ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022

นิสิตนักศึกษา 13 สถาบัน 3 ทายาทผ้าขาวม้าไทย แบ่งปันประสบการณ์ลงพื้นที่สัมผัสเรื่องจริงชุมชนคนทอผ้าขาวม้า ในกิจกรรม CYD ทำอย่างไรให้เสียงกี่ทอผ้าขาวม้าชุมชนดังต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ เกิดการส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทอ “ผ้าขาวม้า” จากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน

ตัวแทนนิสิตนักศึกษา 13 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมกิจกรรม Creative Young Designers (CYD) และ 3 ทายาทผ้าขาวม้าไทย ร่วมกันทำกิจกรรมพิเศษ “ยังอยากเล่า :  CYD AAR (AFTER ACTION REVIEW) และทายาทผ้าขาวม้าไทย” พูดคุยเรื่องการผลักดัน ผ้าขาวม้า สู่อนาคตด้วยความยั่งยืน ผ่านเวที Youth Stage เมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2565 ภายในงาน Sustainability Expo 2022 (SX 2022) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน -2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กิจกรรม Creative Young Designers เป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย โดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และ โครงการ eisa (Education Institute Support Activity) โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อ พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ และ ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษา ในการเรียนรู้เกี่ยวกับ "ผ้าขาวม้าทอมือ" ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตร่วมกันระหว่างชุมชนผู้ทอผ้าที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ แต่ยังขาดการสนับสนุนเรื่องของไอเดียและนวัตกรรมใหม่ 

รวมถึงเป็นการต่อยอดให้นักศึกษาได้มีโอกาสเปิดมุมมอง และสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ การแปรรูปให้กับ ชุมชนผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 กิจกรรมพิเศษ “ยังอยากเล่า :  CYD AAR (After Action Review) และทายาทผ้าขาวม้าไทย”

3 ทายาทผ้าขาวม้าไทย ที่มีการทำงานร่วมกับนักศึกษาในกิจกรรม CYD ซึ่งร่วมพูดคุยครั้งนี้ ได้แก่ 

  • "แยม" สุพัตรา แสงกองมี ทายาทผ้าขาวม้า กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ผลิตผ้าขาวม้าทอมือย้อมสีธรรมชาติหมักโคลนแม่น้ำโขง
  • "อาร์ม" อิฐธิพงษ์ ทิพราชา ทายาทผ้าขาวม้า กลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ทอผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติ ใช้เทคนิคพื้นถิ่นและการวางโทนสีที่แปลกกว่าผ้าขาวม้าทั่วไปเล็กน้อย
  • "ปลื้ม" ผกาวดี แก้วชมภู ทายาทผ้าขาวม้า กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย  อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ผ้าขาวม้าทอมือมีเอกลักษณ์เรื่องการทำสี ออกแบบลวดลายเอง สีสันมีความสดใส ทันสมัย

นิสิตนักศึกษาทั้ง 13 สถาบันมีการทำงานทั้งลงพื้นที่จริงไปในชุมชนและสื่อสารออนไลน์กับชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเรียนรู้ เก็บข้อมูล ศึกษาวัฒนธรรมการทอผ้าและความต้องการของชุมชน 

พบว่า บางชุมชนก็ต้องการความช่วยเหลือในเรื่อง การออกแบบผ้าขาวม้าให้เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งในแบบ commercial wear และ creative wear รวมทั้ง พัฒนาลายผ้าขาวม้า ขณะที่บางชุมชนก็สนใจในเรื่องพัฒนาเรื่อง การตลาดออนไลน์

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 นิสิตจากชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เล่าการทำงาน

หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ร่วมพัฒนาการตลาดออนไลน์ให้กับกลุ่มกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผู้ทอผ้าขาวม้าในกิจกรรม CYD คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนิสิตจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งทำกิจกรรมในนาม ชุมนุม SIFE (Student In Free Enterprise) ไม่ใช่วิชาเรียนที่มีหน่วยกิต แต่เป็นการเข้าร่วมกิจกรรม CYD ในลักษณะ "จิตอาสา"

“พวกเราทำในนามชุมนุม SIFE (ไซฟ์) ดำเนินงานโดยนิสิตจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปร่วมพัฒนาธุรกิจกับชุมชน รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาด นำสินค้าชุมชนออกสู่โลกข้างนอกชุมชนได้มากยิ่งขึ้น 

