิดีโอ เนื่องจากเป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์และช่วยให้เข้าถึงผู้ฟังง่ายขึ้น และมีหลายเพลงที่แม้จะผ่านมาหลายปีแต่เมื่อใกล้ช่วงสิ้นปีก็มักถูกนำมาเปิดตามสถานที่ต่างๆ ทุกปี ยกตัวอย่างเช่น

1. เพลง ไม่เคย จากวง 25hours

เป็นเพลงที่ถ่ายทอดภาวะโหยหาอดีตออกมาได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งในเนื้อเพลงและมิวสิกวิดีโอ โดยเพจ คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ในนำประเด็นของความคิดถึงจากเพลงมาอธิบายว่า นอกจากเรื่องของความรักที่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดถึงแล้ว ความตาย ก็สำคัญเช่นเดียวกันโดยอาจจะคิดถึงคนที่เลิกรากันด้วยความเต็มใจ หรือคิดถึงคนที่จากลากันตลอดไปแบบไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งในทางจิตวิทยาอธิบายไว้ว่าเมื่อคนเราเกิดความสูญเสียก็จะเกิดการปรับตัวตาม "ทฤษฎีการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสีย" หรือ The 5 Stages of Grieving ซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียงลำดับไม่เหมือนกัน ได้แก่

  • ไม่เชื่อ หรือ ตกใจ รู้สึกมึนงง อาจใช้เวลาทำความเข้าใจเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไปจนถึงไม่กี่วัน
  • โกรธแค้น หรือ รู้สึกผิด บางคนมองความสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์โกรธ ตามมาด้วยความรู้สึกผิด โดยความรู้สึกนี้จะค้างอยู่ในใจประมาณ 2 สัปดาห์
  • ต่อรอง เป็นระยะที่มนุษย์อยากต่อรองกับความตายและความสูญเสีย อยากจะขอเลื่อนเวลาออกไปก่อน แม้จะรู้ว่าความจริงเป็นไปไม่ได้
  • ซึมเศร้า เป็นระยะที่จิตใจไม่มีเรี่ยวแรง แยกตัวจากสังคม พูดน้อยลง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ระยะนี้อาจใช้เวลานานประมาณ 4-6 สัปดาห์ หากผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็จะเข้าใจและทำใจต่อการสูญเสียได้ดีขึ้น
  • ยอมรับ หลังจากกลไกทางความรู้สึกในสมองเราได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ข้างต้นมาแล้ว สุดท้ายเราจะสามารถยอมรับการจากลาได้ในที่สุด

2. เพลง ซ่อนกลิ่น จาก PALMY 

เป็นเพลงที่ปล่อยมาในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่มีกระแสตอบรับดีทั้งเพลงและมิวสิกวิดีโอ โดยเนื้อหาในเพลงเล่าถึงการที่คนเรามักเก็บซ่อนใครบางคนจากอดีตเอาไว้ในใจ แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่เคยลืมได้เสียที

สำหรับการนำเสนอผ่านมิวสิกวิดีโอนั้นเป็นเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนเก่าสมัยมหาวิทยาที่นัดปาร์ตี้เคานต์ดาวน์ปีใหม่กัน โดยที่มีหนุ่มสาวสองคนที่เคยคบกันสมัยเป็นนิสิตได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง แม้ว่านางเอกอยากจะทักทายพูดคุยกับพระเอกแต่ก็ไม่กล้าพอ ในขณะที่พระเอกเองพยายามที่จะเข้าหานางเอกแล้ว แต่ก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม พอทั้งคู่มาเจอกันก็ต่างคิดถึงวันเก่าๆ ในอดีต เหมือนกับเนื้อเพลงในท่อนฮุกที่ร้องว่า

“คงไว้ได้แค่กลิ่น ที่ไม่เคยเลือนลา ยังหอมดังวันเก่า ยามเมื่อลมโชยมา ทิ้งไว้เพียงอดีต ที่ไม่เคยหวนมา ซ่อนเธอไว้ในใจ”

  • อยู่กับ “ความคิดถึง” อย่างไรไม่ให้ถูกทำร้าย ?

สำหรับใครบางคนที่ยังคิดถึงเรื่องราวหรือบุคคลในอดีตแบบปล่อยวางไม่ได้ ทำให้ภาวะโหยหาอดีตนั้นกลายเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง แต่ในทางจิตวิตยาก็มีคำแนะนำเอาไว้สำหรับคนที่อยากปลดเปลื้องความทุกข์ใจเพราะความคิดถึง ดังนี้

1. หาความเชื่อมโยงด้านบวกของอดีตและปัจจุบัน

วลีที่ว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ” อาจเป็นข้อคิดที่ดีที่นำมาปรับใช้ให้จิตใจคลายทุกข์ เพราะเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ แต่เราสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มีความสุขได้โดยมีอดีตเป็นบทเรียน เพื่อย้ำเตือนไม่ให้เราทำผิดซ้ำ และทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อให้มีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

2. ใช้เวลาในปัจจุบันให้คุ้มค่า

เรื่องราวในอดีตสำหรับบางคนเป็นเรื่องที่มีคุณค่า และอดีตก็มักจะส่งผลมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นหากเราโหยหาอดีตหรือรู้สึกผิดกับเรื่องที่ผ่านมา ให้ลองใช้เวลาในปัจจุบันปรับปรุงในเรื่องที่เราเคยพลาดไปให้ดีขึ้น

3. ใช้เวลาในการสร้างประโยชน์ให้สังคม

เป็นวิธีที่สามารถเลือกทำได้ตามความชอบหรือความถนัดของแต่ละคน และการทำประโยชน์ให้สังคมนั้นจะช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นอกจากนี้ยังเป็นตัวช่วยที่ดีที่ทำให้ช่วงเวลาปัจจุบันมีคุณค่า

4. ให้ความใส่ใจคนที่อยู่กับเราในปัจจุบัน

ข้อนี้ถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะหลายคนมักจะรู้สึกผิดที่ไม่เคยทำดีกับคนใกล้ตัว ในขณะที่มีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่พอจากกันไปแล้วก็จะมีความรู้สึกโกรธหรือผิดหวังตามมาเหมือนที่ได้กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นแม้เราจะคิดถึงคนในอดีตที่จากไปมากแค่ไหน แต่อย่าลืมอยู่กับตัวเองและคนรอบข้างในปัจจุบัน ก่อนที่คนปัจจุบันจะกลายเป็นอดีตอีกครั้งในอนาคต

สุดท้ายแล้วในช่วงเวลาสิ้นปีนี้ แม้ยังมีหลายคนที่ใช้เวลาช่วงนี้ไปกับการคิดถึงคนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตที่ทำให้ได้เจอทั้งความสุขและความเศร้า แต่สุดท้ายแล้วชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป เราควรทำใจและเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจอดีต และตั้งใจทำทุกอย่างในปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่แน่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้คุยกับพวกเขาอีกเลย

อ้างอิงข้อมูล : Alljit, iStrong และ คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา