"Twinings” ผู้บุกเบิกให้ “ผู้หญิง-ชนชั้นกลาง” เข้าถึงการดื่มชาได้ง่ายขึ้น

"Twinings” ผู้บุกเบิกให้ “ผู้หญิง-ชนชั้นกลาง” เข้าถึงการดื่มชาได้ง่ายขึ้น

จากเครื่องดื่มที่สงวนเพื่อผู้ชายและชนชั้นสูง สู่วัฒนธรรมการจิบชายามบ่ายแบบฉบับผู้ดีอังกฤษที่เข้าถึงได้ง่าย โดย Thomas Twining

ขึ้นชื่อว่าผู้ดีอังกฤษหนึ่งในวัฒนธรรมที่เห็นจนชินตาแน่นอนว่าหนีไม่พ้น “การจิบชายามบ่าย” ซึ่งมีมาแต่โบราณนับร้อยปี โดยมียี่ห้อชาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่าง “Twinings” หรือ ทไวนิงส์ ที่มาจากชื่อของ โทมัส ทไวนิงส์ (Thomas Twining) เจ้าของร้านชาชาวอังกฤษในกรุงลอนดอน ผู้ที่เนรมิตให้การดื่มชาสามารถเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากในอดีตการนำเข้าใบชามีภาษีสูงทำให้คนที่จะเข้าไปดื่มชาในร้านได้นั้นมีเพียงชนชั้นสูง และร้านชาหรือร้านกาแฟก็เป็นพื้นที่สำหรับผู้ชายเท่านั้น

Twinings ถือว่าเป็นยี่ห้อชาสัญชาติอังกฤษแท้ ก่อตั้งโดย โทมัส ทไวนิงส์ ในปี ค.ศ. 1706 ซึ่งในปัจจุบันขยายตัวจากสาขาแรกในกรุงลอนไปแล้วกว่า 100 สาขา ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย และมีการนำเข้าใบชาจากไร่ชาทั่วโลก เช่น อินเดีย เคนยา ศรีลังกา เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน หรืออินโดนีเซีย เพื่อความหลากหลายทั้งรสชาติแบบคลาสสิกและชาสมุนไพร รวมถึงเป็นยี่ห้อชาที่เป็นผู้ผลิตชาสัญชาติอังกฤษอย่างเป็นทางการ เนื่องจากได้รับการการันตีรสชาติและคุณภาพโดยจักรวรรดิอังกฤษ (British Empire)

  • “โทมัส ทไวนิงส์” เด็กหนุ่มบ้านใกล้ล้มละลาย สู่เจ้าพ่อค้าชาระดับโลก

แม้ว่าจะผ่านมากว่า 300 ปี แต่ชื่อยี่ห้อชาอันเป็นเอกลักษณ์ของเกาะอังกฤษยังคงยืดหยัดอยู่ต่อสู้กับตลาดมาได้อย่างยาวนานแม้จะมียี่ห้อชารุ่นน้องเกิดขึ้นมามากมาย โดย โทมัส ผู้ที่สร้างยี่ห้อชาสุดโด่งดังนี้ขึ้นมานั้นเมื่อย้อนไปเมื่อ ค.ศ. 1864 ครอบครัวของเขากำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในอังกฤษ ทำให้เขาผู้มีหน้าที่ช่วยพ่อในการทอผ้าขาย ตัดสินใจเดินทางเข้ามาในกรุงลอนดอนเพื่อหารายได้ พร้อมด้วยความเชื่อว่าการค้าขายอาจจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้

หลังจากนั้นโทมัสในวัย 26 ปี ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่โดยจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ด้วยการเริ่มกิจการขนส่งชาทางเรือของ East India Company เป็นการขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั่วโลก ซึ่งมี “ใบชา” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญของการขนส่ง หลังจากนั้นในปี 1706 เขาตัดสินใจซื้อร้านกาแฟบนถนนสแตรนด์ในกรุงลอนดอนที่ชื่อร้าน Tom’s Coffee House (ทอมส์ คอฟฟี่ เฮ้าส์) และเริ่มต้นธุรกิจค้าใบชาและกาแฟในนาม “Twinings”

  • เมื่อใบชาถูกออกแบบให้ใครก็เข้าถึงได้

เนื่องจากราชินีชาวโปรตุเกสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แคทเธอรีน (Catherine) ได้เผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มชาจนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และมอบ “ใบสำคัญแสดงสิทธิสำหรับชา” ให้ Twinings ทำให้การดื่มชาได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ร้านชา หรือ ร้านกาแฟ ในอังกฤษสมัยโบราณถือเป็นที่รวมตัวของสุภาพบุรุษที่จะมาดื่มชาหรือกาแฟและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวบ้านเมืองหรือความรู้ต่างๆ ส่วนผู้หญิงยังคงเป็นแม่บ้านและจิบชาในช่วงบ่ายเพื่อการผ่อนคลาย รวมถึงภาษีนำเข้าใบชาแต่ละชนิดมีราคาสูง การดื่มชาอาจจะเป็นอะไรที่ดูเกินเอื้อมของชนชั้นกลางลงไป

แต่โทมัสสามารถทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มราคาจับต้องได้ โดยการขาย “ใบชาแบบแห้ง” ควบคู่ไปกับเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูป และวิธีนี้ก็ประสบความสำเร็จเมื่อใบชาแบบแห้งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากลูกค้าสามารถซื้อไปชงดื่มเองที่บ้านได้ด้วยราคาที่เป็นมิตร และยังมีผู้หญิงเข้าไปจับจ่ายในร้านมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จสุดขีด และในปี 1717 โทมัสสามารถขยายร้านขึ้นเป็นบ้านติดกันสามหลัง

  • ชาอังกฤษในอายุกว่า 300 ปี และความสัมพันธ์กับราชวงศ์

หลังจากประสบความสำเร็จในอังกฤษอย่างถล่มทลายแล้ว ในที่สุดเขาได้ขายชา Twinings ให้กับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการขายไปยังต่างประเทศครั้งแรกและเป็นตลาดใหญ่ ใน ค.ศ. 1749 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเขาจึงส่งชาไปอีกหลายประเทศ

อีกเหตุผลหนึ่งที่ถือว่า Twninings เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวอังกฤษเนื่องจาก เป็นเพียงชายี่ห้อเดียวที่ได้รับเกียรติในการส่งผลิตภัณฑ์ให้พระมหากษัตริย์อังกฤษทุกพระองค์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้ Twinings มีใบชามากกว่า 500 สายพันธุ์ และขยายสาขาออกไปใน 117 สาขา ในหลายประเทศทั่วโลก โดยใบชาที่ได้รับความนิยมมายาต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเมื่อพูดถึงการจิบชา Twinings จะต้องสั่ง ได้แก่ เอิร์ล เกรย์, อิงลิชเบรกฟาสต์, ดาร์จีลิง และ ไวลด์ เบอร์รี่ เป็นต้น

จากการดื่มชาในรั้วในวังและชนชั้นสูงจากอังกฤษ กลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาที่แพร่หลายในสังคมอังกฤษที่เข้าถึงได้ในทุกเพศและชนชั้น สู่การเปิดสาขากว่าร้อยประเทศทั่วโลก สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่แค่เพียงยี่ห้อ Twinings เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แต่โทมัสนั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการส่งออกวัฒนธรรมของผู้ดีอังกฤษไปสู่นานาชาติเช่นเดียวกัน

อ้างอิงข้อมูล : Twinings Moment, Tea Culture และ Marketeer