จุดมุ่งหมายชุมนุมเราไม่ใช่เข้าไปอาทิตย์สองอาทิตย์ เดือนสองเดือน ออกมาแล้วเขาทำต่อไม่ได้ หลังจากที่เราออกมาแล้ว ทางชุมชนก็ยังต้องดำเนินธุรกิจหรือทำกิจกรรมได้ต่อไปด้วย เป็นการเชื่อมชุมนุมของเราเข้ากับชุมชน เข้ากับผ้าที่มีเอกลักษณ์อยู่แล้ว สร้าง awareness (การรับรู้) และคุณค่าของผ้าขาวม้า 

ปีนี้เรามีโครงการร่วมกับ ‘ผ้าขาวม้าทอใจ’ ทำให้เรามีเป้าหมายเพิ่มจากธุรกิจ คือเป้าหมายในการสร้าง awareness และการเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมต่อผ้าขาวม้าไทย 

หลายครั้งเราอาจจะมองว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าของผู้สูงอายุหรือเปล่า หรือผ้าของชนบทหรือเปล่า แต่ถ้าเราเข้ามาในงาน Sustainability Expo 2022 มองไปรอบๆ เราจะเห็นผลงานผ้าขาวม้าหลายอย่าง ทำให้เราตระหนักได้ว่า ผ้าขาวม้าไม่ใช่เหมือนเป็นวัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง แต่ความจริงแล้วสามารถส่งต่อคุณค่าและเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้” ตัวแทนนิสิตชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวบนเวที Youth Stage

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022

ผลงานจากนิสิตคณะศิลปกรรมฯ จุฬา, ชุมนุม SIFE, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน

นิสิตในชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ทำงานร่วมกับ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าขาวม้า บ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา และยังประสานการทำงานร่วมกับนิสิตจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในส่วนของการออกแบบเครื่องแต่งกายจากผ้าขาวม้าให้กับแม่บ้านทอผ้าขาวม้ากลุ่มนี้ 

ประสบการณ์น่าสนใจที่นิสิตนักศึกษาได้รับจากกิจกรรม “CYD ผ้าขาวม้า” อีกอย่างหนึ่งคือ การได้ทำงานร่วมกันระหว่างนิสิต 2 คณะที่มี “วิธีคิดต่างกัน” ในภารกิจเดียวกัน

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 ผลงานจากนิสิตคณะศิลปกรรมฯ จุฬา, ชุมนุม SIFE, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน

“พี่ๆ ศิลปกรรม (คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) ก็อาสาเข้ามาเหมือนกัน ถึงมาจากคนละคณะ มี mindset (กรอบความคิดที่เชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) และ value (การประเมินค่า) ในการทำงานต่างกัน

แต่สิ่งที่เรามีร่วมกันคือ เราอาสามา เรามีความตั้งใจส่งผ่านคุณค่าในชุมชนเพื่อช่วยเหลือชุมชนจริงๆ การทำงานยึดหลักผลประโยชน์ชุมชนมากที่สุด และสร้างการรับรู้ให้ผ้าขาวม้า

คาแรคเตอร์หนึ่งที่สำคัญในการทำงานกับคนที่มี value ต่างกัน หรือภูมิหลังต่างกัน คือการให้เกียรติและยอมรับวิธีการทำงานที่ต่างกัน สุดท้ายไม่ว่าความต่างของเราจะเปป็นอย่างไร ด้วยการมีวัตถุประสงค์เดียวกัน ทำให้เราทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น” ตัวแทนนิสิตชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าว

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 ความสำเร็จกิจกรรม Creative Young Designers (CYD)

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 ความสำเร็จกิจกรรม Creative Young Designers (CYD)

อีกหนึ่งตัวอย่างของการประสานการทำงานต่างคณะกัน ยังเกิดขึ้นระหว่างนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่รับผิดชอบพัฒนาด้านการตลาดและการขายให้กับ “เทวาผ้าไทย” กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู 

โดยทำงานร่วมกับนักศึกษา สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ดูแลให้ข้อเสนอแนะพัฒนารูปแบบเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าขาวม้า

นักศึกษาตัวแทนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นในส่วนการทำงานระหว่างคณะว่า โดยปกติในห้องเรียนมีแต่เพื่อนการตลาด ทำงานกลุ่มก็เจอแต่สายการตลาด แต่พอได้ลงพื้นที่ร่วมกับนักศึกษาจากคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เกิดการ “ตีไอเดีย” ระหว่างกัน โดยมีคนกลางเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความคิดที่ต่างกัน คิดว่าสิ่งนี้คงเป็นสถานการณ์จริงที่จะเกิดในอนาคต จึงถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 (จากซ้าย) แยม-สุพัตรา, อาร์ม-อิฐธิพงษ์ และ ปลื้ม-ผกาวดี

ขณะที่ “3 ทายาทผ้าขาวม้าไทย” ต่างก็แสดงความชื่นชมน้องๆ นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม CYD ที่ตั้งใจทำงานเพื่อ “ผ้าขาวม้า” และ “ชุมชนทอผ้าขาวม้า” กันอย่างเต็มความสามารถ

"แยม" สุพัตรา แสงกองมี ผู้สร้างแบรนด์ “ดารานาคี” ให้กับผ้าขาวม้าของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ อ.เมือง จ.บึงกาฬ กล่าวว่า

“ดารานาคี ทำงานร่วมกับ นักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อย่างแรกคือสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของน้องๆ ที่อยากเข้ามาช่วยชุมชนจริงๆ 

ในการออกแบบ น้องๆ ให้ความสำคัญไปถึงความเชื่อและผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่มาที่ไปของการที่เรานำโคลนแม่น้ำโขงมาใช้  นำความต้องการและปัญหาของชุมชนไปทำการบ้าน ว่าจะช่วยเราแก้ปัญหาอย่างไร

การทำงานกับผู้ประกอบการผ้าขาวม้าไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ในการออกแบบ น้องๆ ให้ความสำคัญไปถึงชุดที่น้องๆ ออกแบบ ชาวบ้านจะนำแบบไปต่อยอดได้อย่างไรอีกด้วย เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากๆ ที่ได้ทำงานร่วมกัน”

"ปลื้ม" ผกาวดี แก้วชมภู ทายาทผ้าขาวม้า กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย  อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ผู้สร้างแบรนด์ Natrada Cotton ให้กับกลุ่มทอผ้าฯ ให้ความเห็นว่า
“น้องนักศึกษาธรรมศาสตร์และอาจารย์ ทำการบ้านเกี่ยวกับโปรดักต์ของเราได้ดี ว่าเราอยากพัฒนาไปในทิศทางใด เมื่อก่อนผ้าขาวม้าเรามีมุมมองว่าใส่แค่ในราชการหรือเปล่า เชยหรือเปล่า 

แต่ในมุมมองของปลื้ม อยากให้ทุกคนมองเห็นว่าผ้าขาวม้ามีคุณค่าและมีเอกลักษณ์ อยากให้ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าวัยไหน ผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ใส่ได้ 

หลังจากร่วมงานกันแล้ว อาจารย์กับน้องนักศึกษาได้ลงพื้นที่ รู้สึกว่าทำการบ้านออกมาได้ดี ตอบโจทย์การต่อยอดไปในอนาคต มีความใส่ใจในการเลือกวัตถุดิบ เลือกลายผ้า เทรนด์สีผ้า ดีไซน์ออกมาได้ดี ใช้ได้จริง ชอบทุกแบบที่น้องๆ ทำกันออกมา ใส่ได้หลายโอกาส ไม่มีความเชย ใส่ได้จริงแล้ว ซึ่งลูกค้าของกลุ่มฯ ก็มีหลายคาแรคเตอร์ ข้าราชการ วัยรุ่น ดีไซเนอร์ เป็นการพัฒนาโพรดักต์”

"อาร์ม" อิฐธิพงษ์ ทิพราชา ทายาทผ้าขาวม้า กลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ให้ความเห็นถึงการทำงานพัฒนาผ้าขาวม้าร่วมกับนักศึกษาในกิจกรรม CYD ว่า

“อาร์มทำงานร่วมกับธรรมศาสตร์ น้องๆ ได้เห็นและเข้าใจกระบวนการทอผ้าจริงๆ เราจะพยายามไม่เปลี่ยนอัตลักษณ์ชุมชน แต่เราจะอยู่กับชุมชนให้กลมเกลียวกัน และผสมผสานเป็นสิ่งใหม่ เราจะไม่เปลี่ยนชุมชนว่าต้องทำแบบนี้แบบนั้น แต่เราจะหาเส้นตรงกลางให้อยู่กันให้ได้”

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 ผลงานนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกลุ่มทอผ้าขาวม้า บ้านห้วยทราย

นิสิตนักศึกษาจำนวน 13 สถาบันที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อ “ยังอยากเล่า : CYD AAR (AFTER ACTION REVIEW) และทายาทผ้าขาวม้าไทย” ครั้งนี้ ประกอบด้วย

