ส่อง "นาฬิกาหรู" ของที่ระลึก "ฮุน เซน" มอบผู้นำร่วมประชุมอาเซียน

ส่อง "นาฬิกาหรู" ของที่ระลึก "ฮุน เซน" มอบผู้นำร่วมประชุมอาเซียน

ส่องนาฬิกาหรู “Made in Cambodia” ของที่ระลึกสั่งทำพิเศษที่ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพประชุมสุดยอดอาเซียน มอบให้แก่บรรดาผู้นำที่ไปร่วมประชุมในกรุงพนมเปญสัปดาห์นี้ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับเขา ก่อนส่งมอบอำนาจให้ลูกชายคนโต

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้ประกาศล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนและการเจรจาอื่น ๆ ที่จะจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย.ว่า ได้จัดทำนาฬิกาที่ผลิตโดยกัมพูชาจำนวน 25 เรือน ให้แก่ผู้นำที่มาเยือนกัมพูชาเพื่อเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ภาพที่สมเด็จฮุน เซน โพสต์บนเพจเฟซบุ๊กทางการของเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เผยให้เห็นรายละเอียดระยะใกล้ของ นาฬิกาข้อมือรุ่นลิมิเต็ด เอดิชัน ซึ่งประกอบด้วยเข็มนาฬิกาสีทอง ฝาหลังแบบเปลือยเห็นกลไกภายใน และสายหนังสีน้ำตาล พร้อมกับสลักข้อความตรงขอบหน้าปัดว่า “ASEAN Cambodia 2022” และ “Made in Cambodia”

ส่อง "นาฬิกาหรู" ของที่ระลึก "ฮุน เซน" มอบผู้นำร่วมประชุมอาเซียน

ส่อง "นาฬิกาหรู" ของที่ระลึก "ฮุน เซน" มอบผู้นำร่วมประชุมอาเซียน ส่อง "นาฬิกาหรู" ของที่ระลึก "ฮุน เซน" มอบผู้นำร่วมประชุมอาเซียน
- รายละเอียดชัด ๆ ของนาฬิกาหรูรุ่นสั่งทำพิเศษที่ผลิตในกัมพูชา ของที่ระลึกจาก "สมเด็จฮุน เซน" เจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้ (ที่มาภาพ: FB Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister) -

“นาฬิกาเหล่านี้ถูกเตรียมและประกอบโดยช่างนาฬิกาชาวกัมพูชาล้วน ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความพัฒนาของกัมพูชา” ผู้นำกัมพูชาบรรยายในโพสต์

นอกจากนั้น เฟซบุ๊กของนายกฯ ฮุน เซน โพสต์วิดีโอโชว์ให้เห็นว่านาฬิกาข้อมือเรือนนี้สลักคำว่า “ตูร์บิยง” ซึ่งเป็นกลไกนาฬิกาที่มีความละเอียดซับซ้อนและต้องทำด้วยมือ ใช้ทับทิม 25 เม็ด และระบุถึงผู้ผลิตคือ “ปรินซ์ โฮโรโลจี” ซึ่งเป็นชื่อโรงเรียนสอนทำนาฬิกาแห่งแรกของกัมพูชา ครูผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวสวิสที่เปิดทำการเมื่อปี 2562 แต่ไม่มีการเปิดเผยราคาของนาฬิกาข้อมือเรือนนี้

สมเด็จฮุน เซน บอกว่า จะใส่เรือนของตนเองตลอดการประชุมนี้ และใส่ไปG20 และเอเปคด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกฯกัมพูชาไม่ได้เปิดเผยเจตนาเบื้องหลังการให้ของขวัญแก่บรรดาผู้นำประเทศในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน

สมเด็จฮุน เซน ได้ทำงานร่วมกับเหล่าผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนับตั้งแต่กัมพูชาเข้าร่วมอาเซียนในปี 2542

ด้านแหล่งข่าวที่ได้ทำงานกับสมเด็จฮุน เซน ระบุว่า “การเป็นประธานในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปต้องใช้เวลาถึงอีก 10 ปี ดังนั้น ของขวัญชิ้นนี้อาจเป็นของที่ระลึกจากความปรารถนาดีของท่าน”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งจะครองอำนาจครบ 40 ปีในปี 2568 จะถูกจดจำในฐานะหนึ่งในผู้นำที่อายุมากที่สุดและดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 55 ปีของอาเซียน

สมเด็จฮุน เซน ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 70 ปี ขึ้นเป็นผู้นำกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2528 ได้ประกาศส่งมอบอำนาจต่อให้กับพลโทฮุน มาเนต ลูกชายคนโตวัย 45 ปี ผู้ซึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ในสหรัฐ แม้จะไม่ได้ระบุวันที่ส่งมอบอำนาจไว้ก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้นำกัมพูชาถูกวิจารณ์อย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากปรากฏภาพเขาสวมนาฬิกาข้อมือหรูหลายเรือน รวมถึงยี่ห้อปาเต็ก ฟิลิปป์ และริชาร์ด มิลล์ ซึ่งแต่ละเรือนราคามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 37 ล้านบาท ขณะที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังยากจน