"ท้าวมหาพรหม" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

"ท้าวมหาพรหม" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

ครบรอบ 66 ปี การประดิษฐานของ "ท้าวมหาพรหม" ณ โรงแรมเอราวัณ หรือที่คุ้นหูว่า "พระพรหมเอราวัณ" ซึ่งคนไทยและต่างชาตินิยมมาสักการะบูชา สะสมเป็นยอดเงินบริจาคสูงระดับพันล้านบาท "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ" มีวิธีจัดการเงินอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันครบรอบ 66 ปีของการประดิษฐานองค์ท้าวมหาพรหม ณ โรงแรมเอราวัณ หรือที่คุ้นกันในชื่อเรียก "พระพรหมเอราวัณ" ซึ่งในทุกๆ ปีจะมีการจัดพิธีสักการะและพิธีบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่ที่หน้าศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

สำหรับความสำคัญของศาลท้าวมหาพรหมนั้น นอกจากจะเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ของเหล่า “สายมู”​ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่มักมาไหว้ขอพรกันอย่างเนืองแน่นแล้ว เงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งดูแลโดย “มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ" ยังส่งต่อเงินบริจาคเป็นสาธารณกุศลโดยเฉพาะเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขรวมแล้วกว่า 2 พันล้านบาท

\"ท้าวมหาพรหม\" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

เมื่อมีเงิน “จ่ายออก” สูงขนาดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว “เงินรับเข้า” ที่มีผู้บริจาคให้กับมูลนิธิฯ นั้น มีมากขนาดไหน?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีเฉลยมาให้ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม พบว่า หากนับรวมยอดบริจาคสะสมตั้งแต่ปี 2536-2564 พบว่า มูลนิธิฯ ได้รับเงินบริจาคสะสมรวมทั้งสิ้น 1,085 ล้านบาท

แล้วจุดเริ่มต้นการก่อตั้ง “มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ" มีที่มาและหลักการดำเนินงานอย่างไร แล้วนำเงินมหาศาลนี้ไปใช้จ่ายเรื่องใดบ้าง !?

ที่นี่มีคำตอบ..

  • 9 พฤศจิกายน 2499 วันประดิษฐาน “พระพรหมเอราวัณ”

สำหรับประวัติความเป็นมาของ “ศาลท่านท้าวมหาพรหม” หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะของเหล่า “สายมู” ทั้งคนไทยและชาวต่างชาตินั้น ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยการก่อสร้าง “โรงแรมเอราวัณ” ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2499 ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ และ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ได้แนะนำว่า เนื่องจากฤกษ์การวางศิลาฤกษ์ที่ได้กระทำไว้ไม่ถูกต้อง จะต้องแก้ไขโดยการขอพรจากพระพรหม

แนวคิดการสร้างศาลท่านท้าวมหาพรหมและศาลพระภูมิจึงเริ่มต้นขึ้นโดยพลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง

\"ท้าวมหาพรหม\" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

บรรยากาศพิธีสักการะ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ เนื่องในวันครบรอบ 65 ปี  (9 พ.ย.64)

สำหรับองค์พระพรหม ได้นายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและปั้นพระรูปตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ขณะที่นายเจือระวี ชมเสวี และหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาล

ทั้งนี้ศาลท่านท้าวมหาพรหมได้สร้างเสร็จ และนำมาประดิษฐานที่โรงแรมเอราวัณ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2499 โรงแรมเอราวัณจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา

\"ท้าวมหาพรหม\" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

  • จุดเริ่มต้นสู่การเป็น “มูลนิธิ”

ในเวลาต่อมา เมื่อเทวสถานท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ เป็นที่รู้จักและเคารพสักการะของประชาชนทั่วไป และมีการบริจาคเงินไว้เพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมและทำนุบำรุง โดยได้นำฝากธนาคารแยกบัญชีไว้โดยเฉพาะ ปรากฏว่ามีเงินเหลือจากการบูรณะซ่อมแซมอยู่เป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ. 2512 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มอบเงินนี้แก่โรงพยาบาลและสถานสาธารณกุศลต่าง ๆ โดยใช้ชื่อทุนที่มอบนี้ว่า "ทุนพรหมวิหารโรงแรมเอราวัณ" โดยได้ดำเนินการเป็นครั้งคราวตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512

  • ผู้บริจาคสามารถตั้ง “กองทุน” ของตัวเองไว้กับมูลนิธิฯได้

เกี่ยวกับระบบรับบริจาคเงินของมูลนิธิพระพรหมเอราวัณนั้น เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ คือ นอกจากการบริจาคเงินแบบทั่วไปแล้ว เรายังสามารถตั้ง “กองทุน” ในนามตัวเอง หรือใส่ชื่อที่ต้องการตั้งได้ โดยในการเปิดกองทุนครั้งแรก กำหนดเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท และต่อไปถ้าต้องการเพิ่มเติมจะ เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้

วิธีจัดการเม็ดเงินในกองทุนชื่อของเรานั้น หลักการก็คือ ทางมูลนิธิฯ จะนำเงินเฉพาะ “ดอกผล” ของเงินทุน ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเท่านั้น หรือยกเว้นถ้าเราอนุญาตให้มูลนิธิฯ จ่ายเงินของเราได้เต็มจำนวนโดยไม่ต้องใช้แค่ดอกผลก็สามารถระบุไว้ให้ชัดเจนได้เช่นกัน

\"ท้าวมหาพรหม\" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

หากนับย้อนตั้งแต่ปีแรกของการเปิดให้ตั้งกองทุนได้ คือ ปี 2536 จนถึงปี 2564 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการสรุปยอดบริจาค คือ 2564 นั้น มีผู้บริจาคโดยตั้งกองทุนไว้ในมูลนิธิ ฯ ทั้งสิ้น 1,026 ราย รวมเงินบริจาคสะสมที่ 1,085 ล้านบาท

ขณะที่ ยอดการนำเงินออกไปบริจาคแก่สาธารณประโยชน์ นับตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2512 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (รวม 54 ปี) พบว่า มูลนิธิฯ​ บริจาคออกไปทั้งสิ้น 2,469 ล้านบาท

\"ท้าวมหาพรหม\" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

โดยปีล่าสุด พ.ศ. 2564 มูลนิธิฯ ได้มอบเครื่องมือแพทย์ให้หน่วยงาน และโรงพยาบาลต่างๆ รวม 112 แห่ง มูลค่ากว่า 96 ล้านบาท และมอบเครื่องช่วยหายใจให้หน่วยงานและโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 รวม 377 เครื่อง มูลค่าทั้งสิ้น 55 ล้านบาท

จากหลักการข้างต้น จะเห็นว่า มูลนิธิฯ ใช้จ่ายเงินกองทุนฯ บริจาคต่อยังโรงพยาบาล หรือ สาธารณกุศลต่างๆ โดยนำออกไปเพียง “ดอกผล” ของเงินทุนเท่านั้น (ยกเว้นผู้ตั้งกองทุนอนุญาตให้ใช้เงินทุนได้) นั่นเท่ากับว่า เงินต้นไม่ได้หายไปไหน และยอดเงินบริจาคมีแต่สมทบมากขึ้นเรื่อยๆ และในปีถัดๆ ไป ก็จะมีดอกผลในการบริจาคเงินมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง

\"ท้าวมหาพรหม\" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?

[Note] นอกจากเงินบริจาคทั้งที่เปิดเป็นกองทุน และที่หยอดในตู้รับบริจาคแล้ว มูลนิธิฯ ยังมีอีกหนึ่งรายรับ นั่นคือ “ค่าบำรุงสถานที่” ซึ่งได้มีการกำหนดเรตราคาแตกต่างกัน อาทิ

- การรำแก้บน (ด้วยตนเอง) คนละ 500 บาท
- การขอแสดงสิงโต (ไม่เกิน 20 คน) ครั้งละ 1,000 บาท
- การขอวางถวายช้าง (เฉพาะช้างไม้เท่านั้น) เสียค่าวางตั้งแต่ 500 - 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสูง (ห้ามเกิน 40 นิ้ว) เป็นต้น