  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • จุฬาฯ (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะศิลปกรรมศาสตร์)
  • มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านล่องมุด จ.สงขลา
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานร่วมกับ กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย จ.เชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำงานกับสโมสรฟุตบอลนครปฐม
  • วิทยาลัยการออกแบบ สาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมออกแบบกับศูนย์หัตถกรรมบ้านเขาเต่า และสโมสรฟุตบอลพีที ประจวบ
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทำงานกับชุมชนบ้านเสารีก อำนาจเจริญ ในส่วนวางแผนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ทำงานกับ ชุมชนบ้านเสารีก ช่วยพัฒนาออกแบบรูปแบบเครื่องแต่งกาย
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 ผ้าขาวม้าศูนย์หัตถกรรมบ้านเขาเต่า กับสโมสรฟุตบอลพีที ประจวบ

สำหรับนักศึกษาที่ทำงานพัฒนาผ้าขาวม้าชุมชนผ่าน สโมสรฟุตบอล ให้ความเห็นว่า เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผ้าขาวม้าชุมชนเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นผ่าน “แฟนบอล” ของแต่ละสโมสรฯ โดยการสอดแทรกลายผ้าขาวม้าท้องถิ่นลงบนเสื้อผ้าแนวสปอร์ตแวร์ของสโมสรฯ ทั้งยังมีดารานักฟุตบอลของแต่ละสโมสรที่แฟนบอลรักและชื่นชมเป็นเสมือนพรีเซนเตอร์อีกด้วย

ที่สำคัญในการทำเสื้อผ้าแนวสปอร์ตแวร์ให้กับสโมสรฟุตบอล การเลือกสีและลวดลายผ้าขาวม้าควรออกแบบให้มีความสัมพันธ์กับสโมสรฯ และนำรสนิยมของแฟนบอลมาพิจารณาร่วมด้วย

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 เดินหน้ากิจกรรม Creative Young Designers

นักศึกษาทั้ง 13 สถาบัน แสดงความคิดเห็นถึงทิศทางการทำงานพัฒนา “ผ้าขาวม้า” เพื่อความยั่งยืนของชุมชนทอผ้าขาวม้าผ่านกิจกรรม Creative Young Designers (CYD) ว่า ไม่ใช่แค่การนำสินค้าออกไปสู่ตลาด แต่สินค้าตัวนี้จะนำเสนอความเป็นชุมชนออกไปอย่างไรด้วย และอยากให้ผู้บริโภคซื้อผ้าขาวม้าด้วยการเห็นคุณค่าความเป็นมาของผ้า 

การจะสื่อสารความต้องการเหล่านั้นออกไปได้ ก่อนอื่นจึงต้องทำความเข้าใจชุมชน คุณค่าสำคัญของชุมชนว่าต้องการสื่ออะไรออกไป 

อีกปัจจัยที่ต้องทำความเข้าใจคือกลุ่มลูกค้าที่เราจะเข้าไปนำเสนอสินค้า เช่น กลุ่มวัยรุ่น ต้องพยายามทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้มองว่าผ้าขาวม้าเป็นอะไรที่เก่าๆ แต่ต้องให้เขาภูมิใจที่จะใช้หรือสวมใส่ นั่นคือการทำให้เห็นคุณค่าวัฒนธรรมของไทยเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และหาช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มลุกต้า

ผ้าขาวม้า การส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงาน Sustainability Expo 2022 ตัวแทนนิสิตชุมนุม SIFE 

“คำว่าการตลาด ไม่ใช่แค่สินค้าชิ้นนี้ออกแบบมาได้อย่างโดดเด่น เอาไปชายได้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นสินค้าขายดีขนาดไหน แต่มันคือการสร้าง awareness 

การตีความคำว่าการตลาดของเราเมื่อนำมาบาลานซ์กับศิลปะ จึงเป็นการตลาดที่ไม่ใช่เพื่อสินค้าโดยตรง แต่เป็นการตลาดที่ปรับภาพลักษณ์และทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาเป็นภาพใหม่ เหมือนกับว่าปรับทัศนคติเพื่ออนาคตด้วย เห็นคุณค่าของผ้าขาวม้ามากกว่าเดิม” ตัวแทนนิสิตชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าว

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด และยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป

สร้างให้เกิดการส่งต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน

credit photo : เฟซบุ๊ก ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย